ขมวดปม!คดีปุ๋ยบุรีรัมย์ 328 ล. ฟันส่วนต่าง 240 บ.-เอกชนฟ้องชาวบ้านนัวเนีย ใครรับผิดชอบ?
"..หากคำสั่งทบทวนโครงการของ ผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดขึ้น 'หลัง' การทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยระหว่างเอกชน กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว กรณีนี้ก็อาจจะมองได้ว่า การดำเนินงานโครงการฯ นี้ มีความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติงานของราชการ ทั้งอบจ. และจังหวัด ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าว ส่งผลทำให้ทั้งเอกชนและเกษตรกร ได้รับผลกระทบโดยตรง ราชการควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนกับกลุ่มเกษตรกร ไปหาทางแก้ไขปัญหากันเองแบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้.."
หากใครที่มีโอกาสติดตามข้อมูลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอไปตอนแรก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา ในหัวข้อข่าวเรื่อง "ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน" และนำเสนอข้อมูลต่อเนื่องเรื่อยมา จากถึงหัวข้อรายงานเรื่องล่าสุด "ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล."ในช่วงหัวค่ำวันที่ 5 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา
จะพบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการตรวจสอบโครงการฯ นี้ 2 ส่วนหลัก คือ
@ ส่วนแรก ปัญหาการดำเนินงานโครงการ ปี 2555-2557
ปรากฎข้อเท็จจริง ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ เริ่มดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ มาตั้งแต่ปี 2555 -2557 รวมระยะเวลา 3 ปี รูปแบบโครงการมีลักษณะแจกจ่ายสินค้าปุ๋ยให้กับสมาชิกกลุ่มเกษตรกร
ขั้นตอนการดำเนินงานจะเปิดให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันจัดทำโครงการ เสนอผ่าน สำนักงานเกษตรอำเภอ ส่งต่อไปที่อบจ.บุรีรัมย์ ก่อนจะส่งต่อไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่ออนุมัติโครงการให้ และนำซื้อสินค้าปุ๋ยจากเอกชน ซึ่ง อบจ.บุรีรัมย์ จะตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกร ผ่านการพิจารณาของจังหวัด โดยเป็นการให้เปล่า กลุ่มเกษตรกร ไม่เสียเงินซื้อสินค้าเอง
ซึ่งในปีงบประมาณ 2555 มีการอุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตกรกร จำนวน 316 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 65,320,000 บาท ปีงบประมาณ 2556 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 440 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 94 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2557 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 317 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 168,800,000 บาท
รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 328,120,000 บาท
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานโครงการฯ นี้ ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาดังนี้
1. การตั้งงบประมาณอุดหนุนเงิน ของ อบจ.บุรีรัมย์ ให้กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม หรือขอสนับสนุนงบประมาณในโครงการและกิจกรรมที่กลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งไม่เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มหรือชุมชนอันนำไปสู่การพัฒนาในโอกาสต่อไป ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้งบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ขณะที่ขั้นตอนการติดตามและประเมินผลของทุกปี อบจ.บุรีรัมย์ ประเมินโครงการ โดยวิธีสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่แต่ละกลุ่มเสนอ และไม่ได้ติดตามและประเมินผลของกลุ่มในเชิงปฏิบัติด้วย ประกอบกับโครงการมีการอุดหนุนเงินกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรในกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มได้นำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้กับพืชผลอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในโครงการ หรือตัวแทนกลุ่มนำปุ๋ยอินทรีย์ไปขายให้กับสมาชิกกลุ่มอีกทอดหนึ่งเพื่อนำเงินเข้ากลุ่มซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ถือว่า อบจ.บุรีรัมย์ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
