สอบถึงไหน-เอาผิดใครได้ยัง? ข้อสังเกตคำสั่ง หน.คสช.พักงาน-ย้าย จนท.รัฐพันทุจริต
“…ปัจจุบันบุคคลตามรายชื่อทั้งหมด ถูกกล่าวหาร้องเรียนในเรื่องใด มีความคืบหน้าในการสอบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถึงไหนแล้วบ้าง มีใครบ้างที่ถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว และมีใครบ้างที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีความผิด และเยียวยา หรือคืนตำแหน่งให้หรือยัง ?...”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า ในห้วงเกือบ 3 ปีที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. บริหารงานแผ่นดินอยู่นั้น มีการออกคำสั่งในนามหัวหน้า คสช. ซึ่งมีสถานะเป็น ‘กฏหมาย’ ออกมานับร้อยฉบับ
โดยมีอย่างน้อย 6 ฉบับ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 16/2558, 19/2558, 1/2559, 33/2559, 43/2559 และ 44/2559 ที่ออกมาด้วยวัตถุประสงค์ต้องการ ‘ปราบทุจริต-คอร์รัปชั่น’ ตามที่เคยลั่นวาจาเอาไว้ตอนยึดอำนาจ ซึ่งทั้ง 6 ฉบับดังกล่าว คือคำสั่งที่ให้พักงาน-โยกย้ายบรรดาข้าราชการ ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนพัวพันกับการทุจริตประพฤติมิชอบ และอยู่ระหว่างการไต่สวน-สอบสวนข้อเท็จจริงจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
สำหรับรายชื่อของบรรดาข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ เท่าที่รวบรวมได้ขณะนี้มีทั้งหมด 258 รายชื่อ โดยส่วนใหญ่มาจากข้าราชการ-ผู้บริหารท้องถิ่นเกินครึ่ง ที่ถูกกล่าวหามีส่วนพัวพันกับการทุจริต
(อ่านประกอบ : แยกหมวดหมู่ 258 จนท.รัฐ-ผู้บริหารท้องถิ่นถูกคำสั่ง หน.คสช. พักงาน-โยกย้าย)
มีเพียงฉบับล่าสุด คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 44/2559 ที่สั่งพักงานนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากหน่วยงานความมั่นคงและทหาร ได้บุกค้นบ้าน-บริษัทเครือข่ายของนายบุญเลิศแล้ว เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการเผยแพร่จดหมายร่างรัฐธรรมนูญปลอม บิดเบือนเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง
(อ่านประกอบ : ม.44 สั่งพักงาน นายก อบจ.เชียงใหม่! หลังพบร่าง รธน.ปลอมบิดเบือนเนื้อหาว่อน)
อย่างไรก็ดีตามคำสั่งดังกล่าว มีข้อสังเกตหลายประการที่น่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปไว้ ดังนี้
หนึ่ง ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 5 ฉบับหลัง ล้วนอ้างอิงถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 16/2558 (ล็อตแรก) โดยมีสาระสำคัญคือ ให้พักงาน-โยกย้ายข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนพัวพันกับการถูกกล่าวหาเรื่องทุจริต และอยู่ระหว่างที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. และ สตง. ตรวจสอบ
คำถามคือ ปัจจุบันบุคคลตามรายชื่อทั้งหมด ถูกกล่าวหาร้องเรียนในเรื่องใด มีความคืบหน้าในการสอบข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถึงไหนแล้วบ้าง มีใครบ้างที่ถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว และมีใครบ้างที่ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีความผิด และเยียวยา หรือคืนตำแหน่งให้หรือยัง ?
เนื่องจากมีไม่กี่รายที่ถูกคำสั่งดังกล่าวพักงาน-โยกย้ายการปฏิบัติงาน ที่ปรากฏชื่อตามสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงจาก ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือ สตง. ไม่ว่าจะเป็น กรณีสั่งพักงานข้าราชการระดับสูงในกรมพลศึกษา และกรมท่องเที่ยว เนื่องจากพัวพันกับการฮั้วเอกชนในการเข้ามารับงานโครงการก่อสร้างสนามเด็กเล่น-เครื่องออกกำลังกายทั่วประเทศ หรือการสั่งพักงานนายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับข้าราชการระดับสูงในกรมสรรพากร เนื่องจากพัวพันกับกรณีทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท (ปัจจุบัน ป.ป.ช. ชี้มูลผิดไปแล้ว 2 ราย) เป็นต้น
แต่นอกเหนือจากนั้น โดยเฉพาะกรณีพักงาน-โยกย้ายข้าราชการ-ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น แหล่งข่าวจาก ศอตช. เคยเล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่พัวพันกับกรณีการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการเรียกรับเงินแสวงหาผลประโยชน์
แต่ก็ไม่ระบุข้อกล่าวหาให้ชัดเจน ?
