ลุยสอบปมซื้อจีที 200 แพง! ป.ป.ช. ยันไร้ ผบ.เหล่าทัพเอี่ยว-สรุป ก.ย.นี้
ป.ป.ช. ลุยสอบปมหน่วยงานรัฐจัดซื้อ GT 200 แพงเกินจริง ยันไร้ชื่อ ผบ.เหล่าทัพ เอี่ยว มีแค่หัวหน้าหน่วยงานที่โดนร้อง ตีตกปมเครื่องใช้งานไม่ได้ เหตุหลายประเทศก็โดนหลอกซื้อ เผยเรื่องร้อง กห. คืบไปมาก คาดสรุปสำนวนได้ ก.ย.นี้
จากกรณีศาลโอลด์ เบลีย์ ของอังกฤษ ตัดสินยึดทรัพย์สินมูลค่ากว่า ราว 395 ล้านบาท จากนายเจมส์ แมคคอร์มิค อดีตนักธุรกิจชาวอังกฤษ ผู้ต้องหาในคดีจำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม (GT200) เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่กองทัพบกไทย กำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและแนวทางปฏิบัติต่อกรณีนี้ เนื่องจากมีหน่วยงานราชการหลายแห่งที่จัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวเข้ามาใช้
ขณะเดียวกันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550 -2553 มีหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด หรือ GT200 มาใช้งาน รวมจำนวน 19 สัญญา คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 688,287,264.49 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
(อ่านประกอบ : 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์)
ทั้งนี้จากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดหรือ GT 200 รวม 4 สำนวน ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 42 ราย จำนวนเครื่องที่จัดซื้อ 760 เครื่อง รวมวงเงินทั้งสิ้น 693,726,000 บาท
(อ่านประกอบ : เปิด 12 คดีซื้อจีที 200! ป.ป.ช.สอบกราวรูด ขรก.-เอกชน 75 ราย-ทหารอื้อ 6 นายพล)
ล่าสุด นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า คดีดังกล่าวมีหลายสำนวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. เพราะมีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายหน่วย ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้กรรมการ ป.ป.ช. แต่ละคนไปดูแลตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่สำนวนหลักในคดีนี้จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในความ รับผิดชอบของนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศ จะเดินทางกลับประเทศไทยปลายสัปดาห์นี้ ส่วนประเด็นหลักในการตรวจสอบของป.ป.ช.จะดูเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างว่า มีการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริงหรือไม่ เพราะแต่ละหน่วยงานจัดซื้อเครื่อง GT 200 ในราคาไม่เท่ากัน ส่วนเรื่องประสิทธิภาพของเครื่อง GT 200 ที่ซื้อแล้วใช้งานไม่ได้ เป็นประเด็นที่พิสูจน์ลำบากว่า มีการทุจริตหรือไม่ เพราะหลายประเทศที่ซื้อเครื่องดังกล่าวต่างก็ถูกหลอกทั้งสิ้น โดยในผู้ถูกกล่าวหากรณีดังกล่าว เท่าที่ทราบไม่พบว่า มีรายชื่ออดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง รายชื่อผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าหน่วยงานที่จัดซื้อเครื่อง GT 200 เท่านั้น
ส่วนนาย วิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีนี้มีการรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ขณะนี้สำนวนการจัดซื้อเครื่อง GT 200 ในส่วนกระทรวงกลาโหม มีความคืบหน้ามาก ใกล้จะสรุปข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว เพราะมีการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างมาให้ข้อมูลเกือบครบแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาสรุปสำนวนอีกไม่นาน ซึ่งนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดว่า คดีใหญ่ที่คั่งค้างมานาน และอยู่ในความสนใจของประชาชน จะต้องเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปชี้ขาดภายในเดือน ก.ย. 2559
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสำนวนการไต่สวนการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 ที่ ป.ป.ช. กำลังตรวจสอบอยู่ มีทั้งหมด 4 สำนวน ได้แก่ 1.กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด และวัตถุระเบิดจีที 200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก ปีงบประมาณ 2550-2552 ที่ไม่มีการตรวจสอบราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้กองทัพบกต้องจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวในราคาแพงเกินจริง เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย ใน 12 สัญญา จำนวน 747 เครื่อง วงเงิน 683.9 ล้านบาท มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 39 ราย 2.กรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง โดยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิคส์ จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 2.5 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง 3.กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท จำนวน 1 ชุด วงเงิน 5.5 แสนบาท ในราคาแพงเกินจริง 4.กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 6 เครื่อง วงเงิน 6.7 ล้านบาท ในราคาแพงเกินจริง
อ่านประกอบ :
จนท.รัฐซื้อจีที200ไม่ผิด!สตง.การันตี'บิ๊กตู่'- ชงฟันอาญาแพ่งเอกชนคดีฉ้อโกง
ผู้ว่าฯสตง.สั่งรื้อคดีจีที200สอบใหม่-ส่งเรื่อง 'ศอตช.'สาวลึกตัวแทนขายในไทย