ป่าเศรษฐกิจกับทางออกการใช้ 'ไม้' ในไทย
"...เราอยากได้ป่า 40%แต่วันนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนต้องกิน ต้องเลี้ยงปากท้อง เลยต้องใช้ป่าเศรษฐกิจมาช่วย พอเราจะมาทำป่าเศรษฐกิจ มีประเด็นว่า แล้วใครจะมาปลูก...”
ประเด็นเรื่องการนำไม้สักจำนวนกว่า 5,000 ท่อนมาสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ กลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมถกเกียงเป็นกว้าง ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดเสวนา “ทางออกในการใช้ทรัพยากรไม้ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อเปิดพื้นที่ถกเกียง ระดมความเห็น เพื่อหาทางออกว่า วันนี้เราจะใช้ไม้กันอย่างไร
นายพิพัฒน์ ชนินทยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) แสดงความกังวลต่อความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อป่าเศรษฐกิจ กับป่าอนุรักษ์ โดยทั่วไปมองว่า ป่าอนุรักษ์คือการเก็บ ป่าเศรษฐกิจคือพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นมาแล้วเอามาใช้ประโยชน์ แต่ตามหลักวิชาการป่าอนุรักษ์ก็ควรเอามาใช้ อยู่ที่ว่าเราจะเอามาใช้อย่างไร เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่การเก็บอย่างเดียว แต่คือทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ความไม่เข้าใจของคนชั้นกลางในเมืองที่ป็นห่วงและไม่มั่นใจการบริหารจัดการป่าของรัฐ ตรงนี้เป็นหน้าที่ของของ อ.อ.ป. หน้าที่กรมป่าไม้ ทำอย่างไร จะทำความเข้าใจกัน"
ผอ.อ.อ.ป.ย้อนเวลากับไปในช่วงปี 2537-2547 ป่าของไทยหายไปนาทีละ 5 ไร่ และตั้งแต่ปี 2541 อ.อ.ป. เริ่มปลูกต้นไม้ จนปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอยู่กว่าล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสัก ป่าเศรษฐกิจราว 6 แสนไร่
เขาบอกว่า จำนวนดังกล่าวก็ถือว่า ยังน้อยมากหากเทียบกับการใช้ไม้ของคนในประเทศ เราเลยต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศสูญเงินจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
“เราจะซื้อไม้จากต่างประเทศทำไมมากมาย หากเรามีพื้นที่สามารถจะปลูกขึ้นมาใช้งานได้” ผอ.อ.อ.ป.ตั้งคำถาม และบอกว่า ประเทศไทยอยู่ในเส้นศูนย์สูตร ตรงนี้สามารถปลูกป่าได้ ภายในระยะไม่นานสามารถเพิ่มขึ้นได้ เพราะป่าสร้างได้ แต่ทำไมไม่ดิ้นร้นในการสร้าง
ปัญหาที่จะเจอต่อมาคือ ถ้าจะสร้างเราจะมาอาศัยพื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ คงจะไม่ได้ คงต้องอาศัยพื้นที่ที่เป็นของเอกชน พื้นที่เอกสารสิทธิ์ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า หรือจะปลูกพืชเกษตร ก็ปลูกป่าควบคู่กันไป
พร้อมกันนี้ ผอ.อ.อ.ป. ยืนยันหนักแน่นว่า ไทยสามารถปลูกป่าเศรษฐกิจ แล้วเอาไม้มาใช้ประโยชน์ได้
