มองย้อนเวลาโครงการเรือดำน้ำจีน...สิ่งที่คุณเห็น...กับสิ่งที่เป็นจริง
ประเด็นร้อนที่สุดเกี่ยวกับกองทัพในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นการจัดหายุทโธปกรณ์มูลค่าสูงของกองทัพเรือซึ่งก็คือเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดยล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กห. ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในวันที่ 4 ก.ค.59 โดยมีเนื้อหาที่ไม่ว่าใครที่ฟังแล้วก็จับอาการได้ว่า พล.อ.ประวิตร กำลังทุ่มสุดตัวในการผลักดันโครงการเรือดำน้ำให้อยู่ใน พรบ.งบประมาณประจำปี 60 ให้จงได้ อย่างไรก็ตามการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจชวนให้กลับมาคิดวิเคราะห์ย้อนกลับไปตั้งแต่เริ่มต้นได้หลายประการ
เป็นที่รู้กันอย่างลับๆ ในกองทัพเรือตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.59 ว่าวาระเรือดำน้ำกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาจาก ครม. พร้อมทั้งเสียงกำชับจากเบื้องบนต้องการให้ “เงียบที่สุด” ห้ามกำลังพลในกองทัพเรือพูดถึง จนคำว่า “เรือดำน้ำ” กลายเป็นคำต้องห้าม เพื่อป้องกันการรั่วไหลข่าวการดำเนินโครงการและลดกระแสต่อต้านซึ่งมีทั้งจากกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการที่กองทัพเรือจะมีเรือดำน้ำ และจากกลุ่มผู้ที่เคลือบแคลงความโปร่งใสในการจัดหาและสมรรถนะของเรือดำน้ำจีนที่เอาชนะเรือดำน้ำจากบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำที่ร่วมแข่งขันประกวดราคาจากเกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส สวีเดน และรัสเซีย ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการประกาศว่าโครงการดังกล่าวได้รับการ “เห็นชอบ” จาก ครม. แล้วหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในขณะนี้เนื้อหาของงบประมาณรายจ่ายประจำปี งป. 60 ก็ได้จัดสรรเงินจำนวน 700 ล้านบาท ไว้สำหรับ “โครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1” เรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจาก สนช. ในขณะที่ไม่ว่าทาง พล.อ.ประวิตร ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กห. และ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ต่างก็ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการเรือดำน้ำ “ยังไม่เข้า ครม.” ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการจัดหายุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงหลักหมื่นล้าน จำเป็นต้องได้รับการ “เห็นชอบ” จาก ครม. ก่อนที่จะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของสภาผู้แทนราษฎร หรือในยุค คสช. ก็คือ สนช. ได้
S26T....เรือที่ไม่เคยมี “สเปค”
โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีรายละเอียดซับซ้อนเช่นเรือดำน้ำจำเป็นต้องมีการวางแผนศึกษาเตรียมการล่วงหน้าเป็นปีๆ และที่สำคัญคือต้องมีการจัดทำ “สเปค” หรือที่ทางภาษาทหารเรียกว่าความต้องการฝ่ายเสนาธิการ (SR - Staff Requirement) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จะต้องเริ่มจากการพิจารณาตั้งแต่สภาวะแวดล้อมในการใช้งาน เช่น ในเรื่องของเรือดำน้ำก็ต้องดูกันถึงขั้นว่าจะใช้ในภารกิจใด ในพื้นที่ใด ความลึกน้ำเท่าใด ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นไปได้คือใคร ต้องใช้อาวุธประเภทใด ฯลฯ แต่แหล่งข่าวจากกองทัพเรือระบุว่าโครงการเรือดำน้ำถึงแม้มีการจัดทำ “SR” จากระดับผู้ปฏิบัติแต่ในที่สุดก็เป็นได้แค่ “ร่าง” เพราะเอกสารดังกล่าวก็ไม่เคยได้รับอนุมัติให้ใช้ และไม่ได้ถูกนำไปเป็นเอกสารอ้างอิงหลักในขั้นตอนการคัดเลือกแบบอย่างที่ควรจะเป็นตามหลักการ จึงไม่แปลกที่จริงๆ แล้วเรือดำน้ำสมัยใหม่ควรมีขนาดกะทัดรัดสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ชายฝั่งได้ แต่ผลสุดท้าย ทร. กลับ (จำต้อง) เลือกเรือดำน้ำขนาดใหญ่ระวางขับน้ำกว่า 2,500 ตัน มาใช้งาน ทั้งที่จริงแล้วประเทศคู่แข่งส่วนใหญ่ที่ต่างก็นำเสนอแบบเรือที่มีขนาดไม่เกิน 2,000 ตัน เท่านั้น
ภาพแสดงความไม่ปกติของกระบวนการจัดหาเรือดำน้ำ
1. ไม่มีการนำเอกสารความต้องการฝ่ายเสนาธิการ (SR - Staff Requirement) ซึ่งจะเป็นเอกสารกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นในรายละเอียดมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกแบบ
2. การคัดเลือกแบบจากเอกสารข้อมูลจำนวนมากจากผู้เสนอแบบ 6 บริษัท ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ ในช่วงเดือน มิ.ย.58
3. ปัจจุบันโครงการจัดหาเรือดำน้ำถูกบรรจุอยู่ในร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 60 และอยู่ระหว่างการพิจารณาจาก สนช. แล้ว
ภาพผลการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเทคนิคและกองเรือดำน้ำ เปรียบเทียบเรือดำน้ำแบบ S26T กับเรือดำน้ำแบบอื่นๆ
คณะกรรมการของกองทัพเรือ...คนรุ่นใหม่ที่ต้องลงไปทำงานในเรือ?
ในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ก.ค.59 ผู้สื่อข่าวยังได้ตั้งประเด็นสอบถามถึงแรงกดดันที่ทางรัฐบาล คสช. ส่งไปยังกระบวนการคัดเลือกแบบ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ตอบว่าไม่มีการกดดันจากกระทรวงกลาโหมแต่ทางกองทัพเรือได้ทำการคัดเลือกมาเองโดยมีมติเป็น “เอกฉันท์” รวมทั้งใช้ “เครดิต” ของตนเองยืนยันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเรือดำน้ำจีน พร้อมกล่าวว่ากองทัพเรือเป็นผู้ “ตัดสินใจเลือก” เรือดำน้ำจากจีนเอง
ในประเด็นนี้แหล่งข่าวจากกองทัพเรือยังได้เปิดเผยว่า ถ้าจำกันได้เกือบจะช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว (2 ก.ค.58) พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเคยออกมาระบุผลการพิจารณาเลือกแบบเรือดำน้ำว่า "กองทัพเรือ มีมติเป็นเอกฉันท์ จัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน จำนวน 3 ลำ ด้วยงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยคนรุ่นใหม่ จำนวน 17 คน จากกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ที่จะต้องเป็นผู้ไปอยู่บนเรือดำน้ำ โดย 14 คน ลงคะแนนเลือกเรือดำน้ำของจีน ประเทศเยอรมนี 2 คน และประเทศสวีเดน 1 คน" (สรุปแล้วเอกฉันท์ตรงไหน?!? – ผู้เขียน)
แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้พิจารณาคัดเลือกแบบเรือดำน้ำคือ “คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ” ซึ่งเป็นนายทหารระดับชั้นนายพลเรือแทบทั้งสิ้นที่มี พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เป็นประธาน โดยกองทัพเรือไม่ได้มีการลงคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการคัดเลือกแบบ” ตามหลักปฏิบัติในการจัดหายุทโธปกรณ์ทั่วไป แต่อย่างใด และกองทัพเรือได้แต่งตั้ง “คณะศึกษาข้อมูลสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ” โดยมี พล.ร.อ.สุริยะ พรสุริยะ อดีต ผบ.กองเรือดำน้ำคนแรก เป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบของรายงานและการบรรยาย (Presentation) ต่อที่ประชุม “คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ” ที่เป็นกลุ่มผู้ลงคะแนนจนได้ผลสรุปออกมาเป็นเรือดำน้ำจีนในที่สุด โดยใช้เวลาในกระบวนการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเรือดำน้ำทั้ง 6 แบบ ไปจนถึงการลงคะแนนเสียงเพียงประมาณ 2 สัปดาห์ เท่านั้น
แหล่งข่าวได้นำเสนอสิ่งที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อนซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความจริงนี้คือ “ข้อสรุป” ที่ “คณะศึกษาข้อมูลสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำ” ได้นำเสนอต่อ “คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ” ที่ห้องประชุมชั้น 5 กองบัญชาการกองทัพเรือในช่วงเดือน มิ.ย.58 ระหว่างกระบวนการคัดเลือกแบบ ซึ่งคณะศึกษาข้อมูลสำหรับโครงการจัดหาเรือดำน้ำได้ทำการประมวลผลข้อมูลจากเอกสารที่ทางบริษัทต่างๆ เสนอมาในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ขีดความสามารถ ความอยู่รอด ความพร้อมใช้งาน การส่งกำลังบำรุงและการฝึกอบรม บริษัทผู้ผลิต สิ่งสนับสนุน รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี ผลการพิจารณาดังภาพ (ชื่อของบริษัทผู้ผลิตรายอื่น ผู้เขียนขอปิดเป็นความลับเนื่องด้วยเงื่อนไขด้านกฎหมาย) จะเห็นได้ว่าเรือดำน้ำชั้น S26T ไม่ได้มีความพิเศษกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นแต่ประการใด มิหนำซ้ำยังมีบางรายการที่อยู่ในเกณฑ์ “ยอมรับไม่ได้” ทั้งในด้านความอยู่รอด (ความปลอดภัย) ประสบการณ์และความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิต และสิ่งสนับสนุน อีกด้วย
