ปี 2560 คนในวงการโทรทัศน์จะเอาตัวรอดได้อย่างไร
...ปัญหาอยู่ที่ กสทช. ทำให้เกิด Over Supply การแก้ปัญหาจะต้องเพิ่ม Demand หรือไม่ก็ต้องตัด Supply ส่วนเกิน งานนี้เห็นชัดๆอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยอีก 2 ปี ไม่สามารถเพิ่ม Demand ได้...
ใครๆก็บอกว่า ปีนี้ (2559) เศรษฐกิจแย่ และปีหน้า (2560) เศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีนี้อีก ทุกคนจึงต้องเตรียมตัวตั้งรับให้ดี โดยเฉพาะ กลุ่มผู้ประกอบกิจการในวงการโทรทัศน์ของประเทศไทย ทั้งกลุ่มโครงข่าย (PlatForm) และกลุ่มช่องรายการ (Content) สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ แทบทุกรายมีความมั่นใจว่า จากนี้ไป จะไม่สามารถหารายได้จากการหาสมาชิกเพิ่มเติมได้ และ จะไม่สามารถหารายได้ค่าโฆษณาจาก Agency เพิ่มขึ้นได้แน่ เพราะ เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะขาลง ทั้งเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ และปัจจัยภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยความไม่แน่นอนภายใน ที่ใครๆก็รู้กันอยู่
ลดต้นทุน
สิ่งที่ผู้ประกอบกิจการกำลังทำคือ การลดต้นทุน โดยใช้หลัก รายได้หามาได้เท่าไร จะจ่ายออกไปเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดไหลไม่หยุด (เพราะเลือดจะไหลอีกนาน) ในขณะที่ในอดีต ใครๆก็มองว่า หากทำรายการดีๆ มีคนดูมากๆ Rating จะขึ้น รายได้จากการโฆษณาก็จะเพิ่มขึ้นมาทันรายจ่าย และเมื่อรายได้แซงรายจ่าย ผลกำไรก็จะเกิดขึ้นมาเอง ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า แนวคิดนี้ ไม่เป็นความจริง
ปลดพนักงาน
หากตามไปคุยกับผู้ประกอบกิจการหลายๆรายจะพบว่า ฝ่ายบริหารแทบทุกบริษัท จะใช้นโยบายรัดเข็มขัด โดยจะตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยออก จากนั้นจะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด จากนั้นก็จะตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่เพิ่มรายได้ออก ช่วงนี้กำลังตัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกำลังคนแบบสมัครใจ หากทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ผล รายจ่ายยังลดไม่ทันรายได้ สิ้นปี 2559 นี้ จะได้เห็นการปลด หรือการลดพนักงานในวงการโทรทัศน์ครั้งสำคัญ เพราะจะเป็นการตัดอวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต
Over Supply
ปัญหาต่างๆที่กำลังเกิดขึ้น คงต้องยอมรับกันว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากนโยบายของ กสทช. ที่จะเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อก ไปสู่ระบบดิจิตอล เร็วเกินไป จนเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด (Over Supply) ใน 2 กลุ่มคือ
1) กลุ่มช่องรายการ (Content) เพราะ ช่องรายการฟรีทีวี เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป จาก 4 ช่อง (3,5,7,9) เป็น 24 ช่อง (ทีวีดิจิตอลทางธุรกิจ) ทำให้มีช่องที่หารายได้จากการโฆษณา เพิ่มขึ้นมากเกินไป และช่อง 3,7 ยังรักษาเม็ดเงินโฆษณาส่วนใหญ่ไว้ได้ การแบ่งเม็ดเงินค่าโฆษณาที่เหลือจาก Agency จึงไม่ลงตัว แถมค่าโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ยังเสียไปให้กลุ่มสื่อแนวใหม่ผ่านกลุ่มโทรคมนาคมอีกด้วย
