นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์:'มวยเด็ก' ไม่ควรอ้างวัฒนธรรม-การตอบแทนคุณ
“เรามั่นใจว่าทักษะในการในการชกมวยไทย เป็นคนละเรื่องกันกับการเอาเด็กขึ้นไปชกในมวยอาชีพ และเกิดการบาดเจ็บบนเวทีมวย”
ภาพความชินตาของเวทีมวยรุ่นเล็กที่มีอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน หลายคนสนุกไปกับเกมบนสังเวียน แต่เมื่อไม่นานมานี้ทางทีมแพทย์และนักวิจัยจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เปิดเผยผลการวิจัยสมองของนักมวยเด็ก พบว่า สมองในนักมวยเด็กนั้นได้รับความเสียหาย โดยลักษณะที่พบส่วนใหญ่คือ ใยประสาท และเซลล์สมอง ฉีกขาดออกจากกัน อันเกิดจากแรงกระแทกบริเวณศีรษะ การเกิดภาวะเสียหายของใยประสาทและเซลล์ประสาท รวมไปถึงปริมาณธาตุเหล็กที่สูงนั้น ทำให้เกิดภาวะของสมองรวน และส่งผลทางด้านความจำ สมองเสื่อม เมื่อภาวะน้ำในสมองมาก จนอาจสกัดกั้นการเจริญเติบโตในสมอง
อ่านประกอบ:'มวยเด็ก' พุ่ง 3 แสนพบทั่วประเทศ นักวิจัยชี้เสี่ยงสมองเสื่อม ไอคิวต่ำ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสพูดคุยกับ 'รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์' ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ซึ่งถือเป็นนายเเพทย์ท่านแรกๆ ที่บุกเบิกงานอุบัติเหตุในเด็กของประเทศไทย
รศ.นพ.อดิศักดิ์ เล่าให้ฟังถึงประเด็นเรื่องการวิจัยสมองในนักมวยเด็กว่า เราต้องการจะรักษาศิลปวัฒนธรรมของไทย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูเเลสมอง ของเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ วันนี้มีการพุดคุบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน ค่ายมวยต่างๆ ทุกคนเริ่มเห็นพ้องกัน และจากการประเมินของเราพบว่า ค่ายมวยที่นำเด็กมาตรวจนั้นมีความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กและครูมวยที่ดี แต่ละคนมีการดูเเลเด็กที่ดี เด็กที่มารับการตรวจกับเราเกือบทั้งหมดได้รับการศึกษา บางคนมาจากครอบครัวยากจน ก็ได้รับการศึกษา ได้ระเบียบวินัย เป็นความรักความเอาใจใส่ของค่ายมวย ซึ่งเทียบกับในอดีตเราอาจจะได้ยินการบังคับเด็กในค่ายมวยต่างๆ นานา แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้อเสียยังมีอยู่ เช่น การขึ้นชกบ่อยเกินไป ซึ่งอาจไม่ได้ตั้งใจเลยทีเดียว แต่เมื่อผลวิจัยออกมา ทุกคนก็ให้ความสนใจเลยทีเดียว
@ครูมวยบอกว่านักมวยที่ดีต้องผ่านการซ้อมที่หนัก
เรื่องนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ มองว่า ถ้าเราอยากฝึกให้เด็กเก่งในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใช้การฝึกที่ทำลายสมองในวัยเด็ก คนที่จะไปสู่จุดสูงสุดในอาชีพนี้มีน้อย หลายคนที่ไปไม่ถึงดวงดาว ก็ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพปกติได้ หรือเรียนหนังสือต่อ ซึ่งเชื่อว่า ครูฝึกที่เป็นพี่เลี้ยงอาจสงสัยว่าเป็นได้หรือ แต่ถ้าได้คุยกันจริง ด้วยความห่วงใยของเรา จะทำให้เกิดการรับฟัง และสร้างการเปลี่ยนแปลง
@มวยไทยเป็นวัฒนธรรม ถ้าไม่ให้เด็กขึ้นต่อย แบบนี้วิญญานนายขนมต้มคงร้องไห้
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ความเคยชินที่เรายอมรับสภาพนี้มานานเกินไป ผมไม่คิดว่าสิ่งที่จะดำเนินการต่อไปจะทำนายขนมต้มร้องไห้ เพราะเชื่อว่าถ้าเขาเกิดมาในยุคสมัยนี้ เขาจะทำสิ่งเดียวกัน เพื่อหยุดยั้ง การชกมวยของเด็กในวัยที่ต่ำกว่า 15 ปี และความพยายามที่จะทำให้มวยไทยศิวิไลซ์มากขึ้น ไม่ใช่เเค่เรื่องของความป่าเถื่อน จะช่วยให้เด็กทั่วโลกมาเล่นได้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งยังขยายเรื่องราววัฒนธรรมไปได้ไกล มิหนำซ้ำนายขนมต้มอาจดีใจด้วยซ้ำ