ด้าน ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อการจัดการป่าอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว มองว่า กรณีป่าเศรษฐกิจ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ 5.3 ล้านไร่ใน 8 องค์กร ตั้งแต่ธนาคารต้นไม้ 3,000 สาขา 1.5 ล้านไร่ เราเน้นการปลูกต้นไม้โตเร็ว ปานกลาง โตช้า ในพื้นที่เดียวกัน ในแปลงเดียวกันมีไม้หลากหลายชนิด ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า 20 ปีที่ทำมา เราตัดไม้ออกไปเท่าไร ป่าก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม
"ะเราไม่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว เพราะต้นไม้ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่ดี คือมีความหลากหลายของพันธุไม้ ต่างชาติบอกว่า ตัดต้นเล็กรักษาต้นใหญ่ แต่เราเลือกตัดต้นใหญ่เพื่อให้ต้นเล็กได้โต เพราะถ้าเราตัดต้นเล็กออก จะเอาไม้ไปใช้ประโยชน์อะไร"
ส่วนวิธีการปลูกป่าแค่ไม่สักอย่างเดียว เขาพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้าปลูกไม่โตช้า ใกล้กับไม้โตเร็ว ไม้โตช้าจะโตเร็วขึ้น เพื่อรับแสงแดด
“หากเราปลูกป่าสักทองอย่างเดียว พอตัดออก พื้นที่ก็ว่าง แต่ถ้าปลูกผสมผสานกันเราจะไม่มีพื้นที่ว่าง โล้น แต่วันนี้อุปสรรคในการปลูกป่าเศรษบกิจยังมีอีกมาก ขนาดอ.อ.ปยังไปไม่รอด” ดร.เกริก ระบุ พร้อมกับเห็นว่า จริงๆ คนปลูกต้นไม้ คือเรารู้ว่าการปลูกพืชเพื่อใช้ประโยชน์สักวันหนึ่ง เพราะต้นไม้ทุกต้นมีอายุและควรใช้ประโยชน์ก่อนที่จะตาย
ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ข่าวช่วยป่าน่านดังๆ มีคนถามว่า ทำไมไม่ไปช่วย "ผมบอกว่า วันนี้ผมก็ปลูกของผมอยู่เเล้ว อันนี้น่าคิดว่า หากเราให้ประชาชนร่วมกันปลูกในที่ทำกินของตน จะเป็นที่รัฐที่หลวงอะไรก็ตาม ส่งเสริมให้เขาปลูกและสามารถใช้ไม้ได้ เมื่อเขาปลูกและดูเเล ผมเชื่อว่า ใครไม่รักหมา รักแมวก็ต้องรัก นี่ต้นไม้ปลูกมา 20 ปีจะไม่รักได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจึงรณรงรงค์ให้ปลูกในที่ทำกินก่อน และกว่าจะโตเราได้ประโยชน์จากมันในหลายด้านทั้งอากาศ ระบบนิเวศ"
“หากถามว่า ทำไมผมไม่ปลูกไม้อย่างเดียว คำตอบคือผมต้องการความหลากหลายทางชีวภาพ”
ส่วนข้อเสนอแนะ ดร.เกริก บอกต้องการ โดยอยากให้รัฐบาลออกโฉนดต้นไม้ รับรองให้เป็นทรัพย์ว่าต้ นไม้มีกี่ต้นอะไรบ้าง ธนาคารต้นไม้ก็พยายามจะทำให้ต้นไม้เป็นทรัพย์
"สมมติมีต้นไม้พันต้น รัฐรับรองว่า ต้นละ 100 บาทต่อปี เท่ากับผมมีหลักทรัพย์ 100,000 บาท ผมก็ดูเเลหลักทรัพย์ ผ่านไป 10 ปีมีค่าต้นละ 1,000 บาท มีมูลค่ารวม 1 ล้านบาท ตรงนี้ที่เราต้องการ รัฐไม่ต้องเสียตังค์ แค่เพียงรับรองและเชื่อว่าจะไม่มีใครไปตัดในป่า เพราะไม้เขามี คงไม่ขโมยในป่า จะเป็นกันชนให้กับป่าได้"
