รัฐเพิ่งตื่นสอบ จีที 200 - ไม่ผิดคาด...ไร้ชื่ออดีต ผบ.เหล่าทัพเอี่ยว!
ทั้งรัฐบาลและกองทัพเริ่มตื่นตัวในการหาช่องทางเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องตรวจวัตถุระเบิดลวงโลก "จีที 200" ที่ประเทศอังกฤษ และบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ภายหลังศาลอังกฤษมีคำสั่งยึดทรัพย์จำนวน 395 ล้านบาทจากอดีตผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ฉาวชนิดนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 22 มิ.ย.59 ว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปพิจารณาเรื่องนี้ใน 2 ประเด็น คือ
1.การเรียกร้องค่าเสียหายตามที่ศาลอังกฤษได้มีคำสั่งยึดทรัพย์เอาไว้ คิดว่าจะให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา
2.การเรียกร้องค่าเสียหายจากการจัดซื้อ หากพบว่ามีการหลอกลวงให้หน่วยงานใดจัดซื้อ หน่วยงานนั้นก็ต้องฟ้องร้องทางแพ่งกับผู้ที่หลอกลวง
ส่วนผู้ที่ดำเนินการจัดซื้อจะมีความผิดก็ต่อเมื่อพบการทุจริต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
ด้านความเคลื่อนไหวของกระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มิ.ย. เวลา 13.30 น. ที่กระทรวงโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้เป็นประธานการประชุมฝ่ายกฎหมายของเหล่าทัพ เพื่อติดตามความคืบหน้าการเรียกร้องค่าเสียหายจากการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ภายหลังส่งเรื่องไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญากับตัวแทนบริษัทผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่กองทัพบก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูลจากกรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งเป็นหน่วยที่เคยจัดซื้อ จีที 200 จำนวน 747 เครื่องเช่นกัน และได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินคดีกับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด (AVIA SATCOM CO.,LTD.) ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยไปแล้วด้วย
ส่วนความเคลื่อนไหวของ ป.ป.ช. นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คดี จีที 200 มีหลายสำนวน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วย สำนวนหลักเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหม อยู่ในความรับผิดชอบของ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช.
เบื้องต้นยอมรับว่า ประเด็นที่พิสูจน์ลำบากคือมีการทุจริตหรือไม่ เพราะหลายประเทศที่ซื้อเครื่องมือนี้ก็ถูกหลอกทั้งสิ้น ผู้ถูกกล่าวหาเท่าที่ทราบไม่พบว่ามีรายชื่อดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่จัดซื้อ
ขณะที่ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คดีนี้คั่งค้างมานาน และอยู่ในความสนใจของประชาชน จะต้องเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปชี้ขาดภายในเดือน ก.ย.นี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : DSI แจงคดี "จีที 200" – 16 หน่วยงานถูกหลอกขาย 1,398 เครื่อง เจ๊ง 1.1 พันล้าน!