มติ กคพ.รับคดีฟอกเงินทุจริตคลองด่านเป็นคดีพิเศษ หลัง ปปง.อายัดเงิน 9 พันล.
มติคณะกรรมการคดีพิเศษ รับคดีฟอกเงินทุจริตก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านเป็นคดีพิเศษแล้ว หลัง ปปง. ลุยสอบเส้นทางการเงิน สั่งอายัดเงิน 3 งวดแรกที่ต้องจ่ายให้เอกชน 9 พันล้าน ทุจริตสหกรณ์เมืองโคราชติดโผด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการประชุมกันโดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม มีมติออกมา 2 เรื่อง ได้แก่
1.ประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2559 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2559 ซึ่งประกาศดังกล่าวได้มีการกำหนดรายละเอียดความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ และความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน บางฐานความผิดที่กระทำโดยผู้ทรงอิทธิพล มีการกระทำความผิดที่ซับซ้อน หรือมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ หรือมีฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ให้เป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ
2.มีมติให้คดีความทางอาญาเป็นคดีพิเศษที่ต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ 5 คดี ได้แก่
หนึ่ง กรณีการร้องเรียนขอให้ดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตภายในสหกรณ์เคหสถานเมืองโคราช จ.นครราชสีมา
สอง กรณีขบวนการปล่อยเงินกู้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มีสำนักงานใหญ่ใน จ.ปทุมธานี และมีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 86 สาขา โดยใช้ระบบแม่ข่ายคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
สาม กรณีขบวนการทุจริตการขออนุมัติสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยอ้างดำเนินธุรกิจการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอันเป็นเท็จ
สี่ กรณีกลุ่มบุคคลและนิติบุคคลมีพฤติการณ์ฟอกเงินจากการทุจริตในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ (คลองด่าน)
ห้า กรณีการบุกรุกก่อสร้างสนามกอล์ฟในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่า และที่ดินของรัฐในพื้นที่ ต.ทุ่งคาโงก อ.เมืองพังงา จ.พังงา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีฟอกเงินทุจริตโครงการก่อสร้างคลองด่านนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทำเรื่องมาที่ดีเอสไอเพื่อขอให้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ โดยจาการตรวจสอบของ ปปง. พบว่า สืบเนื่องจากศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อปลายปี 2558 ทำนองว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตโดยข้าราชการ กับเอกชนร่วมกันกระทำ และทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้จากโครงการถือว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยที่ผ่านมา ปปง. ได้มีมติอายัดเงินในงวดที่ 1-3 ที่รัฐจะต้องจ่ายให้กับกิจการร่วมค้าแล้วกว่า 9 พันล้านบาท และได้ตรวจสอบพบเส้นทางการเงินไปยังบุคคลอื่นอีกกว่า 10 ราย
อ่านประกอบ :
ปปง.ยื่นดีเอสไอสอบฟอกเงิน'กิจการร่วมค้าฯ-จนท.รัฐ'พันทุจริตคลองด่าน
นักการเมืองใหญ่ใช้คลองด่านบีบคนเข้าพรรค!กิจการร่วมค้าฯ ร้อง'บิ๊กตู่'ขอถอนอายัด
'ประพัฒน์' ยื่นอุทธรณ์เเล้ว หลัง คพ.สั่งชดใช้เลิกสัญญาโครงการคลองด่าน
เลิกสัญญาคลองด่านทำเสียหาย!กรมมลพิษ สั่งจนท.ชดใช้รวมกว่า 2 หมื่นล. - 'ธาริต' โดนด้วย 900 ล.
เรียก'ประพัฒน์' ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 6 พันล. ต้นเหตุให้รัฐ'เสียค่าโง่' คลองด่าน
'ประพัฒน์' เล็งยื่นอุทธรณ์ หลังกรมควบคุมมลพิษ สั่งชดใช้ค่าโง่คลองด่าน
ศาลปค.ไม่รับคำร้อง"ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" ให้รื้อคดีคลองด่านใหม่
นานาทัศนะ : ค่าโง่ 'คลองด่าน' มหากาพย์ที่ยังขุดไม่หมด-ต้องศึกษาทั้งระบบ