- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปิดใจค่ายมวย (เด็ก)
เปิดใจค่ายมวย (เด็ก)
"มวยไทยเป็นศิลปะของคนไทยอยู่เเล้ว มันไม่มีเจ็บหรอก มีแต่จะแข็งเเรง" ประโยคคลาสสิคที่เรามักได้ยินบ่อยๆ เวลาพูดถึงเรื่องกีฬาเตะ ต่อย อย่างมวยไทย แต่กลับต้องตกใจเมื่อมีผลวิจัยชี้ว่า นักมวยเด็กนั้นเสี่ยงต่อสมองเสื่อมเร็วกว่าเด็กปกติ หลายเท่า เรื่องนี้สำหรับคนในวงการมวย พวกเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
เมื่อเร็วๆ สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง“การบาดเจ็บของสมองในนักมวยเด็ก” โดยมีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี นำทีมโดยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งจากผลการวิจัยนั้นพบว่า สมองในนักมวยเด็กนั้นได้รับความเสียหาย โดยลักษณะที่พบส่วนใหญ่คือใยประสาท และเซลล์สมอง ฉีกขาดออกจากกัน อันเกิดจากแรงกระแทกบริเวณศีรษะการเกิดภาวะเสียหายของใยประสาทและเซลล์ประสาท รวมไปถึงปริมาณธาตุเหล็กที่สูงนั้น ทำให้เกิดภาวะของสมองรวน และส่งผลทางด้านความจำ สมองเสื่อม เมื่อภาวะน้ำในสมองมาก จนอาจสกัดกั้นการเจริญเติบโตในสมอง (อ่านเพิ่มเติม:'มวยเด็ก' พุ่ง 3 แสนพบทั่วประเทศ นักวิจัยชี้เสี่ยงสมองเสื่อม ไอคิวต่ำ )
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีเด็กจำนวนมากเดินเข้าสู่อาชีพนี้นั่นคือเรื่องรายได้ การหารายได้เผื่อจุนเจือครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากปัญหาพื้นฐานตรงนี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ ตามชุมชนริมทางรถไฟยมราช และชุมชนบริเวณแยกอุรุพงษ์ เพื่อพูดคุยกับค่ายมวยถึงรูปแบบการจัดการภายในค่าย รวมไปถึงสอบถามในเรื่องผลงานวิจัย กับความเห็นของคนในวงการมวย
ริมทางรถไฟยมราช มีค่ายมวยแห่งหนึ่งที่รู้จักกันในนามค่ายมวย ป.ลาเสือ มี "สุนีย์ ทุมทา"เป็นผู้ดูเเล
สุนีย์เล่าให้ฟังว่า ค่ายมวยเเห่งนี้เปิดนานกว่า 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมีนักมวยอายุตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไปถึง 20 ปี ส่วนหากอายุมากกว่านี้ก็จะไม่ค่อยต่อยกันเเล้ว จะมาเป็นเทรนเนอร์บ้าง หรือไม่ก็ไปทำอาชีพอื่นแทน
นักมวยคนหนึ่งจะต่อยได้นานแค่ไหน เธอบอกว่า ขึ้นอยู่ที่การดูเเลร่างกาย บางคนไม่ดูเเลร่างกายก็ไม่เกิน 25 ปีก็ต้องเลิก
"ตอนนี้ที่ค่ายมีนักมวยที่นอนพักประจำอยู่คนเดียวและที่เหลืออยู่ตามครอบครัว ทางค่ายก็ดูเเลทุกอย่าง ทั้งอาหารการกิน การซ้อม มีเบี้ยเลี้ยงให้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ปัจจุบันมีต่างชาติเข้ามาด้วย ก็รายได้จะมาจากส่วนนั้น ส่วนคนไทยหากจะมาเรียนมวยก็ไม่คิดค่าบริการ”
ตารางการซ้อมมวยต่างๆ ของค่ายแห่งนี้ถูกจัดวางไว้อย่างหลวมๆ เพราะ "สุนีย์" อธิบายว่า ทางค่ายเน้นให้เด็กนักมวยทุกคนต้องเอาเรื่องการเรียนมาเป็นหลัก ส่วนเรื่องซ้อมมวยต้องรอให้เลิกเรียนถึงจะมาซ้อมกัน แต่ถึงเวลาซ้อมก็ซ้อมอย่างจริงจัง
