นโยบายยาเสพติดใหม่ พล.อ.ไพบูลย์ ย้ำชัดไม่ถือผู้เสพเป็นอาชญากรอีกต่อไป
พล.อ.ไพบูลย์ ระบุ แสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุม UNGASS 2016 ไม่เห็นด้วยให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เห็นด้วย ผู้เสพคือผู้ป่วย ยันไทยไม่พร้อมยกเลิกโทษประหารชีวิตกับยาเสพติด รับปากจะลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้สัดส่วนกับพฤติกรรม ด้านรศ.ดร.สังศิต ชี้ทางพฤตินัยถือเป็นการยุติการทำสงครามกับยาเสพติดที่เริ่มต้นสมัยทักษิณ
วันที่ 22 มิถุนายน พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ครั้งที่ 2/2559 เพื่อหารือแนวทางป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย ให้สอดคล้องกับทิศทางตามกลไกของที่ประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS 2016) รวมถึงหาแนวทางการควบคุมเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ทางด้านสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และให้ข้อมูลต่อสาธารณชน โดยเน้นการป้องกันในเชิงสาธารณสุข การเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในการรักษา พร้อมทั้งเสนอให้การลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นต้องได้สัดส่วนกับพฤติการการกระทำความผิด มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ
รมว.กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการประชุมทิศทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของโลก ซึ่งแต่เดิมนั้นการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นแนวคิดในเชิงสงครามยาเสพติด มาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี อีกทั้งแนวทางดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดของประชากรโลกได้ จึงได้มีการทำผลการวิจัยและปรับเปลี่ยนแนวคิดในหลายๆ ประเทศ และได้ผลสรุปในทิศทางของโลกว่า ควรคำนึงถึงการใช้วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาเชิงสาธารณสุขในแง่สุขภาพ โดยเน้นย้ำว่าผู้เสพคือผู้ป่วยเพราะการเสพ การใช้ยาเสพติดเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง รวมถึงให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงการรักษาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ผลจากที่ประชุม UNGASS ได้มีข้อเสนอต่างๆ มากมาย เช่น การเสนอให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เน้นให้ไม่มีโทษประหารชีวิตเกี่ยวกับคดียาเสพติด มีการรณรงค์ให้ทุกประเทศเลิกใช้คำว่า “สงครามยาเสพติด” เพราะการทำสงครามหมายถึงการละเมิดสิทธิ การเข่นฆ่า เป็นการใช้ชีวิตของมนุษยชาติในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ได้แสดงเจตนารมณ์ว่าเราไม่เห็นด้วยกับการให้ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่เห็นด้วยกับการทำให้ผู้เสพคือผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม เรายังไม่พร้อมที่จะไม่ใช้โทษประหารชีวิตกับยาเสพติด แต่จะลงโทษผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้สัดส่วนกับพฤติกรรมในการกระทำความผิด โดยประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายยาเสพติดเป็นประมวลยาเสพติดแล้ว ซึ่งผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิดจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง ส่วนผู้ที่เข้ามาเป็นแรงงานยาเสพติดหรือผู้เสพ ต้องได้รับการลงโทษที่เหมาะสม รวมไปถึงการคัดกรองและการแยกแยะ
สำหรับการประชุม ศอ.ปส. ในครั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปว่า นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นจะต้องประกอบด้วย การป้องกัน การปราบปราม การบำบัด และการฟื้นฟู รวมถึงยืนยันว่ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ส่วนในเรื่องของการเสพจะเน้นในเรื่องการบำบัดและฟื้นฟู โดยมีแนวคิดที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลัก ในการดูแล โดยกระทรวงยุติธรรมจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้การบำบัดและฟื้นฟูได้ผลอย่างแท้จริง ที่สำคัญเรื่องของการปราบปรามจะต้องกระทำอย่างจริงจังทั้งในประเทศและนอกประเทศ บทลงโทษจะต้องรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องจัดระบบการยอมรับแนวทางของ UNGASS ทั้งในส่วนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมด้านสาธารณสุข ด้านงบประมาณ และครอบคลุมทุกด้าน เพื่อก้าวสู่ทิศทางการแก้ไขปัญหาตามหลักสากลต่อไป
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะผู้ทำวิจัย โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง วาทกรรมยาเสพติด: อิสรภาพของผู้ต้องขังหญิง กล่าวภายหลังการประชุมถึงนโยบายใหม่เรื่องยาเสพติดของพล.อ.ไพบูลย์ จะไม่ถือว่าผู้เสพเป็นอาชญากรอีกต่อไป แต่จะใช้การบำบัดรักษาแทน
รศ.ดร.สังศิต กล่าวถึงกฎหมายฉบับปัจจุบัน หากจับผู้เสพที่มียาบ้า 2-3 เม็ดจะถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ถ้าสารภาพลดโทษเหลือจำคุก20 ปี ถ้ามียาบ้าตั้ง แต่ 15 เม็ดขึ้นไปกฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้ามีโทษถึงประหารชีวิต รับสารภาพมีโทษจำคุก30-40 ปี เพราะฉะนั้นในทางพฤตินัยเป็นการยุติการทำสงครามกับยาเสพติดที่เริ่มต้นสมัยที่ทักษิณเป็นนายกฯ และยุติการเข่นฆ่าผู้เสพและผู้รับจ้างขนยาเสพติด
"ส่วนการปราบปรามจะใช้การร่วมมือกับรัฐบาลพม่า ลาว และจีนในการปิดล้อมพื้นที่ๆผลิตยาบ้า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งไม่เคย มีรัฐบาลชุดไหนกล้าทำมาก่อน"
ตัวเลขสูงขนาดไหน ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ-สังคม จากนโยบายยาเสพติด 17 ปี