ปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาวลามทั้งจังหวัด! สตง.จี้ ปลัดมท. ฟัน 'ผู้ว่าฯ-2รองฯ' ด้วย
ไม่ใช่แค่ 'เมียเนวิน'! โครงการปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ฉาว ลามระดับจังหวัด! สตง. ร่อนหนังสือจี้ 'ปลัดมหาดไทย' ดำเนินการตามสมควรกรณี แก่ 'ผู้ว่าฯ -2 รองฯ' พร้อมจนท. เผยข้อกล่าวหาชี้มูล อนุมัติงบประมาณสนับสนุนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทำราชการเสียหาย-ขีดเส้น 60 วัน ไม่ดำเนินการเจอโทษวินัยด้วย
กรณี สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ให้ดำเนินดคีอาญากับ นางกรุณา ชิดชอบ นายกอบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง) นายไตรเทพ งามกมล รองนายกอบจ.บุรีรัมย์ และ นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ. ในความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ อบจ.จ.บุรีรัมย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,83
หลังถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปผลการตรวจสอบโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ประจำปี 2555-2557 รวมวงเงินทั้งสิ้น 328 ล้านบาท พบว่ามีการปัญหาเรื่องการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ราคาการจัดซื้อที่แพงกว่าท้องตลาด ปรากฎข้อเท็จจริงตามหนังสือสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ที่ลงนามโดย นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสตง. ที่ส่งถึง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 ที่ผ่านมา
โดย สตง.ได้แจ้งให้ อบจ.บุรีรัมย์ ดำเนินคดีอาญากับ นางกรุณา ชิดชอบ นายไตรเทพ งามกมล นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ และดำเนินคดีทางวินัยกับ นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ และนายประวิตร อุไรกุล รองปลัด อบจ.บุรีรัมย์ ในฐานะกรรมการโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ นายอดุลย์ กองชะนะ ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต นายวีรชน เสงี่ยมศักดิ์ นักพัฒนาชุมชน นายเทอดพงษ์ ปัญญากมล นักพัฒนาชุมชน 5 และ นางจิมรี่ ชิดนอก เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
นอกจากนี้ ยังให้ดำเนินการทางละเมิดกับ นายก อบจ.บุรีรัมย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณี อบจ.บุรีรัมย์ อนุมัติงบประมาณให้กับกลุ่มหรือชุมชนในปีงบประมาณ 2555-2557 ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงิน 24,301,000 บาท
รวมถึงดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง กรณี นายก อบจ.บุรีรัมย์ รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ สมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ อบจ.บุรีรัมย์ มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดหาปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และดำเนินการเบิกถอนเงินในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ทำให้การจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไม่เป็นไปตามราคาท้องตลาด และเกิดผลประโยชน์ในส่วนต่างราคากับสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 157,497,000 บาท และหรือดำเนินการทางแพ่งกับ นายโกวิทย์ ในจำนวนเงินที่ราชการได้รับความเสียหายดังกล่าว
(อ่านประกอบ : ปลัดอบจ.บุรีรัมย์ แจ้งความ'เมียเนวิน' หลังถูกสตง.ชี้มูลคดีแจกปุ๋ย 328 ล้าน, ฉบับเต็ม!ผลสอบปุ๋ยอบจ.บุรีรัมย์ เสียหายยับ157ล. ชนวนเหตุ 'เมียเนวิน-พวก' ถูกแจ้งความ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2559 นอกจากการทำหนังสือแจ้งถึง อบจ.บุรีรัมย์ ให้ดำเนินการคดีอาญาและวินัย กับ นายกอบจ.และผู้เกี่ยวข้อง ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว
สตง.ยังได้ทำหนังสือแจ้งถึง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ดำเนินการตามสมควรแก่กรณีกับ นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์ นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์ และคณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อบจ.บุรีรัมย์ ประกอบไปด้วย นายไพศาล สำราญทรัพย์ รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ นายเลิศพันธุ์ สินบรรเลงเสนาะ จ่า จ.บุรีรัมย์ นายแหลมทอง ประยงค์ นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์ นายกิมฮ้อ เหลืองประภัสร์ และนายวีระชัย ประยูรเมธา กรณีพิจารณาเห็นชอบให้ อบต.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรดำเนินงานโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ในปี 2556-2557 ซึ่งไม่เป็นไปตามหนังสือหลักเกณฑ์กระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท.0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 ข้อ 3.3 (คลิกดูรายละเอียดที่นี่ http://www.slideshare.net/valrom/08082-74-8-53) ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือ สตง. ฉบับนี้ ที่แจ้งถึง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า สตง. ได้ตรวจสอบกรณีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อบจ.บุรีรัมย์ ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ในปี 2555-2557 พบว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการที่กำหนด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