พร้อมกันนี้ ดร.เกริก มองถึงปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ผ่าน เราไปโหมโรงที่น่าน เอาที่ดินไปปลูกต้นไม้ แต่ชาวบ้านบางรายร้องไห้ เพราะปลูกแล้วก็ขายไม่ได้ วันนี้ที่ต้องปลูกข้าวโพดเพราะว่า ขายได้ อีกมุมนึงน่านยังมีป่าอีกกว่า 60% แต่บางจังหวัดไม่มีป่าไม้เลย สุดท้ายการจะให้เอกชนรายใหญ่เข้าไปจัดการ ซึ่งไม่เห็นด้วย การปลูกป่ารายใหญ่ ประชาชนปลูกดีที่สุด
ขณะที่นายระวี ถาวร กรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และผู้ประสานภาคีความร่วมมือวนศาสตร์ชุมชน กล่าวถึงโจทย์ป่าเศรษฐกิจ หน้าที่หนึ่งของป่า คือการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จะทำอย่างไร ให้ป่าเศรษฐกิจเเตะ 15% แต่วันนี้เรามีแค่ ราว 2% จึงเป็นโจทย์ที่ยิ่งใหญ่พอสมควร
"เรามีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 31% ซึ่งต้องการให้ได้ 40% ทั่วประเทศ จะทำอย่างไร ให้ชาวบ้านดูเเลป่าชุมชน" นายระวี ตั้งคำถาม ก่อนอธิบายว่า ป่าชุมชนมีสองแบบ คือ ป่าธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ ปัจจุบันกรมป่าไม้มอบสิ่งนี้ให้ชุมชน 9,000 แห่ง ประมาณ 3 ล้านไร่ การจัดการชาวบ้านแบ่งเป็น พื้นที่ใช้สอย และฟื้นฟู ในพื้นที่ก็มีเรื่องการใช้ประโยชน์จากไม้ แต่ไม่ได้เพื่อการค้า เรามีป่าชุมชนที่ชาวบ้านต้องการปลูกเป็นสวนป่าชุมชน อีกส่วนหนึ่ง คือการเป็นพื้นที่ปัจเจก พื้นที่เกษตรกรรม ปลูกแล้วตัด เพราะการตัดไม้ไม่ได้เป็นการทำลายป่าเสมอไป เพราะไม้เมื่อโตไประยะหนึ่ง จะหยุดโต และถ้าเราตัดเอาไปใช้ประโยชน์ ก็จะสามรถเก็บคาร์บอนได้อีก 200 ปี ฉะนั้นการจัดการบ้านเรา ต้องมีการเปลี่ยน
ในแง่การจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เขามองว่า มีเรื่องของ high perception value ซึ่งถ้าเกิดว่าป่าตรงนี้มีมูลค่าด้านอื่นๆ มากกว่า ก็สามารถที่จะตกลงจัดการด้านหนึ่งด้านใดก็ได้ จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นเรื่องการทำป่าเศรษฐกิจ ที่สามารถทำได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเสมอไป
"การปลูกป่า มีสองแบบ ฟื้นฟู กับเศรษฐกิจ เรื่องความใว้ใจของคนเมือง และชาวบ้านชนบท ก็ต้องสร้างความเข้าใจว่า เราอยากจะปลูกต้นไม้ ทำอย่างไร เพื่อสร้างความไว้ใจ ถ้าจะสร้างป่าเศรษฐกิจ (1) จะต้องมีเรื่องของโซนนิ่งพื้นที่ ต้องทำ (2) ในเชิงผลิตภัณฑ์ไม้ ระบบมาตรฐานการรับรองว่า ไม่ใช่ไม้ที่มาจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ไม้ที่มาจากพื้นที่คุ้มครอง อย่างของ อ.อ.ป. ก็มีการควบคุมอยู่เเล้ว มาตรฐานของสากลมีเเล้ว แต่เราจะเชื่อมอย่างไร ในระดับชุมชน ในระดับท้องถิ่นจะตรวจสอบอย่างไร ระดับชาติทำอย่างไร การสร้างแหล่งที่มาของไม้ให้ถูกต้องจะช่วยสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับคนในสังคม"