“เริ่มซ้อมกันบ่าน 4 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนเสาร์อาทิตย์หยุดให้เด็กได้พักผ่อน” ผู้ดูแลค่ายมวย ป.ลาเสือ ยังเล่าย้อนให้ฟังถึงเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งค่ายมวยให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมที ก็เริ่มจากความชอบ หลังๆ ก็มีเด็กเข้าเยอะขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ยากจน พ่อแม่ก็ส่งเข้ามาเรียนมวยที่ค่าย ค่ายมวยตรงนี้ก็เปรียบได้เป็นจุดดูเเลเด็กให้พ้นจากยาเสพติด จากติดเกมส์ ให้เด็กมีกิจกรรมทำ ส่วนใหญ่เราเน้นกันที่จุดนี้
สำหรับข้อมูลที่หลายคนคงทราบนั้นคือ เด็กส่วนใหญ่มาชก เพราะต้องการหาเงิน ซึ่งแน่นอนปัจจัยหลักมาจากฐานเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งจากการสำรวจของงานวิจัยพบว่า ตัวเลขของนักมวยเด็กนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
ล่าสุดคาดว่าน่าจะมีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 3 แสนคน เรื่องนี้เมื่อได้ลองพูดคุยกับทางค่ายป.ลาเสือ "สุนีย์" เล่าว่า ค่ายนี้เด็กจะไม่ค่อยต่อยตามเวทีเยอะ จะต่อยเฉพาะเทศกาลเท่านั้น ตอนนี้ที่ค่ายมีเด็กต่ำกว่า 15 ปีอยู่ 3 คน แต่ส่วนมากมาซ้อมเฉยๆ ขึ้นเวทีบางครั้งสองครั้ง เวลาไปเปรียบมวยต้องรุ่นเดียวกัน ไม่ชกข้ามรุ่น รุ่นที่ว่า รวมไปถึงประสบการณ์การต่อยมวยด้วย และดูยกตามยก หากไม่ไหวก็ต้องยอม
แต่สำหรับเวทีมวยเด็กตามต่างจังหวัด เธอบอกว่าจะต่อยบ่อยมาก แต่ที่ค่ายจะให้นักมวยทุกคนเรียนก่อน หากตรงเวลาเรียนก็จะไม่ให้ไป ซึ่งค่าตัวต่อครั้ง 500 ถึง 1,500 บาท ส่วนใหญ่เด็กที่มาเป็นเด็กจนตามละแวกนี้ ที่ค่ายมีมาไกลๆ ก็จากใต้หลายคน แต่ตอนนี้เลิกกลับไปหมดเเล้ว
"สุนีย์" ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในต่างจังหวัดมวยเด็กจะเยอะ และต่อยบ่อยมาก โดยเฉพาะเวทีตามงานวัดจะต่อยกันบ่อย พนันกันทีหากมวยเก่งก็หลักพันขึ้นไป ขึ้นอยู่ตามความสามารถของมวย โดยปกตินักมวยจะหักค่าตัวกับค่าย 60/40 ค่ายจะได้ไป 40% แต่สำหรับที่ค่ายนี้ได้เท่าไร ก็ให้นักมวยทั้งหมด
และเมื่อได้ลองพูดคุยถึงงานวิจัยจากโรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง อาการบาดเจ็บในนักมวยเด็ก เธอเห็นด้วยกับแนวคิดในเรื่องการของผลักดันนโยบายเพื่อให้มีการคุ้มครองเด็ก โดยจัดให้มวยเด็กนั้นเป็นเพียงกีฬาที่มีกติกาแตกต่างจากผู้ใหญ่ และยังเห็นด้วยในการสนับสนุนเวทีแข่งขันแบบ แสดงฝีไม้ลายมือ ท่าทางมวยต่างๆ
"ส่วนตัวเห็นด้วย อยากให้มี เพราะมวยเด็กต่อยบ่อยก็จะเสื่อมง่าย จากเรียนเก่งๆ ถอยหลังหมด ปกติของค่ายเรา ทุกคนต้องเรียนมากก่อน มีเวทีโชว์ มีเวทีแข่งขันรำมวยอยู่ ก็อยากให้สนับสนุนจริงจัง มีเงินรางวัลที่ดี ก็ช่วยตัดปัญหามวยเด็กไปบ้าง” สุนีย์ เสนอไว้อย่างน่าสนใจ
เดินไปอีกไม่ไกล จากทางรถไฟยมราช จะพบกับค่ายมวยอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสุนีย์แนะนำว่า ค่ายนี้มีขนาดใหญ่กว่า และมีเด็กเยอะกว่า อยู่บริเวณใต้ทางด่วนอุรุพงษ์
ค่าย ส.พูลสวัสดิ์ ที่นี้เราพบกับ ทรงศักดิ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเทรนเนอร์ของที่นี้ หัวหน้าเทรนเนอร์เล่าให้ฟังว่า ทางค่ายเปิดมานานแล้วกว่า 20 ปี สอนทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้น จนไปถึงมารยาทการต่อยมวย และยังสนับสนุนเรื่องการศึกษา เพราะทางเจ้าของค่ายต้องการให้เด็กห่างไกลยาเสพติด เราก็ออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่างเด็ก เด็กๆ ที่มามีตั้งแต่เล็กๆ ป.1 มาเรียน ตอนนี้มีเด็กๆ ประมาณ 20 กว่าคน มีผู้หญิงอยู่ 2-3 คน ส่วนนักมวยรุ่นใหญ่ๆ ก็มี 2-3 คน เช่นกัน