ผลการตรวจสอบสรุปว่า ปีงบประมาณ 2555-2557 อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่ม หรือชุมชน ที่เสนอโครงการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ในโครงการส่งเสริมอาชีพของคนบุรีรัมย์ ตามหนังสือหลักเกณฑ์กระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท.0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 เรื่อง การตั้งงบประมาณรายจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งปีงบประมาณ 2555 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตกรกร จำนวน 316 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 65,320,000 บาท ปีงบประมาณ 2556 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 440 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 94 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2557 อุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกร จำนวน 317 กลุ่ม เป็นเงินจำนวน 168,800,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 328,120,000 บาท
จากการตรวจสอบพบว่า อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกลุ่ม หรือ ขอสนับสนุนงบประมาณในโครงการและกิจกรรมที่กลุ่มได้ดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งไม่เป็นการเสริมสร้างความเข็มแข็งให้กับกลุ่มหรือชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาในโอกาสต่อไป จำนวน 51 กลุ่ม ทำให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ เป็นเงินจำนวน 24,301,000 บาท ซึ่งก่อน อบจ.บุรีรัมย์ ตั้งงบประมาณอุดหนุนเงินให้กับกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว ได้เสนอให้คณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่ อบจ.บุรีรัมย์ และผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ พิจารณาเรื่อง การตั้งงบประมาณเนื่องจากอุดหนุนเงินเกินกว่าร้อยละสิบ ตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 ข้อ 3. ซึ่งคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจฯ และผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ได้เห็นชอบ ให้อุดหนุนเงินกลุ่มเกษตรกรดังกล่าว
ขณะที่การอุดหนุนเงินดังกล่าว มีสมาชิกสภา อบจ.บุรีรัมย์ เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เนื่องจากการอุดหนุนเงินให้กลุ่มหรือ ชุมชนตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 ไม่มีระเบียบแบบแผนของทางราชการ ควบคุมการใช้จ่ายเงินเหมือนเช่นส่วนราชการ ทำให้การอุดหนุนเงินตามหลักเกณฑ์หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0808.2/ว 74 ลงวันที่ 8 ม.ค.2553 เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และเป็นการใช้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุนเงินอื่น นอกเหนือกว่าที่ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ในการให้บริการสาธารณะลงวันที่ 23 พ.ย.2552 ให้อำนาจไว้
เบื้องต้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ในการประชุมครั้งที่ 8/2559 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2559 อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 พิจารณากรณีดังกล่าว แล้วมีมติเห็นชอบด้วยกับผลการตรวจสอบของ สตง.ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณี กับบุคคลที่ปรากฎรายชื่อไปแล้ว
พร้อมขอให้แจ้งผลการดำเนินการดังกล่าว ไปยังสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 ภายในระยะเวลา 60 วัน ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 หากละเลยไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดจะมีความผิดทางวินัยตามมาตรา 63 แห่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542
ทั้งนี้ หากนับระยะเวลาจากวันที่ 8 มิ.ย.2559 จนถึงปัจจุบัน 4 ส.ค.2559 จะพบว่าผ่านมาแล้ว 57 วัน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังเหลือระยะเวลาแจ้งผลดำเนินการต่อ สตง.อีก 3 วัน
ส่วนจำนวนบุคคล ที่ถูก สตง. กล่าวโทษในคดีนี้ไปแล้ว จำนวนรวมทั้งสิ้น 16 ราย ได้แก่
@ อบจ.บุรีรัมย์
- นางกรุณา ชิดชอบ นายกอบจ.บุรีรัมย์ (ภรรยานายเนวิน ชิดชอบ อดีตนักการเมืองชื่อดัง)
-นายไตรเทพ งามกมล รองนายกอบจ.บุรีรัมย์
- นายโกวิทย์ นาวีสัมพันธ์ ส.อบจ.
- นายเศรษฐพร เบญจศรีรักษ์ ปลัด อบจ.บุรีรัมย์
- นายประวิตร อุไรกุล รองปลัด อบจ.บุรีรัมย์
- นายอดุลย์ กองชะนะ ผอ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- นายวีรชน เสงี่ยมศักดิ์ นักพัฒนาชุมชน
- นายเทอดพงษ์ ปัญญากมล นักพัฒนาชุมชน 5
- นางจิมรี่ ชิดนอก เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5
@ จังหวัดบุรีรัมย์
- นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์
- นายปรัชญา จินต์จันทรวงศ์ รองผู้ว่าราชการจ.บุรีรัมย์
- นายไพศาล สำราญทรัพย์ รองผู้ว่าฯ บุรีรัมย์
- นายเลิศพันธุ์ สินบรรเลงเสนาะ จ่า จ.บุรีรัมย์
- นายแหลมทอง ประยงค์
- นายกิมฮ้อ เหลืองประภัสร์
- นายวีระชัย ประยูรเมธา