“วันนี้เรามีทองในประเทศ แต่เราไม่ใช้ทองในการสร้าง เป็นสิ่งที่ท้าทายในอนาคต”
ด้าน รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) มีมุมมองประเด็นป่าเศรษฐกิจว่า สิ่งที่เรากำลังพูดวันนี้ ไม่ใช่แค่ค้าอย่างเดียว เพราะป่าเศรษฐกิจเรากำลังพูดถึง 15 ล้านไร่ มองในเชิงการปกป้องพื้นที่ป่าสงวน เราอยากได้ป่า 40% แต่เราทำไม่ได้ในอดีต เราจึงพยายามบอกกล่าวว่า อย่าบุกรุกพื้นที่ป่า มีความพยายามไปจับคนตัดไม้ เราเลยจะเอาแนวคิดป่าเศรษฐกิจ โดยให้เขามีรายได้ เมื่อมีรายได้ เขาจะดูแลผืนป่าให้เรา เพราะฉะนั้นในมุมป่าเศรษฐกิจ เราอยากใช้โมเดลนี้เพื่อปกป้องป่า 40%
"อยากจะบอกว่า การปกป้องพื้นที่ป่าไม่จำเป็นต้องมีป่าเศรษฐกิจ ในหลายๆ ประเทศ ถ้าอยากมีพื้นที่อนุรักษ์ก็กำหนดมา คนก็ไม่ไปบุกรุก เพราะฉะนั้น มันต้องมีอะไรที่พื้นที่อนุรักษ์ในสังคมที่เจริญเเล้ว เขายอมเจียดพื้นที่ขนาดใหญ่ ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ การที่เราตั้งเป้าว่า จะเพิ่มอีก 20% เรามาไม่ผิดทาง ส่วนเกษตรไม่ต้องห่วง เราสามารถเพิ่มได้ในบริบทเมืองไทย ในระยะยาว การดูเเลควรเป็นแนวคิดในเชิงการสร้างจิตสำนึก มีความเคารพ ไม่ไปบุกรุก
แต่วันนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะคนต้องกิน ต้องเลี้ยงปากท้อง เลยต้องใช้ป่าเศรษฐกิจมาช่วย พอเราจะมาทำป่าเศรษฐกิจ มีประเด็นว่า แล้วใครจะมาปลูก”
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงป่าชุมชนที่กรมป่าไม้ทำงานอยู่เเล้ว จะเป็นรูปแบบชุมชนดูเเลป่า ตัดไม้บางส่วน เราพูดกันว่า ป่าเราหายไป 25-30 ล้านไร่ เพราะฉะนั้น ถ้าจะมาจับปูใส่กระด้งคงไม่ไหว จึงมีไอเดียว่า ทำไมเราไม่เอาในส่วนของภาคเอกชนเข้ามา ด้วยการให้สัมปทานสวนป่า และก็เข้ามาเป็นรายใหญ่ เพื่อให้เข้ามาบริหารจัดการ คล้ายๆ กับเซเว่น ถ้าสาขาหนึ่งไปได้ดี ก็จะขยายไปสาขาสองสาม มีเอกชนเข้ามาดูเเล และมีพื้นที่ป่าจำนวนหนึ่ง เป็นพื้นที่ป่าไม้ ประมาณสองหมื่นไร่ สามารถทำเป็นชุมชนป่าไม้ โดยมีเอกชนดูเเลอยู่
รศ.ดร.อดิศร์ บอกว่า ก่อนหน้านี้ มีแนวคิดว่า การออกพันธบัตรป่าไม้น่าจะดี คือระดมทุนมาซื้อพันธบัตรดอกเบี้ยร้อยละ 5 เอาไปลงทุนปลูกป่า เมื่อป่าขายได้ ก็เอาเงินมาคืน ก็จะเป็นวงจร แต่พอมาดูผู้ประกอบการไทยที่ใหญ่ ก็คงไม่ต้องออกพันธบัตรแล้ว เพราะบริษัทใหญ่ๆ มีเงินเยอะอยู่เเล้ว เวลาออกพันธบัตรคือเราต้องการทุน เราไม่อยากกู้ เราอยากได้เงินทุนถูกหน่อย เราเลยกู้ตรงกับประชาชนโดยการออกพันธบัตร ซึ่ง ณ วันนี้ หากบริษัทใหญ่ เขาจะออกพันธบัตรหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ออกก็โอเค ไม่มีปัญฆา เอาเงินตัวเองไปหมุนเวียน เข้ามาคล้ายเป็นผู้รับช่วงต่อจากกรมป่าไม้
ในขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ ต้องยกระดับตัวเองขึ้นมา จากเป็นหน่วยงานตัดไม้ ออกสัมปทาน ไม่เอาเเล้ว ต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบ (Regulator) คล้ายๆ กับ กสทช. กำกับกติกา ตรวจสอบผู้ประกอบการ ส่วนคนที่จะมาให้บริการคือบริษัทเอกชนที่จะมาปลูกป่าให้ท่าน ท่านก็ออกกฎว่าจะเอาต้นใหญ่ ต้นเล็กอย่างไร
ประเด็นต่อมา กฎหมาย นักวิชาการจากนิด้า ชี้ให้เห็นว่า เรามองกฎหมายอย่างไร เรายังอยากจะให้ไม้เป็นสินค้าอยู่ในรายการหวงห้ามหรือไม่ เพราะจะเป็นการเปลี่ยนวิธีมอง หากเราต้องทำป่าเศรษฐกิจจริงๆ ไม้ต้องไม่อยู่ในรายการหวงห้าม แล้วสังคมไทยทำใจกันได้หรือไม่
"ถ้าเราจะมีขั้นตอนในการรองรับไม้ ถ้าเราจะมีขั้นตอนในการสกัดคนตัดไม้ เป็นปรัชญาคิดว่า การมีขั้นตอนยุ่งยากเพื่อให้เราไปจับได้ว่า ไม้หวงห้ามเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะสิ่งหนึ่งที่ เราพยายมจะเชื่อคือว่า ธุรกิจซื้อไม้ ซื้อมาขายไป ทำกำไร สามารถเป็นกลไกที่จะช่วยการอนุรักษ์ได้ เมื่อเราตัดวงจรการซื้อขาย คนไม่มีไม้ใช้ ก็ไปบุกป่าสงวน เเละถ้าเราอยากเห็นพื้นที่อนุรักษ์อุดมสมบูรณ์ เราต้องปล่อยให้ เอกชนจัดการด้วยการเอาไม้ออกจากรายการไม้หวงห้าม"
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงกรมป่าไม้ไม่ใช่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่โครงสร้างองค์กรไม่เหมาะกับสิ่งที่กำลังทำ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น วันนี้เรามีนวัตกรรมด้านองค์กรเยอะ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร สิ่งที่ต้องทำก่อนไปปลูกป่าเศรษฐกิจคือ ดูบทบาทของหน่วยงานรัฐ และสร้างองค์กรให้เหมาะสม กรมป่าไม้ต้องรีบหารือว่า องค์กรควรเป็นลักษณะแบบไหน
"ส่วนรัฐออกพันธบัตรป่าไม้ ผมว่าเป็นเรื่องหัวใจของพันธบัตรป่าไม้ ไม่ใช่การขายเเล้วเอาเงินมา แต่แนวคิดของมันคือว่า เราอยากเห็นส่วนอื่นๆ ของสังคมเข้ามาช่วยรัฐดูเเลป่า อาจจะเป็นชุมชน บริษัทก็ได้ ที่ออกมาเป็นพันธบัตร เพราะบางครั้งผู้ประกอบการ ไม่มีเงินทุน พันธบัตรจะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้การดูเเลป่าโปร่งใส คนที่ซื้อพันธบัตร เพราะว่าในการถือกระดาษ ผู้ถือครองหุ้น มีพิกัดว่าพื้นที่ตรงนั้นมีการปลูกป่าจริงหรือไม่ ก็จะตรวจสอบได้"
ในขณะที่มุมมองทางด้านกลุ่มคนเมือง อย่าง กลุ่ม BIG TREE นายสันติ โอภาสปกรณ์กิจ ผู้ประสานงานกลุ่ม กลับมองว่า ความไม่ไว้วางใจต่อการจัดการป่าไม้ในประเทศไทยมีสูงมาก เวลาคนไม่ไว้วางใจ ปฏิกิริยาคือ ปลอดภัยไว้ก่อน ไม่มีใครอยากให้ป่าลดลง ไม่มีใครปฏิเสธว่าป่าต้นน้ำ เปลี่ยนจากป่าดงดิบ เป็นป่าข้าวโพด ไม่มีใครสามารถอยู่แบบไม่เดือดร้อนได้ เพราะฉะนั้น หากป่าต้นน้ำยังมีปัญหาเรื่องการบุกรุก ก็อย่าพึ่งมารีบคุยเรื่องป่าเศรษฐกิจเลย ถ้ารัฐบาลสามารถจัดการป่าต้นน้ำไม่ได้ ไม่ต้องคุยกันเเล้วเรื่องว่า อยากจะเอาป่ามาทำอย่างโน้นนี่