2. จากการตรวจสอบของ สตง. พบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เอง แต่มีบุคคลเข้าไปมีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าว ดำเนินการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาด เป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ ซึ่ง สตง.ระบุชื่อชัดเจนคือ นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ (นายโกวิทย์ ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง อ่านประกอบ : เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น)
สตง. ยังระบุในผลการตรวจสอบว่า การดำเนินงานดังกล่าว มีผู้บริหารอบจ.บุรีรัมย์ ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการหลักฐานมอบฉันทะและเบิกถอนเงินจากบัญชีของกลุ่มเกษตรกรที่รับเงินอุดหนุนมอบให้กับนายโกวิทย์ ทั้งที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของ อบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวน 157,497,600 บาท ซึ่ง สตง.ระบุชื่อชัดเจนคือ นายไตรเทพ งามกมล รองนายก อบจ.บุรีรัมย์
ส่วน นางกรุณา ชิดชอบ นายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) ถูกสตง.ระบุว่า มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของนายไตรเทพ อีกทั้ง สตง. เคยมีหนังสือแจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2557 ว่า มีการดำเนินการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมหรือกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
สตง.จึงได้แจ้งให้ อบจ.บุรีรัมย์ ดำเนินคดีอาญากับ นางกรุณา ชิดชอบ นายไตรเทพ งามกมล นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ และดำเนินคดีทางวินัยกับ นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ และนายประวิตร อุไรกุล รองปลัด อบจ.บุรีรัมย์ ในฐานะกรรมการโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ นายอดุลย์ กองชะนะ ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต นายวีรชน เสงี่ยมศักดิ์ นักพัฒนาชุมชน นายเทอดพงษ์ ปัญญากมล นักพัฒนาชุมชน 5 และ นางจิมรี่ ชิดนอก เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการทางละเมิดกับ นายก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณี อบจ.บุรีรัมย์ อนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มหรือชุมชนในปีงบประมาณ 2555-2557 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงิน 24,301,000 บาท
รวมถึงดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณี นายก อบจ.บุรีรัมย์ รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และดำเนินการเบิกถอนเงินในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ทำให้การจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไม่เป็นไปตามราคาท้องตลาด และเกิดผลประโยชน์ในส่วนต่างราคากับสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 157,497,000 บาท และหรือดำเนินการทางแพ่งกับ นายโกวิทย์ ในจำนวนเงินที่ราชการได้รับความเสียหายดังกล่าว
3. ผลจากการอนุมัติเงินเพื่อใช้จ่ายเงินในการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 ขณะที่การอุดหนุนเงินดังกล่าว มีสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และเป็นการใช้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุนเงินอื่น นอกเหนือกว่าที่ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในการให้บริการสาธารณะลงวันที่ 23 พ.ย.2552 ให้อำนาจไว้ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในส่วนของจังหวัด ต้องรับผิดชอบด้วย
สตง.จึงได้ทำหนังสือแจ้งถึง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีกับ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์ นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์ และคณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อบจ.บุรีรัมย์ ประกอบไปด้วย นายไพศาล สำราญทรัพย์ รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ นายเลิศพันธุ์ สินบรรเลงเสนาะ จ่า จ.บุรีรัมย์ นายแหลมทอง ประยงค์ นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ นายกิมฮ้อ เหลืองประภัสร์ และนายวีระชัย ประยูรเมธา
สรุปมีบุคคลที่ถูกสตง.ชี้มูลจากการดำเนินงานโครงการนี้ ในช่วงปี 2555-2557 จำนวนรวมทั้งสิ้น 16 ราย ได้แก่
@ อบจ.บุรีรัมย์
- นางกรุณา ชิดชอบ นายกอบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง)
-นายไตรเทพ งามกมล รองนายกอบจ.บุรีรัมย์
- นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ.
- นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์
- นายประวิตร อุไรกุล รองปลัด อบจ.บุรีรัมย์
- นายอดุลย์ กองชะนะ ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- นายวีรชน เสงี่ยมศักดิ์ นักพัฒนาชุมชน
- นายเทอดพงษ์ ปัญญากมล นักพัฒนาชุมชน 5
- นางจิมรี่ ชิดนอก เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
@ จังหวัดบุรีรัมย์
- นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์
- นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์
- นายไพศาล สำราญทรัพย์ รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์
- นายเลิศพันธุ์ สินบรรเลงเสนาะ จ่า จ.บุรีรัมย์
- นายแหลมทอง ประยงค์
- นายกิมฮ้อ เหลืองประภัสร์
- นายวีระชัย ประยูรเมธา
(อ่านประกอบ :ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ' )
ส่วนสอง การดำเนินโครงการฯ ในปี 2558
ปรากฎข้อเท็จจริง เกิดปัญหาฟ้องร้องดำเนินคดีกันระหว่างผู้จำหน่ายปุ๋ย กับ กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่หลายอำเภอ ในจ.บุรีรัมย์
ที่มาสำคัญของปัญหาเกิดขึ้น จากการที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และผู้บริหารในอบจ.บุรีรัมย์ ได้แจ้งประสานงานให้กลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมโครงการเหมือนปี 2555-2557 และจัดหาเอกชนเข้าไปทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับกลุ่มเกษตรกร
แต่เนื่องจากการดำเนินงานโครงการปี 2558 ถูกสตง.ทักท้วง ทำให้ผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ สั่งทบทวนโครงการ ขณะที่อบจ.บุรีรัมย์ ก็ไม่ได้ตั้งงบประมาณดำเนินการไว้ ส่งผลทำให้กลุ่มเกษตรกร ไม่มีเงินไปจ่ายค่าปุ๋ยให้เอกชน ทำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเสียค่าเสียหายกันเกิดขึ้น
ตัวละครสำคัญ ในการดำเนินงานโครงการฯ ปีนี้ ที่ปรากฎชื่อชัดเจน คือ นายอดุลย์ กองชะนะ ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ในฐานะประธานคณะทำงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปี 2555-2558 และโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ปี 2555 และ นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ. บุรีรัมย์
โดย นายอดุลย์ ถูกระบุว่า เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ในการประสานงานและจัดหาเอกชน เข้าไปขายปุ๋ยให้กับกลุ่มเกษตรกร
ส่วนนายโกวิทย์ ถูกระบุว่า เป็นผู้ติดต่อผู้จำหน่ายปุ๋ยบางรายให้เข้าไปจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มเกษตรกร
ขณะที่ ตัวแทนเกษตรกร รายหนึ่ง ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ในการเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และผู้บริหารอบจ. เพื่อให้กลุ่มเกษตรกร เข้าร่วมโครงการ ปีนี้ ไม่ได้แจ้งว่า อบจ.ไม่มีงบประมาณสนับสนุนโครงการนี้ และโครงการที่ให้กลุ่มเกษตรกร จัดทำไปได้รับการอนุมัติหรือไม่ ทำให้กลุ่มเกษตรกรเข้าใจว่า ไม่ต้องเสียเงินค่าซื้อปุ๋ยเหมือนทุกปีที่ผ่านมา และมีการเรียกตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ไปทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับเอกชนด้วย
สอดคล้องกับ ข้อมูลของ น.ส.ปิยะพร วงศางาม เจ้าของ หจก. ดีสิงห์ทวีโชค ที่เข้าไปทำสัญญาขายปุ๋ยในโครงการนี้ ที่ระบุว่า ได้ไปเข้าพบกับ นายอดุลย์ เพื่อแจ้งความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โดยนำข้อมูลตัวอย่างปุ๋ยไปนำเสนอ ซึ่งนายอดุลย์ ก็อนุมัติเห็นชอบ ให้ หจก.เข้าร่วมได้และประสานไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อติดต่อนำสินค้าไปเสนอขายให้กับกลุ่มเกษตรกรตามขั้นตอน และเชื่อมั่นมาตลอดว่า อบจ.มีงบประมาณสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร แต่ไม่ตอบคำถามชัดเจนว่า การเข้ามาร่วมโครงการนี้ ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการแลกเปลี่ยนหรือไม่ (อ่านประกอบ : ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นายอดุลย์ ได้แจ้งลาออกจากราชการ ไปตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนก.ค.2559 ที่ผ่านมา โดยไม่ได้มีการเปิดเผยสาเหตุที่แท้จริง
ซึ่งการลาออกของนายอดุลย์ ครั้งนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะยุติปัญหาเรื่องนี้ เพราะเมื่อนายอดุลย์ ลาออกไป ปัญหาทุกอย่างก็คงจะจบ และยังเป็นการตัดตอน ข้อมูล ไม่ให้สาวลึกไปถึงตัวละครอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย
@ สรุปประเด็นสำคัญ
จากการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการฯ ทั้ง 2 ส่วน คือ ในปี 2555-2557 และ ในปี 2558
สามารถชี้เงื่อนปมปัญหาสำคัญได้ดังนี้