ดังนั้นคำสัมภาษณ์ของ พล.ร.อ.ไกรสร จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าหาก “นายทหารเด็กๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำ” เหล่านั้นเป็นกลุ่มบุคคลผู้เลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีนด้วยตนเองจริง เหตุใดจึงนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลของเขาเหล่านั้นจึงออกมาในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง
“เรือจากยุโรป 1 ลำ ซื้อเรือดำน้ำจีนได้ 3 ลำ”
ตรรกะง่ายๆ สำหรับเรื่องนี้การคือในช่วงต้นปี 58 กองทัพเรือได้ส่งจดหมายเชิญที่เรียกว่า Request for Offer – RFO ไปยังบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำต่างๆ ได้แก่ CSOC จากจีน DCNS จากฝรั่งเศส DSME จากเกาหลีใต้ ROSOBORONEXPORT จากรัสเซีย SAAB จากสวีเดน และ TKMS จากเยอรมนี ซึ่งทุกประเทศก็ได้จัดทำราคาภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพเรือประกาศ โดยนำเสนอเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ พร้อมอาวุธและระบบสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งการฝึก ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ยกเว้นประเทศจีนที่ในวันยื่นข้อเสนอโครงการก็ได้สร้าง “ความประหลาดใจ” ด้วยการแถมเรือดำน้ำมาอีก 1 ลำ รวมเป็น 3 ลำ ดังนั้นอัตราส่วนราคาที่ พล.อ.ประวิตร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เรือจากยุโรป 1 ลำ ซื้อเรือดำน้ำจีนได้ 3 ลำ” หรือ “มีเงินไม่พอซื้อเรือจากประเทศอื่น” จึงไม่สามารถเป็นไปได้เลยในทางคณิตศาสตร์ ซึ่งหากมองเผินๆ ก็อาจดูเหมือนกองทัพเรือได้ประโยชน์จากการลดแหลกแจกแถมครั้งนี้ แต่ทุกคนคงต้องยอมรับความจริงที่ว่า “ของถูกแต่ดี ของฟรี ไม่มีในโลก” กับ “คุณภาพตามราคา” นอกจากนั้นในเชิงการแข่งขันแล้วการเสนอแบบเกินเงื่อนไขในครั้งนั้นจริงแล้วเป็นการผิดเงื่อนไขด้วยซ้ำ
บทสรุป
ในยุค คสช. เรืองอำนาจ ที่ใช้การเมืองระหว่างประเทศประคองสถานภาพของรัฐบาล ในยุคที่การแสดงความคิดเห็นหรือนำเสนอข้อมูลต่างๆ อาจนำไปสู่การ “พูดคุยทำความเข้าใจ” ได้ง่ายๆ กองทัพเรือก็เป็นเพียงเบี้ยอันหนึ่งภายใต้การนำของ พล.ร.อ.ณะ ที่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร และยิ่งใกล้กับฤดูการโยกย้ายในวาระ ต.ค.59 ที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ สถานการณ์ขณะนี้จึงเป็นที่น่าจับตาว่าในที่สุดแล้ว กองทัพเรือและคนรุ่นใหม่ที่จะต้องอยู่รับราชการต่อไปในอนาคตจะ “จำต้อง” รับผลการตัดสินใจของ “ผู้ใหญ่วัยใกล้เกษียณ” และรับผิดชอบภาระอันใหญ่หลวงนี้ในอนาคต และน่าเสียดายที่จากเรือดำน้ำจากทั้ง 6 แบบ ที่หลายบริษัทเป็นผู้นำด้านการผลิตเรือดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับสากลและกองทัพเรือมีงบประมาณเพียงพอที่สามารถจัดหาได้จากทุกบริษัท แต่กองทัพเรือกลับไม่มีทางเลือก หรือจะเกิดปรากฏการณ์ “ฟ้ามีตา” ที่จะช่วยปกป้องกองทัพเรือให้รอดพ้นจากการจัดหายุทโธปกรณ์ที่ไม่ชอบมาพากลในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด
ภาพประกอบจาก springnews.co.th
อ่านประกอบ