ภาคปชช.เรียกร้อง 'ทหาร' หยุดคุกคามเสรีภาพนักวิชาการ สิทธิชุมชน
ภาคประชาชนเคลื่อนไหว กดดันกองทัพตรวจสอบธรรมภิบาลบริหารแผ่นดิน หยุดคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ สิทธิชุมชน ด้านคนในพื้นที่หวั่น ทหารรับใช้นายทุน กระทบสันติภาพชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่บริเวณหน้า กองทัพบก ถนนราชดำเนิน ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) เดินทางยื่นหนังสือพร้อมอ่านแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์ ประนามการกระทำของทหาร ที่มีการส่งหนังสือถึงอธิการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งถือเป็นการคุกคามอาจารย์และนักวิชาการที่ออกมาค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ด้านนายสุร แก้วเกาะสะบ้า เลขาธิการกลุ่ม YPD กล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้เพราะเป็นห่วงเสรีภาพของนักวิชาการในการทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รวมถึงเสรีภาพทางวิชาการอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้การกระทำของทหารยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาลในการบริหารแผ่นดิน เนื่องจากบอร์ดบริหารของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายราย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนและได้ประโยชน์หากมีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และความสงบของสังคม
ด้าน นายธัชพงค์ แกดำ กรรมการ YPD กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ในการรักษาความสงบ เพราะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพาได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นของคนในพื้นที่ การออกมาวันนี้เพื่อส่งสัญญานเตือนไปยังกองทัพให้ทบทวนการออกคำสั่งดังกล่าวอีกครั้ง
“ หากวันนี้ทางกองทัพยังไม่มีดำเนินการใด ทาง YPD จะไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้” นายธัชพงค์ กล่าวและว่า หากอำนาจรัฐก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาด้วยวิธีการไหน ประชาชนย่อมมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อคัดค้าน หรือวิจารณ์การทำงานได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ในแถลงการณ์ของกลุ่ม YPD ได้เรียกร้องให้กองทัพบกชี้แจงต่อประชาชนในประเด็นข้างต้น รวมถึงควรหยุดการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ละเมิดสิทธิชุมชนของชาวบ้านทุกกรณี นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้สังคมไทยติดตามและตรวจสอบเรื่องนี้ในฐานะที่การกระทำของข้าราชการข้างต้นสุ่มเสี่ยงต่อการไร้ธรรมภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวคือ
1.การใช้บันทึกข้อความขอความร่วมมือข้ามหน่วยงานราชการในประเด็นที่ไม่ใช่หน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานตนเอง
2.เป็นที่น่าห่วงอย่างยิ่งเมื่อดูสายการบังคับบัญชาและความทับซ้อนของผลประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวเพราะเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยที่ผู้ทำหนังสือขอความร่วมมือในพื้นที่คือผู้ใต้บังคับบัญชาและกำลังพลของกองทัพบก ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกองทัพบกปัจจุบันมีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารของ กฟผ. 2 ตำแหน่งคือ รองผู้บัญชาการทหารบกและผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้รายงานในส่วนของภาคใต้มีการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ ที่ค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา บริเวณค่ายเสนาณรงค์ มณฑลทหารบกที่ 42 สงขลา
ด้านนายดิเรก เหมนคร ตัวแทนเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการคือหลักประกันการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน หากแก้ไม่ได้ตอบไม่ถูกก็ควรเลิกสร้าง และการที่ มทบ.42 มีพฤติกรรมในลักษณะที่ไปรับใช้นายทุนอย่างออกหน้า สูญเสียความเป็นกลาง กลายเป็นผู้สร้างเงื่อนไขความตกแยกในสังคมเสียเอง จนอาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นภัยแทรกซ้อนต่อสันติภาพได้ ทั้งอยากเรียกร้องต่อ มทบ.42 ดังนี้
1. ขอให้ มทบ.42วางตัวเป็นกลางต่อประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน
2. ขอให้ยุติการคุกคามต่อนักวิชาการและภาคประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
3. ขอให้ยกเลิกและเรียกคืนหนังสือฉบับที่ส่งถึงอธิการบดี มอ.หาดใหญ่ หาก มทบ. 42 ยืนยันว่านั่นไม่ใช่การคุกคาม ก็ควรถอนหนังสือกลับเสียเพื่อการแสดงความจริงใจ
อ่านประกอบ
ทหารให้อธิการ มอ.เคลียร์ อจ.ต้านโรงไฟฟ้า นักวิชาการแนะรัฐเปิดเวที ดีกว่าปิดกั้น
กป.อพช.ใต้แถลง 'หยุดจำกัดเสรีภาพของนักวิชาการเพื่อสังคม'