1. การดำเนินงานโครงการ ปี 2555-2557 มีปมปัญหาสำคัญ 2 ส่วน คือ
1.1 การอนุมัติใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้งบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งข้อเท็จจริงยุติไปแล้ว ตามผลตรวจสอบด้านเอกสารของสตง. ซึ่งขณะนี้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกสตง.ชี้มูลจะต้องไปชี้แจงข้อเท็จจริงในการดำเนินงานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ ของตนเอง กับคณะกรรมการหรือหน่วยงานตรวจสอบของรัฐ
1.2 การเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในขั้นตอนการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาด เป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ ยังเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก โดยเฉพาะเส้นทางการเงิน ว่ามีใครได้รับประโยชน์จากโครงการนี้บ้าง ในช่วงตั้งแต่ปี 2555-2557 ซึ่งล่าสุด สตง. ได้มีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับเรื่องไปสอบสวนต่อตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว
2. การดำเนินงานโครงการ ปี 2558 นอกเหนือจากการหาทางออกร่วมกันระหว่างเอกชนกับกลุ่มเกษตรกร ในการหาทางเจรจาระงับข้อพิพากทางกฎหมาย อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว
กรณีนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการตรวจสอบว่า เงื่อนเวลา ที่ผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ สั่งทบทวนโครงการ หลังถูก สตง.แจ้งผลการตรวจสอบ และเป็นเหตุผลสำคัญทำให้อบจ.บุรีรัมย์ ไม่สามารถตั้งงบประมานหาเงินมาอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรได้ ส่งผลทำให้กลุ่มเกษตรกร ไม่มีเงินมาจ่ายให้กับเอกชน ว่า เกิดขึ้น 'ก่อน' หรือ 'หลัง' การทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยระหว่างเอกชน กับกลุ่มเกษตรกร
เพราะถ้าคำสั่งทบทวนโครงการของ ผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดขึ้น 'ก่อน' การทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยระหว่างเอกชน กับกลุ่มเกษตรกร ก็เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง น่าจะรับทราบข้อมูลอยู่แล้วว่า การดำเนินงานโครงการปีนี้ ทำไม่ได้ รัฐไม่มีเงินสนับสนุนให้เกษตรกรแน่นอน
การติดต่อให้เอกชนไปทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับเกษตรกรโดยตรง ก็เท่ากับเป็นการวางแผนเพื่อวัตถุประสงค์ให้มีการซื้อขายสินค้าเกิดขึ้น โดยอ้างชื่อและแนวทางการดำเนินการโครงการนี้ มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน และที่สำคัญการดำเนินการลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้วยหรือไม่
แต่หากคำสั่งทบทวนโครงการของ ผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ เกิดขึ้น 'หลัง' การทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยระหว่างเอกชน กับกลุ่มเกษตรกรแล้ว กรณีนี้ก็อาจจะมองได้ว่า การดำเนินงานโครงการฯ นี้ มีความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติงานของราชการ ทั้งอบจ. และจังหวัด ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าว ส่งผลทำให้ทั้งเอกชนและเกษตรกร ได้รับผลกระทบโดยตรง
ราชการควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนกับกลุ่มเกษตรกร ไปหาทางแก้ไขปัญหากันเองแบบที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
และยังไม่นับรวมข้อสังเกตที่ว่า การดำเนินงานโครงการปี 2558 มีปัญหาเรื่องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ผลประโยชน์ในขั้นตอนการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาด เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2555-2557 ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกันต่อไปด้วย
ขณะที่การลาออกของ นายอดุลย์ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อเอกชนให้เข้าไปขายสินค้าให้กับกลุ่มเกษตร ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้ราชการ ไม่ต้องรับผิดชอบต่อกรณีปัญหานี้ และให้ทุกเรื่องไปได้อีกเช่นกัน
ซึ่งข้อสังเกตทั้งหมดนี้ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกและนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในโอกาสต่อๆไป
อ่านประกอบ :
ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน
ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ'
เปิดตัว 'สจ.' ปุ๋ยบุรีรัมย์328 ล.! สตง.ชี้ส่วนต่าง240 บ./กระสอบ-เจ้าตัวปัดไม่รู้เห็น
'ผอ.'พัวพันปุ๋ย อบจ.บุรีรัมย์ ลาออกปริศนา!เกษตรกรถูกฟ้องทวงหนี้หมื่นราย
ปัดแจง 'หัวคิว' ปุ๋ยบุรีรัมย์! เปิดคำให้การ หจก.ดีสิงห์ฯ ผู้ฟ้องเกษตรกรเบี้ยวเงิน 40 ล.