ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ
เอ็กซ์คลูซีฟ:เปิดหนังสือลับ 'สตง.' แจงผลสอบชำแหละโครงการแจกปุ๋ยอินทรีย์ อบจ.บุรีรัมย์ ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ เผยยอดความเสียหาย-ชดใช้หลักร้อยล้าน ชื่อ 'ปลัดอบจ.-ผอ.-จนท.' โดนฟันวินัยด้วย
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!
เมื่อ นางกรุณา ชิดชอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) พร้อมด้วย นายไตรเทพ งามกมล รองนายกอบจ.บุรีรัมย์ และ นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ. บุรีรัมย์ ถูก นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ดำเนินดคีอาญาในความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ อบจ.จ.บุรีรัมย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,83
โดยมีสาเหตุมาจากการดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ประจำปี 2555-2557 รวมวงเงินทั้งสิ้น 328 ล้านบาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาเรื่องการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร รวมถึงราคาการจัดซื้อที่แพงกว่าท้องตลาด ปรากฎข้อเท็จจริงตามหนังสือสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ที่ลงนามโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสตง. ที่ส่งถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา
ขณะที่ นางกรุณา ชิดชอบ ถูก สตง. แจ้งข้อกล่าวหาในฐานะ ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ไม่ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชา
(อ่านประกอบ : ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในหนังสือ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ที่ลงนามโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสตง. ที่ส่งถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา
ปรากฎข้อเท็จจริงดังนี้
หนังสือดังกล่าว ระบุว่า ด้วย สตง.โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ได้ตรวจสอบกรณีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อบจ.บุรีรัมย์ ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2557 ไม่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง ปีงบประมาณ 2555-2557 อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มหรือชุมชนที่เสนอโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค. 2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้งบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งปีงบประมาณ 2555 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตกรกร จำนวน 316 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 65,320,000 บาท ปีงบประมาณ 2556 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 440 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 94 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2557 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 317 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 168,800,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 328,120,000 บาท
จากการพบว่า อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม หรือขอสนับสนุนงบประมาณในโครงการและกิจกรรมที่กลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งไม่เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มหรือชุมชนอันนำไปสู่การพัฒนาในโอกาสต่อไป ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จำนวน 51 กลุ่ม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเป็นเงินจำนวน 24,301,000 บาท
สอง เกษตรกรที่เสนอโครงการขอรับอุดหนุนเงินเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับโครงสร้างดินให้ดีขึ้น สมาชิกมีสุขภาพที่ดี และลดการใช้สารเคมี ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นผลสำเร็จจากการทำเกษตรแบบอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร และ อบจ.บุรีรัมย์ ในฐานะผู้อุดหนุนงบประมาณให้กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ มีหน้าที่ติดตามและประเมินผลให้กลุ่มเกษตรกรนำเงินที่ได้รับการอุดหนุนไปจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทำเกษตรกรอินทรีย์ตามวัตถุประสงค์ที่แต่ละกลุ่มเสนอโครงการฯ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
แต่ในขั้นตอนการติดตามและประเมินผลของทุกปี อบจ.บุรีรัมย์ ประเมินโครงการโดยวิธีสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุนเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการที่แต่ละกลุ่มเสนอ และไม่ได้ติดตามและประเมินผลของกลุ่มในเชิงปฏิบัติด้วย ประกอบกับโครงการมีการอุดหนุนเงินกลุ่มเกษตรกรจำนวนมากและมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีการอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรในกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับการจัดตั้งกลุ่มหรือสมาชิกกลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มได้นำปุ๋ยอินทรีย์ไปใช้กับพืชผลอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในโครงการ หรือตัวแทนกลุ่มนำปุ๋ยอินทรีย์ไปขายให้กับสมาชิกกลุ่มอีกทอดหนึ่งเพื่อนำเงินเข้ากลุ่มซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ถือว่า อบจ.บุรีรัมย์ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
สาม ปีงบประมาณ 2555 พบว่า กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินอุดหนุนมอบฉันทะให้ผู้อื่น ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ขายดำเนินการเบิกถอนเงินแทนกลุ่ม และมีเงินคงเหลือค้างไว้ในบัญชีของกลุ่มเกษตรกรจำนวน 388 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 600,300 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับใบเสร็จรับเงินที่กลุ่มรายงานผลการดำเนินโครงการ ถือว่าเป็นเงินคงเหลือที่ต้องดำเนินการส่งคืน ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