"ก้าวแรกเหมือนว่ายน้ำไม่เป็น แต่อยากจะทำอย่างอื่น ข้อสอบแรกยังสอบตก ประชาชนไม่อนุญาตให้พวกคุณทำ” นายสันติย้ำ และว่า ถ้าเกิดไม่สามารถรักษาป่าต้นได้ คิดว่าจะเอาป่ามาทำอุตสาหกรรมอย่างอื่น ต้องมาดูว่าวันนี้ป่าต้นน้ำเอาอยู่หรือยัง ถ้ายังเอาไม่อยู่ เขาก็ไม่อนุญาต
นายสันติ อธิบายเหตุผลข้างต้นไว้ว่า เอาต้นไม้มาใช้ ตามหลักวิทยาศาสตร์สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ดี เรารู้ แต่บอกว่าให้เราสนับสนุนไปตามนั้น เราทำไม่ได้ เราต้องทำตามแนวความคิดของเราที่มีต่อลูกเพจในเฟสบุ๊ค คุณต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อน ถ้าเกิดยอมรับกันว่า คนในสังคมยังไม่ไว้ในการใช้ป่าของกรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพย์ฯ ระบบที่มีการควบคุมกันอยู่ ยกตัวอย่าง เวลาเราซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เราเคยกลัวไหมว่า หุ้นมีการส่งต่อกัน ไม่มีใครกังวลเลย เพราะระบบน่าเชื่อถือ วันนี้ซื้อไม้ ถามว่าไม้อันไหนถูกกฎหมายบ้าง ไม่มีใครรู้ เราซื้อไม้ที่ร้านไม่มีความมั่นใจ ถ้าระบบการซื้อขายไม้ ไม่มีใครไว้ใจ
ประเด็นต่อมา ตอนนี้ระบบการควบคุมและดูเเลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เป็นของหน่วยงานรัฐแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ มองว่าควรมีประชาชนเข้ามาดูเเลด้วย ฉะนั้น เรื่องที่เราพูดมาทั้งหมด ว่าเพื่อให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ให้บริษัทเข้ามาจัดการ ถามว่า ประชาชนอยู่ตรงไหน ชุมชนอยู่ตรงไหน ใครจะทำเรื่องป่าชุมชน เรื่องป่าเศรษฐกิจให้ลืมเรื่องบริษัทใหญ่ไปได้เลย
"ถ้าจะทำเรื่องนี้ และสังคมยอมรับได้ ต้องเป็นการแก้ปัญหาให้กับชุมชนโดยชุมชนอย่างแท้จริง แบบนี้ยอมรับได้ แต่ถ้าเกิดแก้โดยการเอาบริษัทใหญ่ๆ เข้ามา และต้องจูงใจให้บริษัทเหล่านี้มาลงทุนในป่าเศรษฐกิจ ประชาชนเขาหลอนกับการที่รัฐเสียค่าโง่ในบริษัทใหญ่มามากแล้ว ถ้าเรื่องนี้ไม่ผ่าน ก็ลืมเรื่องอื่นไปได้เลย"
อ่านประกอบ
ผอ.อ.อ.ป.ยันไม้สักรัฐสภาใหม่ไม่กระทบพื้นที่ป่าอนุรักษ์
ความขัดแย้งใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม้สักจากสวนป่า ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
ไม้สักเหมือน DNA ของชาติ! ปธ.ออกแบบรัฐสภาใหม่แจงเหตุใดต้องใช้สร้าง?
นักวิชาการมก. ชี้ไม้สักจากป่าปลูก อ.อ.ป. สร้างรัฐสภาใหม่ แห่งเดียวที่มีใบรับรอง
คุยกับนักวิชาการป่าไม้ว่าด้วยเรื่อง 'ไม้สัก' จากป่าปลูก ถึงการสร้างรัฐสภาใหม่
ไขคำตอบ รัฐสภาใหม่ ‘สัปปายะสภาสถาน’ ออกแบบคล้ายวัด ช่วยลดโกงจริงหรือ?
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://twitter.com/thairath_tv/status/727752270318841856