มีแค่ไม่กี่รายเช่นกันที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าเข้าไปพัวพันกับเรื่อง ‘สีเทา’ ดังกล่าว เช่น กรณีพักงาน นายภัทรพล จำปารัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางแก้ว และ น.ส.เยาวลักษณ์ ดีเลิศ ผอ.กองคลัง อบต.บางแก้ว ที่ถูกกล่าวหาว่า เรียกรับเงินแสวงหาผลประโยชน์จากการเก็บขยะให้กับห้างสรรพสินค้าชื่อดังหลายแห่ง
(อ่านประกอบ : เปิดสัมพันธ์ลึก!นายก อบต.บางแก้ว-ผอ.กองคลัง ที่แท้ อดีต'ผัว-เมีย' ก่อนโดน ม.44 ฟัน)
ดังนั้นการที่ ศอตช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่อยมเปิดเผยข้อกล่าวหา ข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐที่เหลืออยู่อีกกว่าร้อยราย ย่อมอาจทำให้ชื่อเสียงของพวกเขาด่างพร้อยได้ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่าวัตถุประสงค์หนึ่งในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้ง 6 ฉบับนั้น เพราะมีการแทรกแซงจากกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหา ทำให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปได้ยาก ซึ่งหากเปิดเผยข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว สื่อจะได้ช่วยอีกแรงในการตรวจสอบ รวมถึงการสอบถามความคืบหน้าในการสอบสวน-ไต่สวนข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ และทำให้สาธารณชนสามารถรับทราบข้อเท็จจริงได้มากยิ่งขึ้น !
สอง กระบวนการตรวจสอบของ ศอตช. เกี่ยวกับรายชื่อข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่เปิดเผยเท่าที่ควร แม้จะเข้าใจได้ว่า เพื่อเป็นการป้องกันพยาน และไม่ให้มีผลกระทบถึงสำนวนการไต่สวนก็ตาม
แต่ขณะนี้กลับไม่มีการรายงานความคืบหน้าเลยว่า ปัจจุบันถึงขั้นไหนแล้ว เช่น หากเป็นการตรวจสอบทางวินัยจากหน่วยงานต้นสังกัด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหรือยัง หากเป็นการตรวจสอบในทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จหรือยัง มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้นับตั้งแต่ประกาศรายชื่อมา 258 ราย มีใครบ้างที่สามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ และได้รับการคืนตำแหน่งไปปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม หรือมีการเยียวยาชดเชยตำแหน่ง ตรงนี้ก็ไม่มีการประกาศออกมาเช่นกัน
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า แม้คำสั่งดังกล่าวจะทำเพื่อปราบปรามการทุจริต แต่ก็ ‘ไม่แฟร์’ กับผู้ถูกกล่าวหาบางราย ที่อาจถูกกลั่นแกล้งได้ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่า ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ-ผู้บริหารท้องถิ่นที่มีรายชื่อตามคำสั่งย่อมทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ดังนั้นในเมื่อมีการประกาศรายชื่อบุคคลที่ต้องถูกพักงาน-โยกย้าย เนื่องจากพัวพันการทุจริตแล้ว หากพบว่ารายใดไม่มีความผิด คสช. จำเป็นต้องออกคำสั่งเพื่อประกาศให้สาธารณชนรับทราบด้วย
สาม กระบวนการส่งรายชื่อให้ ศอตช. ดำเนินการก่อส่งให้หัวหน้า คสช. พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 ดังกล่าว มีข้อมูลถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ?
ยกตัวอย่าง ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 (ล็อต 4) ปรากฏชื่อของ นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฏ์ นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี รวมอยู่ด้วย
แต่ปัจจุบันนางศมานันท์ ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง และเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีแล้ว เนื่องจากจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯต่อ ป.ป.ช.
อย่างไรก็ดีนางศมานันท์ยังถูก สตง. ตรวจสอบช่วงสมัยดำรงตำแหน่งอยู่อย่างน้อย 2 กรณีด้วกยัน คือ กรณีการจ้างบริษัทเอกชนกำจัดขยะ และการจ้างเอกชนจัดงานไชน่าทาวน์ ซึ่งถูกร้องเรียนกล่าวหาว่า ดำเนินการไม่โปร่งใส
แต่ในเมื่อถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เหตุใดจึงมีการชงชื่อให้หัวหน้า คสช. สั่งพักงานนางศมานันท์ได้อีก ?
(อ่านประกอบ : มาช้าหรือมั่ว? ม.44 พักงาน‘นายกราชบุรี’ หลังศาลฎีกาฯฟันซุกบัญชีฯ 2 เดือนก่อน, เผยหนังสือ สตง.ชง ศอตช.ใช้ ม.44 พักงานนายกฯราชบุรีปมซื้อที่ดิน-จ้าง บ.กำจัดขยะ)
นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายวินัย สวัสดิวร เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. หรือบรรดาคณะกรรมการ สสส. ชุดที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานฯ ที่ถูกคำสั่งดังกล่าวพักงาน-ปลดพ้นตำแหน่ง
กระทั่งปัจจุบันได้พ้นวาระไปหมดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปจาก ศอตช. หรือ คสช. ว่า ตกลงพักงาน-ปลดพวกเขาด้วยเหตุผลอะไร และตรวจสอบข้อกล่าวหาในส่วนใด ?
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ส่วนจะมีบุคคลรายอื่นที่โดนกรณีเดียวกันแบบนี้หรือไม่ ปัจจุบันยังไม่อาจทราบหรือตรวจสอบได้ เพราะไม่มีการเปิดเผยข้อกล่าวหา และกระบวนการไต่สวนต่อสาธารณชนอย่างชัดเจน ตามที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้
ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกตในภาพรวมเกี่ยวกับกระบวนการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ในการพักงาน-โยกย้ายข้าราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีส่วนพัวพันกับการทุจริต
ท้ายสุดต้องรอดูกันต่อไปว่า กลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาเรื่องเหล่านี้ จะมีใครบ้างที่ถูกชี้มูลความผิด และใครบ้างที่แก้ข้อกล่าวหาได้สำเร็จ และได้รับการเยียวยา-คืนตำแหน่งต่อไป