จำแนกชัดๆ รายชื่อกลุ่มเครือข่าย'ทรานลี่&ฝูอัน'ทัวร์ศูนย์เหรียญ หลังโดนอายัดทรัพย์หมื่นล.
"..กลุ่มธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ และบางกลุ่มก็มีนักการเมือง คนมีสีหนุนหลังอยู่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง ตอนนี้เป็นโอกาสดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสังคมไทย จะต้องเข้ามาร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ.."
ในกระบวนการตรวจสอบเครือข่ายธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญ ของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
หากจำแนกตามข้อมูลคำสั่งอายัดทรัพย์ของ ปปง. ที่ประกาศออกมาเป็นทางการแล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. บ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด และ 2. บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลรายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับเอกชนทั้ง 2 ราย ตามข้อมูลคำสั่งอายัดทรัพย์ ของ ปปง. มานำเสนอแบบชัดๆ อีกครั้งดังนี้
@ บ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด
พฤติการณ์ - เป็นกลุ่มบุคคลต่างด้าว ที่แจ้งเท็จว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย เข้ามาประกอบธุรกิจนำเที่ยวแบบครบวงจรในไทย ตัวละครสำคัญ คือ นายกฤชกร รุ่งมงคลนาม และนายวีระชัย คำไฝ่ประพันธ์กุล ถูกตรวจสอบพบว่า มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนอันเกิดจากการแจ้งเท็จ ไปใช้เป็นพยานหลักฐานแสดงต่อนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวมัคคุเทศก์ เจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้หลงเชื่อว่า บุคคลทั้งสองมีสัญชาติไทย เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด และนิติบุคคลในเครื่ออีกหลายแห่ง ประกอบกิจการนำเที่ยวในพื้นที่ภูเก็คและจังหวัดใกล้เคียง
ถูกปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ 2 ครั้ง คือ คำสั่งปปง. ที่ ย.174 /2559 ลงวันที่ 6 ก.ค.2559 จำนวน 204 รายการ มูลค่าอยู่ระหว่างประเมิน และ คำสั่ง ปปง. ที่ ย.176 /2559 จำนวน 12 รายการ วงเงิน 6 ล้านบาท
โดยทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ ประกอบไปด้วย บัญชีเงินฝากธนาคาร, สิทธเรียกร้องในบัตรเงินฝาก , นส.3 ก ใน จว.พังงา , โฉนดที่ดิน ในจว.ภูเก็ต, รถโดยสารปรับอากาศพิเศษ, เรือ
ผู้เกี่ยวข้องที่ปรากฎชื่อในคำสั่งอายัดทรัพย์ของ ปปง. ประกอบไปด้วย
- บริษัท อินทรี มารีน จำกัด (ถูกอายัดเรือเป็นหลัก)
- นายวีระชัย คำไฝ่ประพันธ์กุล
- บ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด
- บริษัท ที.แอลเบทเตอร์เวย์ จำกัด (ถูกอายัดรถรถโดยสารปรับอากาศพิเศษเป็นหลัก)
- นายกฤชกร รุ่งมงคลนาม
- MS.FANG SIYU
- MRS. YU PING CHAN
- นายหน้อย คำไฝ่ประพันธ์กุล
- บริษัท เหมยลี่ จำกัด
- บริษัท ภูเก็ต ปิง เฟรนด์ จำกัด
- บริษัท หยางกวง จำกัด
- บริษัท บลูเบย์ รีสอร์ท จำกัด (ถูกอายัด นส.3ก. เป็นหลัก)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทเอกชน ในกลุ่มบ.ทรานลี่ ทราเวิล จำกัด ที่ถูกปปง.อายัดทรัพย์ไว้ ทุกแห่งถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งที่ 14/2559 ให้เพิกถอนการจดทะเบียน หนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทจำกัด ตลอดจนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ ทางทะเบียนทั้งหมดของบริษัทนี้ โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา
@ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด
พฤติการณ์ - เป็นบุคคลต่างด้าว ลักลอบสวมบัตรประจำตัวประชาชน ของ คนไทยที่ชื่อ นายสมเกียรติ คงเจริญ เลขประจำตัว 3-6407-00321-64-0 ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ได้ร่วมกับนางธวัล แจ่มโชคชัย จดทะเบียนบริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัด โดยสองคนเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทดังกล่าว ประกอบกิจการจัดนำเที่ยว โดยนำนักท่องเที่ยวชาวจีน เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ในราคาต่ำกว่าทุน หรือทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่จะให้มัคคุเทศก์บังคับให้ซื้อสินค้า เช่น จิวเวลรี่ หมอนยางพารา กับร้านที่เป็นเครือข่ายกับบริษัท ฝูอัน เทราเวล จำกัด ในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดมาก
ถูกปปง.ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ จำนวน 2 ครั้ง คือ คำสั่ง ปปง.ที่ ย. 201/2559 ลงวันที่ 31 ส.ค.2559 จำนวน 25 รายการ รวมวงเงิน 28,543,556.29 บาท , คำสั่ง ปปง.ที่ ย.192/2559 ลงวันที่ 19 ส.ค.2559 (เพิ่มเติม) 2 รายการ วงเงิน 3,100,000 บาท
โดยทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ ประกอบไปด้วย เงินในบัญชีฝากธนาคาร, สิทธิในหน่วยลงทุน
และล่าสุด เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2559 ปปง. ได้แถลงมติอายัดทรัพย์ บริษัทฝูอัน ทราเวล จำกัด เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 พร้อมบริษัท โอเอ ทรานสปอร์