“ส่วนใหญ่เด็กมากันเอง สมัครใจมา บางทีเห็นเพื่อนต่อยได้ตังค์ก็อยากมาด้วย ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็สนับสนุน ไม่เคยมีคนไหนมาห้ามลูกชก เวลาเราสอนเราก็บอกว่าบนเวทีเราเป็นนักสู้ ด้านล่างเราไม่ใช่นักเลง เราสอนอะไรดี อะไรไม่ดี ส่วนใหญ่เด็กมาเพราะชอบ เด็กจะดีไม่ดี อยู่ที่ตัวเด็กเอง
ถามว่าเด็กอันตรายไหม เขาเห็นว่า เป็นนักมวยก็แข็งแรงอยู่เเล้ว ไม่มีเจ็บ เจ็บบ้างก็ธรรมดา เวลาเด็กขึ้นชกก็ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันอะไร เราดูเเลตลอด หากเราแข็งเเกร่ง ไม่มีอะไรทำเราได้
หัวหน้าเทรนเนอร์ค่ายริมทางรถไฟแห่งนี้ ให้ความเห็นต่อไปว่า ต่อยมวยเป็นศิลปะของคนไทยอยู่เเล้ว "มันไม่มีเจ็บหรอก มีแต่จะแข็งเเรง ผมเองต่อยตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ถึง 25 ปี ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ตอนนี้ผมอายุ 50 กว่าเเล้ว ยังสามารถคิดเงินได้แป๊ปเดียวเลย สมองจะเสียถ้าไม่ดูเเลตัวเอง อายุของนักมวยต่อยตั้งแต่เด็กไม่เกิน25 ปี ก็ผันตัวไปทำอย่างอื่นเเล้ว อย่างที่นี้เด็กเรียนหนังสือทุกคน นักมวยจบปริญญาทุกคน นักมวยเป็นนายตำรวจ เป็นทหารเยอะเลย”
ในพ.ร.บ.มวย ปี 2558 ได้มีการกำหนดให้นักมวยอาชีพตั้งแต่ 15 ปีขึ้นต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย เรื่องนี้ หัวหน้าเทรนเนอร์ค่าย ส.พูลสวัสดิ์ ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเห็นด้วยในการคุ้มครองนักมวย เพราะช่วยให้นักมวยได้เงินเต็มอัตรา ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องที่ดี
และเมื่อได้พูดคุยถึงแนวทางข้อเสนอของคณะแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะให้นักมวยเด็กเป็นเพียงกีฬาเท่านั้น และให้มีการสวมเครื่องป้องกันต่างๆ หัวหน้าเทรนเนอร์ของ แย้งขึ้นมาว่า ส่วนตัวเองก็ไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กมีอุปกรณ์ป้องกัน เพราะเด็กต่อยไม่ได้กี่บาท แล้วใครจะมาจัด เพราะหากต้องจัดแล้วมีอุปกรณ์ป้องกัน ราคาค่างวดเพิ่มขึ้นอีก ก็ไม่เห็นด้วย หากจะให้มีการเปลี่ยนเเปลง จากประสบการณ์โดยตรงก็ไม่เห็นว่า ต่อยมวยทำให้เด็กสมองเสื่อมอย่างไร
"เด็กเล็กๆ ต่อยได้ แต่ไม่ออกโทรทัศน์ เพราะผิด พ.ร.บ. แต่นั้นทำให้รายได้ก็น้อยลง เด็กเล็ก บางคนเก่งมาก เวลาไปต่อยงานแบบนี้ เดิมพันข้างละหมื่นก็มี อย่างพวกเด็กๆ ต่อยแต่ละครั้งได้ 500 ก็ดีใจเเล้ว เด็กคนอื่นที่มาซ้อมเห็นเพื่อนได้ตังค์ก็เลยขึ้นเวทีต่อยกันบ้าง เด็กได้ห้าร้อย เขาก็ดีใจเเล้ว ถามว่าดีไหม ก็ดีมีเงินใช้ ช่วยเหลือครอบครัวได้อีก”
เขา ยืนยันว่า ค่ายแห่งนี้ไม่มีการหักตังค์กับค่าย นักมวยต่อย 20,000 ก็ไปรับเองเลย เด็กเล็กๆ ไปต่อย กติกาเหมือนกันกับผู้ใหญ่ เเต่เวลาต่อยกจะน้อยกว่า ต่อย 2 นาที พัก 2 นาที ต่อยกันเดือนละครั้ง เดือนสองครั้ง ส่วนบางคนมาซ้อมไม่ต่อยก็มี มาให้ร่างกายแข็งแรง
"เราย้ำกับเด็กตลอดว่า ข้างบนเป็นนักรบ ข้างล่างต้องไม่มีอะไร แต่ในส่วนเวทีผู้ใหญ่จะมาตรฐานกว่าเวทีเด็ก” หัวหน้าเทรนเนอร์อธิบายให้ฟัง