“เรามั่นใจว่าทักษะในการชกมวยไทย เป็นคนละเรื่องกันกับการเอาเด็กขึ้นไปชกในมวยอาชีพ และเกิดการบาดเจ็บบนเวทีมวย” เขากล่าว และว่า เราสามารถพัฒนาความเก่งกาจของแม่ไม้มวยไทยได้ โดยที่ไม่ต้องเอาเด็กไปเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ จนกว่าร่างกายและอายุเขาจะพร้อม
ถ้าเรากลับไปดูมวยสากล เขาจะมีกติกาที่ต้องมีการปกป้องเด็ก จริงอยู่ว่าการฝึกซ้อมมวยแต่เล็กๆ จะสร้างความชำนาญให้กับเด็ก แต่การสร้างความชำนาญก็ไม่จำเป็นต้องเอาเด็กขึ้นไปไล่ทุบกันบนเวที เราไม่ควรเอาสองเรื่องนี้มาปนกัน
@อายุเท่าไรถึงจะปลอดภัย
ต้องเรียนให้ทราบว่าสมองของคนเราจะเติบโตไปเรื่อยๆ จนอายุ 30 กว่า แล้วค่อยๆ ลดลง รศ.นพ.อดิศักดิ์ อธิบายพัฒนาการทางสมองของมนุษย์ก่อนจะสรุปข้อเท็จจริงให้ฟังว่า ฉะนั้นระยะเวลาปลอดภัยไม่มี เราจะเห็นว่า แม้กระทั่งนักมวยรุ่นใหญ่ที่ต่อยไปนานๆ ก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตโดยเฉพาะเรื่องของสมอง หรือการสั่งการ
@แต่ครูมวยยืนยันว่ามวยไทยไม่มีการต่อยศีรษะ
ถ้าการชกมวยเพื่อการน็อค ยังไงก็ต้องเล็งศีรษะ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เด็กจะถูกต่อยบริเวณหัว 40 หมัดต่อหนึ่งยก เพราะเป้าหมายสูงสุดของแต่ละแมตช์คือการน็อคคู่ต่อสู้ให้ได้
@ทำไมเด็กถึงสามารถต่อยอาชีพได้ กฎหมายมีช่องโหว่หรือเปล่า
รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.มวยเป็นจุดเเรกที่ต้องแก้ไข เพราะ พ.ร.บ.มวยอาชีพในนั้นมีนิยามว่านักมวยคืออะไร เงินรางวัลเท่าไร ดังนั้นพ.ร.บ.ดังกล่าวจึงเขียนขึ้นเพื่อการประกอบอาชีพโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดว่านักมวยต้องอายุเกิน 15 ปี แต่มามีปัญหาว่ามีนักมวยเด็กชกมวยมากมาย และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นนักมวยเถื่อน กฎหมายไม่คุ้มครอง เมื่อบาดเจ็บต้องรักษาตัวเอง คนที่ร่างตอนนั้นก็พยายามหาทางออกครึ่งทาง โดยการเอาเด็กมาลงทะเบียน เพื่อให้เด็กมีตัวตน เลยมีมาตราที่ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ชกได้ แต่ต้องมีผู้ปกครองมารับรองในลงทะเบียนครั้งแรก
ณ วันนี้ผู้ที่ทำงานด้านกีฬาและทำงานคุ้มครองเด็ก เห็นพ้องกันเเล้วว่า เด็กไม่ควรไปประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะอาขีพที่เป็นอันตราย อาชีพที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ทั้งยังไปผิดหลักการของ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอีกด้วย กฎหมายสองตัวเลยขัดแย้งกัน หรือแม้แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานเองก็ไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ประกอบอาชีพ
เขาระบุต่อว่า สิ่งแรกต้องทำเพื่อการจัดการปัญหาเรื่องนี้ คือ ต้องตัดมาตราที่บอกว่าให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลงทะเบียนเป็นนักมวยอาชีพได้ ออกไปก่อน ไม่สามารถประกอบอาชีพนักมวยได้ แล้วค่อยไปร่างพ.ร.บ. หรือออกกฎระเบียบใหม่ เกี่ยวกับกีฬามวยสมัครเล่นอีกฉบับหนึ่ง ให้เป็นเรื่องของกีฬา ไม่ใช่เรื่องของอาชีพ
“ เราอยากให้อยู่ แต่ให้อยู่อย่างปลอดภัย ต้องไม่ทารุณกรรม ต้องไม่ต่อยเพื่อทดแทนคุณ ไม่ใช่หน้าที่ของเด็ก เราต้องเอามวยมาทำเป็นศิลปะป้องกันตัว ต้องร่างระเบียบวิธีการ เกี่ยวกับการกีฬามวยฉบับใหม่ ทั้งมวยสมัครเล่นและอาชีพ โดยหลักการคร่าวๆ เช่นอายุน้อยกว่า 9 ปี ต้องไม่ใช่การปะทะ เเต่เป็นการรำมวย หรือโชว์ท่าทาง แข่งขันกันแบบไม่มีการปะทะ อายุ10-15 ปี กีฬาที่เน้นความสวยงาม มีการใส่เครื่องป้องกัน โดยไม่เน้นการน็อค หรือศีรษะ เป็นต้น ” รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวในตอนท้าย
อ่านประกอบ:เปิดใจค่ายมวย (เด็ก)
ขอบคุณภาพประกอบรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จากhttp://csip.org/wordpress/wp-content/uploads/2015/05/11114045_858940224154186_1987229109186569550_o.jpg