แจ้ง‘สมเด็จช่วง’เจรจา ‘ธัมมชโย’! ดีเอสไอประเมินแผนบุกจับคาวัดธรรมกาย
‘พล.อ.ไพบูลย์’ สั่งอธิบดีดีเอสไอร่อนหนังสือแจ้ง ‘สมเด็จช่วง’ เจรจา ‘ธัมมชโย’ ประเมินแผนบุกจับกุมคาวัดพระธรรมกาย ใช้มาตรการเบาไปหนัก หาก จนท.เจอจับกุมได้ทันที-แจ้งฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ ใช้วัดเป็นสถานที่พักพิงขัดขวางการปฏิบัติงานหรือไม่-ใครช่วยเหลือโดนด้วย
จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559 ซึ่งครบกำหนดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มอบตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวในคดีร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ซึ่งเกี่ยวพันกับคดียักยอกทรัพย์สินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยในวันดังกล่าวพระธัมมชโย ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา อ้างว่า ป่วยเป็น ‘ลมบ้านหมุน’ นั้น
(อ่านประกอบ : ใช้วิธีนุ่มนวล! ดีเอสไอบุกจับ'ธัมมชโย' 27 พ.ค.ชี้จงใจหลบเลี่ยงรับทราบข้อหา)
ล่าสุด พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการต่อพระธัมมชโยว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้รายงานผลการประชุมหารือที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วมประชุม เพื่อกำหนดมาตรการดำเนินการกับพระธัมมชโยให้ตนทราบ หลังเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา โดยคณะพนักงานสอบสวนได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติ คือ
1.การทำแผนจับกุมพระธัมมชโยภายในวัดพระธรรมกาย ตามหมายจับ หากจำเป็นต้องปฏิบัติการ
2.ให้พนักงานสอบสวนส่งหมายจับให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการตามหมายจับหากใครพบพระธัมมชโยสามารถจับกุมได้ทันที
3.ทำหนังสือถึงฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น พร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดให้ทราบเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งก็เกี่ยวโยงกับการใช้สถานที่ราชการ หรือวัดของคณะสงฆ์เป็นที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งคณะสงฆ์ต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย
4.ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ว่าผู้ใดที่ช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงก็จะถูกดำเนินคดี
5.เร่งรัดคดีดังกล่าวให้เสร็จโดยเร็ว เพราะคดีนี้เกี่ยวเนื่องเกี่ยวโยงกับหลายคน ซึ่งพนักงานสอบสวนคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์เพื่อดำเนินการ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ โดยกำชับให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายปกติทั่วไป อย่าให้ขยายขอบเขตเป็นเรื่องอื่น เพราะจะทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้น ดังนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีคนขัดขวางที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและทำให้เกิดความวุ่นวายหรือเสียหายร้ายแรงเกินกว่าจะควบคุมได้ ก็ไม่คุ้มค่าที่เราจะทำเช่นนั้น ทั้งนี้แผนการจับกุมยังไม่ดำเนินการ ได้แต่เพียงคาดเดาว่ามันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องรอให้เจ้าหน้าที่กำหนดตามแผนของเขา และประเมินสถานการณ์ว่าจำเป็นจะต้องเข้าไปจับกุมตามกฎหมายได้หรือไม่
เมื่อถามว่า จะมีการขอหมายค้นหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าคณะพนักงานสอบสวนจะไปขอเมื่อไหร่ และขึ้นอยู่กับศาลว่าจะอนุมัติหมายค้นให้หรือไม่ เพราะต้องทำรายละเอียดและเหตุผลให้ศาลพิจารณา อีกทั้งต้องกำหนดสถานที่ว่าจะเข้าตรวจค้นตรงไหนบ้าง เข้าใจว่าคงจะต้องทำ เพราะการเตรียมการพร้อมแล้ว แต่เราไม่รู้ว่าสถานการณ์เอื้อที่จะเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่ ดังนั้นการเตรียมการเรื่องหมายค้นจะต้องเตรียมไว้ก่อนเลย ส่วนจะได้หมายค้นหรือไม่ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล ซึ่งตรงนี้ตนไม่สามารถตอบได้ ถ้าไม่ให้ก็ต้องเข้าไปดำเนินการตามหายจับอย่างเดียว
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า การกำหนดสถานการณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ แต่ขึ้นอยู่กับคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปกำหนดที่อยากจะได้ แต่เชื่อว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้พัฒนาขีดการทำงานไปทีละขั้น ให้ความยุติธรรมหรือไม่ เป็นขั้นตอนหรือไม่ ให้ความยืดหยุ่นหรือไม่ และมีการใช้รัฐศาสตร์ผสมผสานหรือไม่ ต้องดูตรงนี้ด้วย
ส่วนกรณี นายมโน เลาหวนิช อดีตพระลูกวัดพระธรรมกาย เสนอให้คณะพนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้พูดคุยกับพระธัมมชโย พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้ทำหนังสือไปแล้ว ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้แนะนำอธิบดีดีเอสไอเองว่าเคยคิดถึงเรื่องการแจ้งผู้ปกครองคณะสงฆ์หรือไม่ เนื่องจากตนป็นทหารเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรก็จะแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ช่วยดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้ คดีแบบนี้เคยมีการทำมาก่อนแล้ว
เมื่อถามว่า การกระทำของพระธัมมชโยเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลหรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการจำกัดความของแต่ละคน ว่าผู้มีอิทธิพลคืออะไร
อ่านประกอบ :
เช็ค 316 ล.มัด‘ธัมมชโย’ก่อนศาลออกหมายจับคดีฟอกเงิน-จับตาเข้าแจงหรือหนี?
ศาลไฟเขียว! ออกหมายจับ‘ธัมมชโย’ คดีร่วมกันฟอกเงินหลังดีเอสไอขอครั้ง 2