ขณะที่นักมวยตัวเอกของค่ายส.พูลสวัสดิ์ วันนี้กำลังรักษาตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเวทีใหญ่ในอีกไม่กี่วันข้าวหน้า "พชรดนัย พูลสวัสดิ์" ดีกรีแชมป์เวทีราชดำเนิน มือสองของค่ายเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มต่อยมวยตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าอยากต่อย เพราะที่บ้านทำค่ายมวย จนตอนนี้อายุ 18 ปีแล้ว ส่วนตัวเองก็ไม่เห็นว่าตัวเองผิดปกติอะไร คิดว่าจะต่อยไปจนอายุ 25ปี
"ตอนนี้ความฝันสูงสุดคืออยากจะได้แชมป์เวทีมวยมาตรฐาน” พชรดนัย บอกถึงความใฝ่ฝัน และว่า เวลาขึ้นเวทีโค้ชก็จะกระตุ้นให้สู้ บางครั้งมีเป้าว่าต้องน็อคให้ได้ เพราะถ้าน็อคจะได้เงินอีกราคา อย่างต่อยในแต่ละครั้งส่วนใหญ่จะพักหนึ่งสัปดาห์ต่อครั้ง ตัวเราเองก็จะประเมินว่าเจ็บตรงบ้าง ถ้าไม่เจ็บตัว ก็ต่อยได้ ปกติไม่ได้มีการไปโรงพยาบาลเพื่อไปเช็ค แต่หากมีปวดหนักๆ ก็ต้องไปโรงพยาบาลบ้าง
นี่อาจเป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากความเห็นทั้งหมด แต่นี่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องของมวยไทย กีฬาที่อยู่คู่คนไทยมากนาน แต่เมื่อลองเทียบกฎกติกาของกีฬาอื่นๆ อย่างที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หนึ่งในทีมวิจัย ยกตัวอย่าง เช่น เทควันโด คาราเต้ กีฬาเหล่านั้นเป็นกีฬาที่มีการปะทะเช่นเดียวกัน แต่พบว่ามีกฎชัดเจนว่าต้องไม่พุ่งเป้าที่ศีรษะ ทำได้มีเพียงแต่เตะเท่านั้น หรือแม้แต่กีฬาฟุตบอลซึ่งเป็นถือวัฒนธรรมของคนอังกฤษ ก็มีกฎห้ามไม่ให้เด็กต่ำกว่า 9 ปี โหม่งบอลเช่นกัน เพื่อป้องกันความกระทบกระเทือนทางสมองนั้นเอง
"การห้ามไม่ให้เด็กมีการต่อยมวยคงห้ามไม่ได้ มวยไทยเป็นกีฬาที่ควรอนุรักษ์และส่งเสริม แต่ต้องให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่ไปละเมิดสิทธิเด็ก ต้องมีการควบคุมอย่างจริงจัง" รศ.นพ.อดิศักดิ์ ให้ความเห็น
อนาคตต่อไปของการผลัดดันนโนบายคุ้มครองเด็กเหล่านี้ จะไปถึงจุดใด อาจจะยังไม่สามารถคาดเดาได้ในเร็ววัน คงจริงอย่างที่ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ บอกไว้ว่า การจะไปแก้ความเชื่อวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสังคมมาเป็นร้อยๆ ปีคงทำไม่ได้ แต่ถ้าจะเริ่มต้องเริ่มจากวันนี้ ต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่เด็ก ค่ายมวย ต้องพลักดันให้เกิดการคุ้มครองที่จริงจัง เพราะตัวเลขจากงานวิจัยชี้ชัดแล้วว่าจะส่งผลอะไรต่อเด็กในอนาคตบ้าง หากเราบอกว่าเด็กคืออนาคตของสังคม เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เราไม่ได้ห้ามไม่ให้มีการเรียนมวยไทยหรือต่อยมวย เพียงแต่มันมีช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่เท่านั้นเอง
ต่อไปนี้คงต้องมารอฝั่งผู้กุมนโนบายกันบ้างว่า จะมีปฏิกริยาต่อสถานการณ์นี้อย่างไร เชื่อว่าหนทางผลักดันนโยบายจะไม่สามารถเดินถึงเป้าหมายได้ด้วยเพียงมือคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากทุกมือ ทุกภาคส่วนร่วมกัน เพื่อที่ต่อไปในอนาคต เราจะได้มีนักมวยเก่งๆ มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติต่อไป