- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ชัด ๆ พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ’แทรกแซงบอร์ด ธปท.ก่อนถูกคุก 1 ปีรอลงอาญา
ชัด ๆ พฤติการณ์‘หมอเลี๊ยบ’แทรกแซงบอร์ด ธปท.ก่อนถูกคุก 1 ปีรอลงอาญา
“…ดังนั้นการที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ ให้นายสถิต นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ มาเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ก็อาจไม่เป็นกลางกับธนาคารอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. เพราะอาจเป็นการคัดเลือกบุคคลที่ต้องการ ให้เข้ามากำหนดนโยบายของ ธปท. เพื่อเอื้อให้กับธนาคารที่ตัวเองบริหารงานอยู่ได้…”
ถูกศาลตัดสินจำคุกอีก 1 ราย สำหรับอดีตนักการเมืองชื่อดังยุครัฐบาล ‘ชินวัตร’ !
ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท ‘หมอเลี๊ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และมันสมองของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ โดยกรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงนั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีการแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ธนาคาร พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 มาตรา 9
ทว่าศาลยังปราณี ให้รอลงอาญา 1 ปี เนื่องจากเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ร้ายแรง+ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
(อ่านประกอบ : คุก 1 ปีรอลงอาญา! คดี‘หมอเลี๊ยบ’ แทรกแซงตั้งผู้ทรงฯในบอร์ด ธปท.)
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ‘หมอเลี๊ยบ’ แทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาเบื้องต้น ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2551 โดยขณะนั้น ‘หมอเลี๊ยบ’ นั่งเก้าอี้ รมว.คลัง โดยตำแหน่งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่างลง ทำให้ต้องดำเนินการสรรหาขึ้น โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง
ในช่วงเวลาดังกล่าว รมว.คลัง สั่งการผ่านปลัดกระทรวงการคลัง ถึง นางพรรณี สถาวโรดม ผอ.สำนักเศรษฐกิจการคลัง (ขณะนั้น) ให้คัดเลือกรายชื่อบรรดาบุคคลผู้มีคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4
โดยใน พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 มีการระบุคุณสมบัติไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับ ธปท.
หลังจากนางพรรณี คัดกรองรายชื่อเสร็จแล้วและเสนอเรื่องไปยังปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อนำเรียน รมว.คลัง พร้อมกับยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. โดยมีบุคคล 3 ราย ที่ถูกนางพรรณีทำเครื่องหมายดอกจันไว้ คือ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งทั้งสามราย เป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย (ขณะนั้น) ตามลำดับ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4
อย่างไรก็ดีในช่วงยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯนั้น เลขานุการ รมว.คลัง ได้ประสานงานกับนางพรรณีมาโดยตลอด เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลมาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ
ต่อมา ‘หมอเลี๊ยบ’ ได้เรียกนางพรรณีเพื่อมาพูดคุยที่ห้องทำงาน 2-3 ครั้ง โดย ‘หมอเลี๊ยบ’ ได้เขียนรายชื่อบุคคลที่ต้องการให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกฯ 7-8 ราย ให้กับนางพรรณี โดยต้องการให้นำบุคคลเหล่านี้มาเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งปรากฏรายชื่อของนายสถิต นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ รวมอยู่ด้วย ทั้งที่เป็นบุคคลต้องห้ามตามที่นางพรรณีเคยทำเครื่องหมายดอกจันเรียนไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
หลังจากนั้นนางพรรณี จึงได้ดำเนินการตามที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ สั่งการ ได้ยกร่างคำสั่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยมี 3 บุคคลข้างต้นดังกล่าว และ ‘หมอเลี๊ยบ’ ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในวันเดียวกันกับที่ได้ร่างคำสั่งดังกล่าวทันที
ต่อมา กระทรวงการคลังได้ส่งรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการในบอร์ด ธปท. ให้กับคณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 6 ราย โดยปรากฏชื่อของ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด (อสส. ขณะนั้น) และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. (ขณะนั้น) รวมอยู่ด้วย ส่วน ธปท. ได้ส่งรายชื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จำนวน 12 ราย โดยมีชื่ออย่าง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นต้น
ทว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้คัดเลือกบุคคลจากกระทรวงการคลังถึง 5 ราย จาก 6 ราย โดยที่นายชัยเกษม และ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้เป็นด้วย และเลือกบุคคลที่ ธปท. คัดเลือกมาเพียงแค่ 1 รายจาก 12 ราย
โดยประเด็นนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายชัยเกษม และ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้มีคุณสมบัติเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องในเรื่องนโยบายทางการเงิน หรือการชำระเงินทางบัญชี แม้แต่น้อย
ซึ่งอาจแสดงให้เห็นเจตนาว่า ในการแต่งตั้งนายสถิต นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นบุคคลต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 ให้เป็นกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อจงใจให้เข้ามาเลือกบุคคลที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ ต้องการให้เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. อยู่แล้ว
นอกจากนี้นายสถิต นอกเหนือจากเป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทยแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง (ขณะนั้น) ด้วย จึงน่าเชื่อได้ว่า สาเหตุที่ให้นายสถิตเข้ามา เพื่อคัดเลือกบุคคลที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ วางไว้อยู่แล้ว
ส่วนประเด็นสงสัยที่ว่า การนำบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารในธนาคารที่อยู่ใต้กำกับของ ธปท. ไปเป็นกรรมการคัดเลือกฯ จะเกิดผลเสียอย่างไร ?