ระบุพฤติการณ์ ว่า บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด ใช้บริการรถบัสโดยสารของบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารถบัสโดยสาร แต่มีข้อตกลงและเงื่อนไขจะต้องพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าตามร้านหรือสถานที่ตามที่บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด กำหนดไว้ 4 ที่ คือ
1.บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
2.บริษัทรอยัล พาราไดซ์ จำกัด
3.บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด
4.บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด
ขณะที่ มัคคุเทศก์ใช้วิธีบังคับ ล่อลวง ขู่เข็ญนักท่องเที่ยว ให้ซื้อสินค้าในราคาสูงเกินจริง โดยบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด (ซึ่งมีนางนิสา โรจน์รุ่งรังสี นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี กับพวก เป็นประธานกรรมการและกรรมการ) จะจ่ายเงินค่าตอบแทนจำนวน 20-30% จากยอดขายที่นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า และหากไม่เป็นไปตามข้อตกลง บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด จะต้องถูกปรับค่าเสียหาย
ต่อมาศาลอาญาอนุมัติหมายจับนายสมเกียรติคงเจริญ และนางนางธวัล แจ่มโชคชัย ในความผิดฐานเป็นสมาชิกอั้งยี่ และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวและเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี ประธานกรรมการบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี กรรมการบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต ในความผิดฐานเป็นสมาชิกอั้งยี่ และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยว
สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินและการทำธุรกรรมของบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต ตามพฤติการณ์ร่วมกันกระทำความผิดอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมที่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิดกับผู้ต้องหาอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (10) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ได้มีมติยึดและอายัดทรัพย์สิน ครั้งที่ 3 คือ เงินฝากในบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องบริษัทโอเอทรานสปอร์ต รวม 2,247 รายการ แบ่งเป็นเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร 92 บัญชี เป็นเงิน 4,200 ล้านบาท และรถบัสโดยสาร จำนวน 2,155 คัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด 2,274 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 13,200 ล้านบาท (อ้างอิงข้อมูลปปง.แถลงข่าวอายัดครั้งที่ 3 จากคมชัดลึก)
สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ปรากฎชื่อในคำสั่งอายัดทรัพย์ของ ปปง. ทั้ง 3 ครั้ง ประกอบไปด้วย
- บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด
- นายสมเกียรติ คงเจริญ (ชื่อคนไทย ที่ถูกสมบัตรประจำตัวประชาชน)
- นางธวัล แจ่มโชคชัย
- นางสาวบุษยา งิ้วเชียง
- MS.FENTAN WU
- MR.FAWU TAN
- MRS.ZHUHUA WU
- บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด
- บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด
- บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- บริษัทรอยัล พาราไดซ์ จำกัด
- บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด
- บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด
ทั้งนี้ ในส่วนของ บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด และ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด ถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งให้เพิกถอน การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทจำกัด ตลอดจนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง รายการทางทะเบียนทั้งหมดของบริษัทนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมาแล้วเช่นกัน
ขณะที่ แหล่งข่าวในวงการเที่ยวท่อง กล่าวแสดงความเห็นต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การตรวจสอบข้อมูลกลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญของหน่วยงานรัฐในขณะนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไทยให้กลับคืนมา แต่ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประเด็นที่หน่วยงานรัฐควรขยายผลการตรวจสอบต่อไป คือ 1. ขบวนการสวมบัตรประชาชนของชาวจีน เข้ามาทำธุรกิจในไทย มีใครอยู่เบื้องหลัง หรือได้รับประโยชน์บ้าง และนอกจากธุรกิจนี้ และมีธุรกิจอื่นอีกหรือไม่ 2. กลุ่มธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ถูกตรวจสอบ และบางกลุ่มก็มีนักการเมือง คนมีสีหนุนหลังอยู่ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่กล้าที่จะเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง
"ตอนนี้เป็นโอกาสดี ที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในสังคมไทย จะต้องเข้ามาร่วมมือกันตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ละเว้นตรวจสอบใครหรือไม่ตรวจสอบใคร เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญกับธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างมาก ต้องลงมือทำอย่างจริงจัง" แหล่งข่าวระบุ