สี่ กลุ่มเกษตรกรที่ขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ปีงบประมาณ 2555-2557 พบว่า กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ ไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เอง แต่นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ได้เข้ามามีส่วนได้เสียในโครงการดังกล่าว ดำเนินการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์และเบิกถอนเงินแทนกลุ่มเกษตรกร และได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาปุ๋ยอินทรีย์ที่แพงกว่าท้องตลาด เป็นเงิน 240 บาท/กระสอบ
โดยนายไตรเทพ งามกมล รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการหลักฐานมอบฉันทะและเบิกถอนเงินจากบัญชีของกลุ่มเกษตรกรที่รับเงินอุดหนุนมอบให้กับนายโกวิทย์ ทั้งที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของ อบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวน 157,497,600 บาท
ประกอบกับมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า นางกรุณา ชิดชอบ นายก อบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) รู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของนายไตรเทพ อีกทั้ง สตง. เคยมีหนังสือแจ้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2557 ว่า มีการดำเนินการไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แต่กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมหรือกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้ประชุมกันเมื่อช่วงเดือน ก.พ. 2559 พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบด้วยกับผลการตรวจสอบของ สตง. และให้ดำเนินการดังนี้
ให้ดำเนินคดีอาญากับบุคคลต่อไปนี้
1.นางกรุณา ชิดชอบ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร อนุมัติโครงการ และเป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับกลุ่มเกษตรกร ไม่ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนทางราชการที่กำหนดเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
2.นายไตรเทพ งามกมล ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้นายโกวิทย์ สามารถเข้ามาจัดการในขั้นตอนเบิกถอนเงินจากบัญชีของกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ปีงบประมาณ 2555-2556 และได้ซึ่งผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาปุ๋ยอินทรีย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
3.นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ได้เข้ามาจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ โดยให้นายไตรเทพ ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรองนายก อบจ.บุรีรัมย์ และเข้ามาจัดการในขั้นตอนเบิกถอนเงิน อันเป็นการสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลต่อไปนี้
1.นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ตำแหน่งปลัด อบจ.บุรีรัมย์ และนายประวิตร อุไรกุล รองปลัด อบจ.บุรีรัมย์ ในฐานะกรรมการโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ กรณีไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
2.นายอดุลย์ กองชะนะ ตำแหน่ง ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ไม่ติดตามประเมินผลโครงการให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
3.นายวีรชน เสงี่ยมศักดิ์ ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน นายเทอดพงษ์ ปัญญากมล ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน 5 และนางจิมรี่ ชิดนอก ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 กรณีปฏิบัติงานนอกอำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับนายโกวิทย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
4.กรณีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางวินัยดังกล่าว หากพบพฤติการณ์การกระทำที่ไม่สุจริตในการปฏิบัติราชการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เห็นควรดำเนินการ ตามกฏหมายกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนกรณีการเบิกถอนเงินจากบัญชีกลุ่มเกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ในปีงบประมาณ 2555 ผู้รับมอบฉันทะซึ่งเป็นตัวแทนของนายโกวิทย์ ได้ถอนเงินออกจากบัญชีไม่เต็มตามจำนวนเงินที่ได้รับเงินอุดหนุน โดยคงเหลือไว้ในบัญชีกลุ่มเกษตรกรเป็นจำนวนเท่า ๆ กัน และไม่สอดคล้องกับใบเสร็จรับเงินที่กลุ่มเกษตรกรใช้จ่ายเงินดังกล่าวเต็มจำนวนตามที่ขอรับอุดหนุน โดยกลุ่มเกษตรกรที่จัดซื้อปุ๋ยอินทรีพย์ด้วยตนเองและมีเงินคงเหลือจำนวน 600,300 บาท กลุ่มเกษตรกรต้องการส่งคืนให้ อบจ.บุรีรัมย์ และหากกลุ่มเกษตรกรไม่นำเงินชดใช้ส่งคืนแก่ทางราชการ ให้สอบข้อเท็จจริงหาผู้รับผิดชอบชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว
นอกจากนี้ให้ดำเนินการทางละเมิดกับ นายก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณี อบจ.บุรีรัมย์ อนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มหรือชุมชนในปีงบประมาณ 2555-2557 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงิน 24,301,000 บาท
รวมถึงดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณีนายก อบจ.บุรีรัมย์ รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และดำเนินการเบิกถอนเงินในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ทำให้การจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไม่เป็นไปตามราคาท้องตลาด และเกิดผลประโยชน์ในส่วนต่างราคากับสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น157,497,000 บาท และหรือดำเนินการทางแพ่งกับนายโกวิทย์ ในจำนวนเงินที่ราชการได้รับความเสียหายดังกล่าว
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในหนังสือ สตง. ที่แจ้งถึงนายกอบจ.บุรีรัมย์ ซึ่งนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีในอาญา กับ นางกรุณา พร้อมด้วย นายไตรเทพ และ นายโกวิทย์ และการดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการรายคน ร่วมถึง ตัวนายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ ด้วย
ส่วนทั้งหมด จะชี้แจงความบริสุทธิ์ ของตนเองได้หรือไม่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป
แบบห้ามกระพริบตากันเลยทีเดียว!