ศาลพิเคราะห์ ให้เห็นเป็นฉาก ๆ ว่า ตาม พ.ร.บ.ธนาคารฯ ฉบับที่ 4 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่มาเป็นกรรมการคัดเลือกฯได้นั้น ต้องไม่เป็นนักการเมือง และมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือได้ประโยชน์ในการดำเนินการดังกล่าว
แต่นายสถิต นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ ทั้ง 3 ราย ต่างเป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย ซึ่งถือเป็นธนาคารที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ แต่ธนาคารทั้ง 2 แห่งก็อยู่ใต้การกำกับของ ธปท. ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดเสถียรภาพทางการเงิน และเป็นกลางแก่ทุกธนาคาร
ขณะเดียวกันกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. ก็มีบทบาทสำคัญในการวางนโยบายทางการเงิน การบัญชีแก่ธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.
ดังนั้นการที่ ‘หมอเลี๊ยบ’ ให้นายสถิต นายวิจิตร และนายชัยวัฒน์ มาเป็นกรรมการคัดเลือกฯ ก็อาจไม่เป็นกลางกับธนาคารอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. เพราะอาจเป็นการคัดเลือกบุคคลที่ต้องการ ให้เข้ามากำหนดนโยบายของ ธปท. เพื่อเอื้อให้กับธนาคารที่ตัวเองบริหารงานอยู่ได้
ซึ่งประเด็นเหล่านี้ นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการด้านเศรษฐกิจชื่อดัง เคยร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน จนมีมติชี้มูลความผิด ‘หมอเลี๊ยบ’ มาแล้วด้วย
ทั้งหมดคือสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ส่งผลให้ ‘หมอเลี๊ยบ’ ถูกจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่รอลงอาญาไว้ 1 ปี เนื่องจากเห็นว่า ภายหลัง ‘หมอเลี๊ยบ’ พ้นตำแหน่ง กลายเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมามีอำนาจ นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช รมว.คลัง (ขณะนั้น) ได้เซ็นยกเลิกคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯยุค ‘หมอเลี๊ยบ’ ทั้งหมด และมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใหม่ กระทั่ง ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้เป็นประธานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด ธปท. แทน ดังนั้นจึงยังเกิดความเสียหายไม่ร้ายแรง รวมถึง ‘หมอเลี๊ยบ’ ไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน
แต่ยังมีอีกหนึ่ง ‘ชนัก’ ที่ยังติดหลัง ‘หมอเลี๊ยบ’ อยู่ นั่นคือคดีอนุมัติการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมฯ ที่ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สมัยที่ดำรงตำแหน่ง รมว.ไอซีที ยุครัฐบาล ‘ทักษิณ’ ร่วมกับอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงไอซีที
ล่าสุด ศาลฎีกาฯ ได้ไต่สวนพยานบุคคลครบทุกปากแล้ว และนัดพิพากษาคดีในวันที่ 25 ส.ค. 2559
ดังนั้นแม้ว่า ‘หมอเลี๊ยบ’ จะรอดจากคดีแทรกแซงบอร์ด ธปท. แล้ว แต่ก็คงยังหายใจหายคอไม่ทั่วท้องนัก เพราะต้องรอคำพิพากษาในคดีดังกล่าวอีก
ท้ายสุดจะมีผลออกมาเป็นเช่นไร โปรดติดตามต่อด้วยใจระทึก !
อ่านประกอบ : นัดพิพากษา‘หมอเลี๊ยบ-พวก’ 25 ส.ค. คดีแปลงสัญญาดาวเทียมเอื้อ‘ชิน คอร์ปฯ’
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นพ.สุรพงษ์ จาก tnews