สปสช.แจงสัญญาที่กฤษฎีกาตีความ ไม่ได้ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ
สปสช.แจงข้อตกลงที่มีกับ สธ. เกี่ยวข้องกับคู่สัญญาของผู้สมัครเลขาธิการ สปสช.ที่ส่งให้คณะกรรมการกฤษีกาตีความ ใช้งบบริหารจัดการสำนักงาน ไม่ใช่งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ จึงไม่ได้ขัดกับสิ่งที่ คตร.และ สตง.แนะนำ
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเด็นสัญญาหรือข้อตกลงที่มีลักษณะนิติสัมพันธ์ ที่ สปสช.โดยมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้หารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเลขาธิการ สปสช.ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มีความเข้าใจผิดว่า สัญญาหรือข้อตกลงที่ สปสช.ทำกับกระทรวงสาธารณสุข อาจเป็นโมฆะ เพราะขัดกับข้อแนะนำของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ระบุว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต้องส่งให้กับหน่วยบริการสาธารณสุขเท่านั้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิด เพราะข้อตกลงที่มีลักษณะนิติสัมพันธ์ทั้ง 2 ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ตีความคุณสมบัติของผู้สมัครเลขาธิการ สปสช.นั้น เป็นข้อตกลงที่ใช้งบบริหารจัดการของ สปสช.ตามมาตรา 29 ไม่ได้ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 38 จึงไม่ได้ขัดกับ คตร.หรือ สตง.แนะนำ
ทั้งนี้ สปสช.ได้ส่งข้อตกลงที่มีลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.ที่ยังไม่เกิน 1 ปี ทั้งหมด 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการ ซึ่งเป็นผู้สมัครเลขาธิการ สปสช.เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการพิจารณาตีความ และข้อตกลง 2 ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ตีความ เป็นข้อตกลงที่ใช้งบบริหารจัดการของ สปสช.ตามมาตรา 29 ไม่ได้ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพตามมาตรา 38 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จึงไม่ได้ขัดกับข้อแนะนำของ คตร.และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ส่วนข้อตกลงฉบับที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ตอบข้อหารือมานั้น ถึงแม้เป็นข้อตกลงที่ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่ในข้อตกลงก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าเงินกองทุนส่งตรงไปที่หน่วยบริการประมาณ 1,000 แห่งในสังกัด สป.สธ.ไม่ได้ส่งให้กับกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด
รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ข้อตกลงทั้ง 3 ฉบับนั้น 2 ฉบับแรกคณะกรรมการกฤษฎีกาใช้ตีความและตอบข้อหารือมายัง สปสช.เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2559 มีดังนี้
1.ข้อตกลงดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียน ฟ้องร้องทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วยสันติวิธี ระยะเวลาตั้งแต่ 19 ธ.ค.2557 สิ้นสุด 30 มิ.ย.2558 ใช้งบบริหารจัดการของ สปสช.
2.ข้อตกลงดำเนินงานตามโครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อร้องเรียน ฟ้องร้องทางการแพทย์และสาธารณสุขด้วยสันติวิธี ปีงบประมาณ 2559 ระยะเวลาตั้งแต่ 18 ธ.ค.2558 สิ้นสุด 31 พ.ค.2559 ใช้งบบริหารจัดการของ สปสช.
ส่วนข้อตกลงฉบับที่ 3 นั้น เป็นข้อตกลงดำเนินงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณเรื่องการจัดระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care) แบบบูรณาการของหน่วยบริการในสังกัด สธ.ปีงบประมาณ 2559 ลงนามโดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ตอบข้อหารือมา และถึงแม้จะเป็นข้อตกลงใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ก็ส่งเงินกองทุนฯ ให้หน่วยบริการในสังกัด สป.สธ. โดยตรง
สำหรับผลการสรรหาเลขาธิการ สปสช. ซึ่งจะเหลือเฉพาะ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ แหล่งข่าวจากคณะกรรมการสรรหาฯ เปิดเผยว่า คะแนนที่ นพ.ประทีป ได้รับจากคณะกรรมการสรรหาฯ ในภาพรวมได้ 91 คะแนน ในคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเฉพาะคะแนนการแสดงวิสัยทัศน์จากคะแนนเต็ม 60 ได้ 57 คะแนน หรือร้อยละ 95 โดยเกณฑ์การให้คะแนนแบ่งเป็น ระดับการศึกษา (10 คะแนนเต็ม ได้ 8 คะแนน) บุคลิกและลักษณะการตอบโต้ (10 คะแนนเต็ม ได้ 8 คะแนน) ประสบการณ์ในการบริหารงาน (10 คะแนนเต็ม ได้ 9 คะแนน) ผลงานเชิงประจักษ์ (10 คะแนนเต็ม ได้ 9 คะแนน) และการแสดงวิสัยทัศน์ (60 คะแนนเต็ม ได้ 57 คะแนน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กฤษฎีกาชี้ นพ.วันชัย ขาดคุณสมบัติรับคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.
สปสช. หารือกฤษฎีกาลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็นเลขาธิการ