DSI แจงคดี "จีที 200" – 16 หน่วยงานถูกหลอกขาย 1,398 เครื่อง เจ๊ง 1.1 พันล้าน!
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงอย่างเป็นทางการครั้งแรก กรณีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด "จีที 200" ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถใช้งานได้จริง
เกือบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นความคืบหน้าการตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ลวงโลก ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากมีข่าวว่าศาลประเทศอังกฤษมีคำสั่งยึดทรัพย์ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิต เป็นเงินราว 395 ล้านบาท โดยก่อนหน้านั้นได้สั่งจำคุกผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว
ทว่ารัฐบาลไทยกลับไม่สามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจนว่าการตรวจสอบดำเนินคดีเกี่ยวกับจีที 200 มีความคืบหน้าถึงไหน ทั้งๆ ที่ได้ทำการทดสอบอย่างเป็นทางการจนสรุปว่าเป็นอุปกรณ์ลวงโลกที่ไร้ประสิทธิภาพตั้งแต่ปี 2553 โดยทีมโฆษก คสช.อ้างว่าต้องสอบถามไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ
16 หน่วยงานอ้างถูกหลอกขายร่วม 1.4 พันเครื่อง-เจ๊งพันล้าน
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับข้อมูลชี้แจงจากดีเอสไอว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1.การสืบสวนการทุจริตการจัดซื้อ จีที 200 ของส่วนราชการ 11 หน่วยงาน สรุปว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานอาจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ “พ.ร.บ.ฮั้วประมูล” คดีในส่วนนี้ได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไต่สวนต่อตั้งแต่ปี 2554
2.การดำเนินคดีอาญากับบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือตัวแทนจำหน่วยเครื่องจีที 200 ซึ่งมีลักษณะฉ้อโกงหรือลวงขาย ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษจำนวน 16 คดี มีหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้เสียหายจากการจัดซื้อเครื่อง จีที 200 และอัลฟ่า 6 จำนวน 1,398 เครื่อง มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,134 ล้านบาท เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอรวม 15 หน่วยงาน ได้แก่
-สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
-กรมสรรพาวุธทหารบก
-จังหวัดพิษณุโลก
-กรมศุลกากร
-กรมการปกครอง
-กรมราชองครักษ์
-จังหวัดเพชรบุรี
-จังหวัดภูเก็ต
-ตำรวจภูธรจังหวัดสิงห์บุรี
-จังหวัดยะลา
-ตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท
-องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา
-ศูนย์รักษาความปลอดภัย
-กองทัพเรือ
-จังหวัดสุโขทัย
ผลการสอบสวนของดีเอสไอสรุปว่า มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาฐาน “หลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในสภาพ และคุณภาพแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 และได้ส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เมื่อเดือน ธ.ค.2557
ไม่มีคดีค้างที่ดีเอสไอ – ป.ป.ช.ทยอยแจ้งข้อหา
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ปัจจุบันไม่มีคดีอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ เพราะได้สรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องไปยังอัยการทั้งหมด ส่วนคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ทราบว่าได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาไปบ้างแล้ว
อัยการประสานอังกฤษขอหลักฐานฟันตัวแทนจำหน่ายในไทย
สำหรับกรณีบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเครื่อง จีที 200 และ อัลฟ่า 6 ในประเทศอังกฤษ และเป็นผู้แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยนั้น คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการประสานขอพยานหลักฐานจากทางการอังกฤษผ่านช่องทางการขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญา
โดยเมื่อประมาณเดือน ส.ค.2557 สำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลาง ได้ส่งคำร้องขออย่างเป็นทางการไปยังทางการสหราชอาณาจักร ผ่านช่องทางสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2537 แล้ว ซึ่งเมื่อได้พยานหลักฐานในส่วนนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้ดำเนินการสอบสวนต่อไป
พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ บอกด้วยว่า ในส่วนของคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดชาวอังกฤษ และศาลอังกฤษได้ตัดสินโทษไปแล้วนั้น ทางดีเอสไอจำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบ แต่ไม่ได้หมายความถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในประเทศไทย เนื่องจากได้รับโทษไปแล้ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ทหารที่ชายแดนใต้ เมื่อครั้งยังมั่นใจใช้ จีที 200