กฤษฎีกาชี้ นพ.วันชัย ขาดคุณสมบัติรับคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.
กฤษฎีกาชี้ 'นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์' ผู้ตรวจราชการ สธ.ขาดคุณสมบัติ เข้ารับคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. ทำให้เหลือ 'นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ' อดีต รก.เลขาธิการ สปสช.ผ่านการเสนอชื่อ เตรียมนำเข้าประชุมบอร์ด สปสช. 4 ก.ค.นี้
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งบันทึกเรื่องเสร็จที่ 781/2559 ตีความลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเเห่งชาติ (สปสช.) สรุปว่า
ปัญหาข้อกฏหมายดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญ สมควรต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงให้มีการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 เป็นกรณีพิเศษ
มาตรา 32 (12) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ว่า ต้องไม่เป็นหรือภายใน 1 ปีต้องไม่เป็นกรรมการ ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.
กรณี นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตามข้อ 3 (2) (ญ) แห่งกฏ ก.พ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ตรวจราชการของส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง เป็นตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ประกอบกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ทำข้อตกลงโครงการพัฒนาระบบจัดการข้อร้องเรียนฟ้องร้องทางการแพทย์และสาธารณสุข กับ สปสช.ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2558 สิ้นสุดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 (ยังไม่เกิน 1 ปี) ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาผูกพันเป็นนิติสัมพันธ์ ในลักษณะเป็นคู่สัญญา
ดังนั้น นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามในการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช. ตามมาตรา 32 (12)
ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 10 มีข้อสังเกตว่า หากกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ประสงค์จะเปิดโอกาสให้มีความหลากหลายของบุคคลซึ่งจะสมัครเลขาธิการ สปสช.ก็ควรดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32 (12) ให้สอดคล้องกับความประสงค์ดังกล่าว
จากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวทำให้ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของผู้สมัครและผ่านการสรรหาขาดคุณสมบัติทำให้ขณะนี้มีเพียง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช.ที่ผ่านการสรรหารอเข้าสู่การพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่รับรองจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 4 กรกฏาคม นี้
กรณีถ้าวันนั้นบอร์ด สปสช.เสียงข้างมากไม่รับรอง ก็จะต้องเริ่มกระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ใหม่โดยเริ่มจากการสรรหาจากผู้สมัครเดิม ถ้าไม่ได้จึงจะเปิดสมัครใหม่ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนก่อนที่จะได้ เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ทำให้หลายคนเป็นห่วงงานบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีผลต่อประชาชน 48 ล้านคน
รายงานข่าวจากแหล่งข่าวใกล้ชิด รมว.สาธารณสุข แจ้งว่า รมว.สาธารณสุขได้ตัดสินใจจะให้กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.เสร็จภายในการประชุมบอร์ด สปสช.ในวันที่ 4 กรกฏาคม นี้ อย่างแน่นอน แม้จะมีกรรมการบางคนยังพยายามจะให้มีการส่งตีความในประเด็นอื่นอีก ซึ่งต้องจับตาการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งหน้านี้ว่าผลจะรับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรักษาการเลขาธิการ สปสช.ที่ผ่านการสรรหาด้วยคะแนน 91 เต็ม100 คะแนนหรือไม่
โดยคณะกรรมการสรรหาที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ได้กำหนดเกณฑ์ไว้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1.การศึกษา 2.บุคลิกลักษณะ 3.ความสามารถในการสื่อสาร 4.ความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และ 5.การตอบ 4 คำถามของกรรมการสรรหา