อธิบดีกรมพัฒนาฯลั่นไม่เคยให้ธรรมกายสร้างศูนย์ปฏิบัติเขาใหญ่-'อดุลย์'สั่งเร่งผลสอบ
อธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ ยันไม่เคยอนุญาตวัดพระธรรมกายตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมเขาใหญ่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง แต่ยังไม่ฟันธงเป็นการกระทำฝ่าฝืนกม.หรือไม่ ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน ว่ามีการขออนุญาตสมัยใด ระบุชัดที่มาโฉนดที่ดินหากพบไม่ถูกต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เผย 'อดุลย์ แสงสิงแก้ว' สั่งเร่งรัดผลสอบโดยเร็ว
ความคืบหน้าการตรวจสอบศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิร์ลพีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ หรือ World peace valley ของวัดพระธรรมกาย ที่เข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ขณะที่ข้อกำหนดในพ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลการใช้ที่ดินในเขตนิคมสร้างตนเอง ระบุชัดเจนใน มาตรา 9 ว่า สมาชิกนิคมจะต้องใช้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทําประโยชน์ตามมาตรา 8 เฉพาะเพื่อทําการเกษตรตามระเบียบที่อธิบดีกําหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ถ้าจะทําการอย่างอื่นด้วยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี
(อ่านประกอบ : เปิดจุดตาย!'ศูนย์ปฏิบัติฯธรรมกายเขาใหญ่'สร้างอาคารใหญ่โตอลังการ ขออนุญาตหรือยัง?
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงเที่ยงวันที่ 24 มิ.ย.2559 ได้ติดต่อไปยัง นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้
นายพุฒิพัฒน์ ยืนยันว่าไม่เคยอนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติธรรม เวิร์ลพีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ วัดพระธรรมกาย ในพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง ซึ่งขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลว่า มีการทำเรื่องขออนุญาตตามกฎหมายเข้ามาหรือไม่
"ใช่ตามกฎหมายเป็นอำนาจผม แต่กำลังเช็คดูว่า ศูนย์ปฏิบัติธรรมได้ขออนุญาตสมัยไหน ผู้ถือครองที่ดินคือใคร มีการขออนุญาตเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบอีกทีหนึ่ง ส่วนเรื่องการตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมผมไม่มีอำนาจ ต้องถามสำนักพุทธอีกที" นายพุฒิพัฒน์ระบุ
ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีนี้ นั้น นายพุฒิพัฒน์ กล่าวว่า ได้มีการตรวจสอบและพบว่าที่ดินของศูนย์ปฏิบัติธรรมเวิร์ลพีซวัลเล่ย์ เขาใหญ่ วัดพระธรรมกายที่อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีทั้งหมด 480 ไร่ โดยใน 480 ไร่นี้ ตรวจสอบแล้วพบว่าส่วนหนึ่งเป็นเอกสารที่มีโฉนด และอีกส่วนหนึ่งเป็นเอกสาร น.ส.3
นายพุฒิพัฒน์ ชี้แจงต่อว่า นิคมสร้างตนเองลำตะคอง สร้างมาตั้งแต่ปี 2515 มีวัตถุประสงค์ คือ การอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนลำตะคองขึ้นมาอาศัยอยู่ด้านบน ตามกฎหมาย พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ มีการกำหนดกฤษฎีกาเพื่อขีดวงว่าพื้นที่นิคมประมาณ 2 แสนกว่าไร่ ซึ่งก่อนสร้างนิคมมีราษฎรที่อาศัยอยู่แล้ว เรียกว่า ราษฎรเดิม กับราษฎรที่อพยพขึ้นมาซึ่งเป็นสมาชิกของนิคม ที่จะต้องมีการจัดสรรที่ดินให้ แต่ในบริเวณที่เป็นเวิร์ลพีซวัลเล่ย์ ส่วนใหญ่เป็นราษฎรเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนที่นิคมจะเกิด ปี 2515 แต่อย่างไรก็ตามเมื่ออยู่ในเขตนิคมแล้วถึงแม้จะเป็นราษฎรเดิมจะต้องสมัครเป็นสมาชิกนิคมเพราะกรมที่ดินจะได้ออกเอกสารได้
“สำหรับการจัดสรรที่ดินทำกินมีขั้นตอนคือ เมื่อสมัครเป็นสมาชิกนิคมจะออกเอกสาร น.ค.1 หนังสือแสดงที่ดินทำกินให้ ถือครอง5ปี จากนั้นจะออกเป็น น.ค. 3 ประชาชนจึงจะสามารถเอาไปยื่นกับกรมที่ดินเพื่อขอเป็นโฉนดได้ โดยต้องถือครองอีก 5 ปี ถึงจะขายได้ แต่ในส่วนของผู้ถือครองที่ดินถึงแม้จะมีโฉนดแล้วก็ตาม ทางกรมพัฒนาสังคมฯ จะมอบหมายให้ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองลำตะคองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธร จ.นครราชสีมา ลงไปตรวจสอบความถูกต้องและที่มาของเอกสารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโฉนดที่ดิน,น.ค.1และ น.ค. 3”นายพุฒิพัฒน์ กล่าว
นายพุฒิพัฒน์ ยังระบุด้วยว่า ถ้าพบว่าที่มาของโฉนดไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่าโฉนดยังมีความถูกต้องอยู่ หลังจากที่ออกโฉนดแล้วไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมพัฒนาสังคมฯ แต่จะเป็นอำนาจของกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย ถึงอย่างไรเรื่องนี้ต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าที่มาของโฉนดถูกต้องหรือไม่อีกครั้ง
“ขณะที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้กำชับถึงเรื่องนี้อย่างเร่งรัด โดยภายในอาทิตย์หน้าจะมีข้อมูลที่ชัดเจนและจะรายงานถึงผู้บริหารระดับสูงต่อไป”นายพุฒิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ :
เปิดจุดตาย!'ศูนย์ปฏิบัติฯธรรมกายเขาใหญ่'สร้างอาคารใหญ่โตอลังการ ขออนุญาตหรือยัง?