2) กลุ่มโครงข่าย (PlatForm หรือ Operator) เพราะ กสทช. มีนโยบายแจกกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 จำนวน 22.9 ล้านกล่อง แจกไปแล้ว 13.5 ล้านกล่อง ประชาชนเอาคูปองมาแลกเพียง 8 ล้านกล่อง และน่าจะเอามาใช้ดูทีวีดิจิตจริงๆเพียง 5 ล้านกล่อง กองอยู่หลังทีวีให้ฝุ่นจับ รวมทั้งแปลงการเป็นพัดลม เตารีด เครื่องใช้ไฟฟ้าและกล่อง DVB-S อีก 3 ล้านกล่อง นั้นแสดงให้เห็นว่า ความต้องการใช้กล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 มีไม่มาก ถึงแจกฟรีก็ไม่เอา ได้ข่าวว่า กสทช. จะแจกอีก 9 ล้านกล่อง เพื่อให้ครบ 22.9 ล้านกล่อง งานนี้ใครไม่อยากได้ ไม่เป็นไร กสทช. อยากแจกให้ครบ เมื่อได้แล้วประชาชนจะเอาไปทำอะไร ตามใจ เพราะเป้าหมายของการแจกคือ แจกให้ครบ ไม่ได้ต้องการให้เอาไปใช้จริงๆ ที่ Over Supply อยู่แล้ว ก็จะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ รอบที่แล้วราคารับซื้อกล่อง DVB-T2 นอกตลาด จาก 690 บาท/กล่อง เหลือ 300- 350 บาท/กล่อง หากแจกรอบนี้อีก ราคารับซื้อนอกตลาด น่าจะเหลือ 200-250 บาท/กล่อง เพื่อเอาไปขายต่อประเทศเพื่อนบ้าน เพราะได้ กสทช. เป็น Sponsor รายใหญ่ให้การสนับสนุน
กสทช. ทำเองกับมือ
ปัญหาจาก 2 เรื่องนี้ในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับคนในวงการโทรทัศน์อย่างมากมาย และยังไม่เห็นแนวทางที่ กสทช. จะแก้ไขได้ ทั้งๆที่ทุกอย่าง กสทช. เป็นคนวางแผนเอง คิดเอง ออกกฎเอง สั่งการเอง ตัดสินเอง และสั่งลงโทษเอง ทุกอย่างมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เหลือเพียงอย่างเดียว ยังสั่งศาลไม่ให้ลงโทษตนเองไม่ได้เท่านั้น
แก้ปัญหาไม่ถูกจุด
เท่าที่เห็นความพยายามในการจะแก้ปัญหาในเวลานี้คือ จะแจกกล่องทีวีดิจิตอล DVB-T2 รอบ 2 เพิ่มเติม และจะขยายเวลาการจ่ายเงินค่าประมูลช่องออกไปอีก 3 ปี หาก กสทช. ทำ 2 เรื่องนี้สำเร็จ จะทำให้วงการโทรทัศน์ไทย เจ็บหนักไปกว่าเดิม มีความทรมาณมากกว่าเดิม ยาวนานกว่าเดิม แต่สุดท้ายก็จะตายอยู่ดี เพียงแต่จะไม่ตายเพียงบางราย แต่จะพากันไปตายแบบยกพวง เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่การยืดเวลา
กสทช. ต้องตัด Supply
ปัญหาอยู่ที่ กสทช. ทำให้เกิด Over Supply การแก้ปัญหาจะต้องเพิ่ม Demand หรือไม่ก็ต้องตัด Supply ส่วนเกิน งานนี้เห็นชัดๆอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยอีก 2 ปี ไม่สามารถเพิ่ม Demand ได้ ดังนั้นสิ่งที่ กสทช. จะทำได้คือ ตัด Supply ด้วยการยอมให้ช่องรายการทีวีดิจิตอลที่ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ปิดกิจการโดยไม่ตามไปเช็คบิลเขาต่อ เหมือนกับ กสทช. ตามไปเช็คบิล เจ้ติ๋ม ทีวีพูล ทั้งๆที่เขายอมปิดตัวเอง เพื่อลด Supply ให้แล้ว ยังจะตามไปเช็คบิลเขาอีก และ กสทช. จะต้องไม่แจกกล่อง DVB-T2 เพิ่มขึ้นอีก เพราะคนที่อยากได้สามารถไปหาซื้อเองได้ เพื่อตัด Supply ของฟรี ไม่ให้ไปทำลายกลุ่มจานดาวเทียม และเคเบิลท้องถิ่นเพิ่มเติมอีก
กสทช. กำลังซื้อเวลา
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ ต้องเชื่อว่า กสทช. ท่านทราบว่าปัญหาเกิดจากอะไร และควรแก้ไขอย่างไร แต่ท่านไม่เอาอะไรเลย ท่านจะซื้อเวลา โดยปล่อยให้เวลาเป็นผู้ดำเนินการไปเรื่อยๆ จนหมดวาระการเป็น กสทช. ในกลางปีหน้า หรือไม่ก็ต้องชิงลาออกไปก่อนที่จะครบกำหนด เพื่อป้องกันไม่มีใครตามมาเช็คบิล กสทช. ในสิ่งที่ทำมาในอดีต
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์จึงควรหยุดคิดที่จะซื้อเวลา หรือรอน้ำบ่อหน้า เพื่อรอเม็ดฝนที่จะตกมาจากการทำฝนเทียมของ กสทช. ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์จึงต้องพยายามใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัด อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ เพื่อหยุดเลือดที่กำลังไหล และใช้เงินจากกระเป๋าหลังให้น้อยที่สุด เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้จะนานเท่าไร ไม่มีใครทราบ สิ่งที่จะแก้ปัญหาในเวลานี้ ผลงานของทีมงานเป็นเพียงส่วนหนึ่ง สายป่านที่ยาวต่างหาก ที่จะเป็นตัวตัดสินว่า ใครจะอยู่ ใครจะไป
อ่านประกอบ :