ศาลฎีกาฯจำคุก 1 ปี'หมอเลี๊ยบ' ไม่รอลงอาญา-2 อดีตปลัดไอซีที รอ 5 ปี คดีเอื้อชินคอร์ป
ศาลฎีกาฯ พิพากษาลงโทษจำคุก ‘หมอเลี๊ยบ’ - นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 1 ปี ไม่รอ คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป ส่วนอดีตปลัดฯ-ผอ.สำนักกิจการอวกาศ โดนโทษจำคุก 1 ปีด้วย แต่รอลงอาญา 5 ปี
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ ‘หมอเลี๊ยบ’ อดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีต ผอ.สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ และเป็นอดีตปลัดไอซีที ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1-3 ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือในบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากไม่น้อยกว่า 51%เป็นไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยทราบดีอยู่แล้วว่า เหตุที่บริษัทขอลดสัดส่วนการถือหุ้น เพื่อต้องการหาพันธมิตรขยายศักยภาพในการแข่งขันให้มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์
ล่าสุด ศาลฎีกาฯพิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี มีความผิดลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วน นายไกรสร พรสุธี และ นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 1 ปี แต่รอลงอาญา 5 ปี
สำหรับพฤติการณ์ของทั้ง 3 ราย ศาลฎีกาฯสรุปข้อเท็จจริงได้ทำนองว่า กรณี นพ.สุรพงษ์ อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งขัดกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535 ถึงจะมีการทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็ถูกตีเรื่องกลับเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ แม้ต่อมาส่งหนังสือไปหารือยังอัยการสูงสุด (อสส.) โดย อสส. ระบุว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีก็ตาม ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองถูกฟ้องร้องในภายหลัง นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์ ควรทราบว่า นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) คือประธานกรรมการผู้บริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคนลงนามสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ซึ่งการส่งเรื่องเข้าไปยังคณะรัฐมนตรีให้มีมติ จึงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนได้
ส่วนกรณีของนายไกรสร ในฐานะเป็นประธานกรรมการประสานจัดการดูแลเรื่องการทำสัญญาดังกล่าว ไม่ได้มีการวิเคราะห์ประเด็นความเห็นแย้งจากนิติกรชำนาญการ กระทรวงไอซีที ที่แย้งว่า หากมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานจะทำให้ประเทศชาติได้รับผลกระทบ ขณะที่นายไชยยันต์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์ ได้วิเคราะห์แต่ความเห็นด้านกฏหมาย ไม่ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ ได้ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ในคดีแทรกแซงเสนอชื่ออดีตผู้บริหารธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย 3 ราย เป็นกรรมการคัดเลือกคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อปี 2551
อ่านประกอบ :
ชัด ๆ พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ’แทรกแซงบอร์ด ธปท.ก่อนถูกคุก 1 ปีรอลงอาญา
คุก 1 ปีรอลงอาญา! คดี‘หมอเลี๊ยบ’ แทรกแซงตั้งผู้ทรงฯในบอร์ด ธปท.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นพ.สุรพงษ์ จาก tnamcot