"ครม.ส่วนหน้า" ไอเดียเก่าแก้ปัญหาไม่ได้ ระวัง "ฟันเฟืองปีนเกลียว-ชมรมคนชรา"
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะเดินหน้าตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” หรือ “รัฐบาลส่วนหน้า” เป็นอีกโมเดลหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2559 ได้เปิดช่องทางด้านธุรการไว้แล้ว ด้วยการให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ทำหน้าที่บูรณาการการทำงานของ กอ.รมน.และ ศอ.บต. เพื่อแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ส่วนการบริหารจัดการเพื่อบูรณาการการปฏิบัติในพื้นที่ จะมีการตั้ง “ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” ลงไปทำหน้าที่แทน ครม.ชุดใหญ่ โดยมอบอำนาจให้ประสานงานหน่วยปฏิบัติทุกหน่วย ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต. ตำรวจ มหาดไทย (จังหวัด) และอื่นๆ พร้อมสร้างสะพานเชื่อมการสื่อสาร ให้สามารถส่งข้อมูลตรงถึงนายกรัฐมนตรีได้ทันที เพื่อตัดปัญหาความซ้ำซ้อนของระบบราชการ
“ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล” ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 57/2559 ก็คือ “ครม.ส่วนหน้า” หรือ “รัฐบาลส่วนหน้า” ตามที่เป็นข่าวมาเกือบ 1 เดือนแล้วนั่นเอง
แนวคิดนี้ฟังดูเผินๆ น่าจะดี แต่หากคิดอีกทีย่อมส่อแสดงให้เห็นว่า เหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 13 ปียังไม่จบเสียที คือการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพของหน่วยราชการเองใช่หรือไม่
ไอเดียเก่า 12 ปีก่อน
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่าไอเดีย “ครม.ส่วนหน้า” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยทำมาแล้วตั้งแต่ยุครัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แทบจะทันทีหลังเกิดเหตุปล้นปืน 413 กระบอกจากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.47 อันเป็นปฐมบทของไฟใต้รอบใหม่กันเลยทีเดียว
“สิ่งที่ผมจะพูดนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่อยากอธิบายให้ฟังว่า แนวคิด ครม.ส่วนหน้า เริ่มใช้ครั้งแรกในยุคอดีตนายกฯทักษิณ โดยใช้รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงไปนั่งทำงานในพื้นที่ ขณะนั้นคือ พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยการ (รองเลขาฯสมช.) แล้วก็ทำโครงสร้างคล้ายๆ ครม.ส่วนหน้า ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และหากยังทำต่อไป ก็จะได้เห็นว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร”
“หน้าที่ของรองเลขาฯสมช.ในขณะนั้น คือลงไปประจำในพื้นที่ และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว พูดง่ายคือๆ เหมือนกับเอาสภาความมั่นคงแห่งชาติไปเป็นแกนเพื่อช่วยบูรณาการหน่วยงานที่อยู่ในภาคใต้ หรือหน่วยที่ปฏิบัติราชการสนาม และสอบถามว่ามีความต้องการหรือมีปัญหาอะไร”
“เมื่อเราแก้โจทย์แบบนี้แล้ว ก็จะเห็นปัญหาอย่างหนึ่ง คือพอเราทำไปสักระยะ มันก็เป็นปัญหาแบบระบบราชการ เนื่องจากพอรองเลขาธิการ สมช.ลงไปนั่งทำงาน และมีการส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลในส่วนกลาง ผู้ปฎิบัติในระดับสูงที่อยู่ในภาคใต้ก็จะมีความเห็นว่าถูกควบคุมโดยองค์กรที่รัฐบาลกรุงเทพฯส่งลงไป”
ฟันเฟืองที่ปีนเกลียว
ศ.ดร.สุรชาติ ขยายความว่า ปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ลึกซึ้งกว่าโมเดล “ครม.ส่วนหน้า” จะแก้ปัญหาได้
“เราได้เห็นปัญหาในการตั้ง ครม.ส่วนหน้า ในยุคอดีตนายกฯทักษิณ วันนี้ผมคิดว่าปัญหาพวกนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างหน่วยปฏิบัติเอง การไม่ยอมรับในสถานะหรือว่าอะไรก็ตามของ ครม.ส่วนหน้า เพราะฉะนั้นโจทย์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยนัยคือโจทย์ของระบบราชการ”
“ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ต้องคิดคือ หนึ่ง การบริหารจัดการ สิ่งที่ต้องคิดถัดมาคือ คงต้องตั้งคำถามจริงๆ ว่ารัฐบาลส่วนหน้าจะไปทำอะไร และอะไรคือภารกิจ โจทย์นี้สำคัญ คำถามที่ 2 มันผูกโยงกับวิสัยทัศน์ว่า สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็นเสมือนรัฐส่วนหน้า แล้วใช้ภาษาทหารคือมี ‘ส่วนหน้า’ ความหมายโยงกับนัยสำคัญคือ ตกลงมีอำนาจมากเท่าไหร่”
“วันนี้คงต้องคิดว่าในโครงสร้างของระบบราชการในกรณีภาคใต้ มีทั้ง ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้) กองทัพภาค กอ.รมน ต่ำลงมาในระดับจังหวัดมีผู้ว่าฯ ต่ำจากผู้ว่าฯมีโครงสร้างของระบบบริหารราชการแบบมหาดไทย ผมคิดว่าต้องตอบโจทย์ให้ดี ถ้าตอบไม่ดีมันจะเหมือนฟันเฟืองที่ปีนเกลียวกันโดยสภาพ เพราะความไม่ชัดเจนของคำสั่ง ภารกิจ ความต้องการของรัฐบาลที่กรุงเทพฯไม่ชัดเจน”
ละครที่แต่งตัวไม่เสร็จ
ศ.ดร.สุรชาติ บอกว่า จากแนวคิดตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” สะท้อนว่าปัญหาชายแดนใต้ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการบริหารจัดการ
“ผมคิดว่าถ้ามองการบริหารจัดการแล้วต้องมีรัฐมนตรีไปนั่ง ผมไม่แน่ใจว่าเอาจริงๆ จะมีใครไป ยกเว้นแต่สุดท้ายอาจจะมีสำนักงาน แต่มันก็คงกลับมาประเด็นเดิมว่าจะทำอะไร เพราะจริงๆ แล้วในโจทย์หลายยุคสมัยมันสะท้อนว่า ปัญหาปักษ์ใต้ในมิติหนึ่งเป็นปัญหาของการบริหารจัดการ และเป็นปัญหาของการบริหารจัดการที่เราไม่มีคำตอบที่ชัดเจนกับตัวเราเอง คำตอบกลับไปกลับมาตลอดเวลา”
“ในยุคที่รัฐบาลพลเรือนขึ้นมามีอำนาจ เราเห็นชัดว่าอยากใช้ ศอ.บต.เป็นแกน แต่พอรัฐบาลทหารมามีอำนาจ ก็ดึงงานมาไว้ที่ กอ.รมน.ในลักษณะของการกลับไปกลับมา ตั้งแต่ปล้นปืน 4 ม.ค.47 ผมคิดว่าเอาลำดับเวลา เอาอำนาจขององค์กรมาวางเรียง จะเห็นลักษณะนี้อยู่ตลอดเวลา”
“จนวันนี้ถ้าจะพูดกันแบบล้อเล่น คือปัญหาการบริหารจัดการในภาคใต้ เป็นเหมือนละครที่แต่งตัวไม่เสร็จเสียที พูดง่ายๆ คือไม่ได้ออกหน้าโรงสักที เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันไม่มีความชัดเจน ตกลงอะไรคือแกนของการบริหารจัดการ ในยุคสงครามเย็นตอบง่าย เช่น ในยุคของรัฐบาลท่านนายกฯเปรม (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์; 2523-2531) เราได้เห็นบทบาทของยุทธศาสตร์ในยุคนั้น ความชัดเจนในสถานการณ์คอมมิวนิสต์ เอากองทัพภาคมาเป็นแกน”
“แต่มาวันนี้ พอเจอโจทย์สงครามที่ไม่ใช่สงครามคอมมิวนิสต์ แต่เป็นสงครามก่อความไม่สงบอีกแบบหนึ่ง ผมว่าเรามีคำตอบที่ไม่ค่อยชัดเจน ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะจัดอย่างไร มันก็มีลักษณะกลับไปกลับมาไม่จบ สมมติ ครม.ส่วนหน้า เกิดขึ้น แล้วตกลงองค์กรหลักในพื้นที่จะเป็นใคร เพราะว่าสุดท้ายการบริหารพื้นที่ต้องการองค์กรหลัก ต้องการคนที่มีอำนาจในการจัดการพื้นที่จริงๆ ซึ่งโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่มีปัญหามาตั้งแต่ยุคนายกฯทักษิณ วันนี้เรากำลังถอยกลับไปโมเดลเก่าที่สุด”
ระวังเป็น “ชมรมผู้สูงอายุ”
ศ.ดร.สุรชาติ เตือนว่า จากแนวคิดที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะให้ข้าราชการเกษียณทั้งทหารและพลเรือนไปทำหน้าที่ “ครม.ส่วนหน้า” ต้องระวังว่าจะกลายเป็น “ชมรมข้าราชการเกษียณอายุ”
“ผมว่าเรากำลังเหมือนคนที่ตั้งหลักไม่ได้ ยิ่งถ้าองค์กรนี้กลายเป็น 'สมาคมของข้าราชการเกษียณ' จะเป็นโจทย์สำคัญในแง่การบริหาร เพราะว่าวันนี้มองลงไปในพื้นที่ เรามีแม่ทัพภาค และเรายังมี กอ.รมน. ยังมี ศอ.บต. ปัจจุบันเอาไปไว้ใต้ กอ.รมน. ผมคิดว่าโจทย์ทั้งหมดมีอย่างเดียว คือวิสัยทัศน์ของการบริหารจัดการ ที่สำคัญไม่อยากเห็นรัฐบาลส่วนหน้าเป็นเพียง ‘ชมรมผู้สูงอายุ’ ไม่ได้ดูถูกท่านข้าราชการเกษียณ แต่ถ้าทำแบบนั้นจะมีปัญหาในแง่บริหารเช่นกัน”
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
1 "ประยุทธ์" ใช้ม.44 ตั้ง "คปต.ส่วนหน้า" รองรับ "ผู้แทนพิเศษ" บูรณาการดับไฟใต้
2 เปิดโผ "ครม.ส่วนหน้า" จับตา "สุรเชษฐ์-ภาณุ-อดีตแม่ทัพ4" ร่วมวง
3 ครม.ส่วนหน้า = คปต.ส่วนหน้า จ่อบรรจุยุทธศาสตร์ชาติใช้ทุกรัฐบาล