พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทนายแนะนักต่อสู้สิทธิฯใช้คดีเพื่อบอกความจริง
ทนายความเผย ชาวบ้านปัญหาคดีความเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แนะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้านเครื่อข่ายผู้ได้รับผลกระทบแถลง ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ในวทีอภิปรายหัวข้อ“กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความ เผยถึงปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงความยุติธรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชน ว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานในฐานะกรรมการสิทธิ รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชน พบว่า 99% จะเป็นปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ละเลยไม่ตรวจสอบกระบวนการปฏิบัติตามใบอนุญาตทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่เคยมีกระบวนการที่ดีในสังคมไทย ในการจัดการกับความเป็นของเสีย ผลที่ไม่พึงปราถนาจากกระบวนการพัฒนาทั้งหลาย ไม่เคยได้รับการตรวจสอบ ควบคุมอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นในระดับจังหวัดหรือในระดับประเทศ เป็นอย่างนี้ เหมือนกันหมด
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อค้านก็เริ่มจะมีคดีต่างๆ เกิดขึ้น ถึงแม้จะไปตัวคดีนั้นจะไปสร้างปัญหายากลำบากให้กับชาวบ้าน เช่นในหลายๆ กรณีอย่างที่เหมืองทองเลย ที่เหตุเกิดอีกภาค แต่ฟ้องอีกภาค ทำให้การเดินทางเดินเรื่อง เสียเงินทองจำนวนมาก เป็นต้น
นายแสงชัย กล่าวว่า ความยุ่งยากอย่างนี้ ทำให้หลายพื้นที่เวลามีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจหรือมีความคิด ที่อยากจะเข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพราะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ยิ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรมก็จะยิ่งพบว่า ชาวบ้านจะเจออุปสรรคที่ใหญ่ขึ้นไปอีก จึงมีคำของชาวบ้านที่บอกว่า อัยการ ศาลถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเข้าไปข้องแวะเด็ดขาด แต่ด้วยเงื่อนไขของสังคมขณะนี้ที่รัฐต้องการพัฒนาอย่างขนาดใหญ่ ยังไงเราก็หนีไม่พ้น ไม่อยากให้เกิดก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นเราต้องมองใหม่ แทนที่จะดิ้นร้นเอาตัวรอด ในภาวะที่เป็นคดี ก็คิดเสียใหม่ว่า ทำอย่างไร ให้เป็นโอกาสดีที่สุดที่จะให้คดีทำงานอย่างได้ผล
"นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในตัวเนื้อเรื่องโดยตรง และเป็นการบอกกล่าวต่อสังคมอย่างชัดแจ้งว่า ใครถูกใครผิด ใครมีคุณธรรมใครไม่มี ใครรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือว่าใครไม่รับผิดชอบ” นายแสงชัยกล่าว
นอกจากนี้ในเวทีอภิปรายยังมีการอ่านแถลงการณ์โดยผู้แทนจากเครือข่ายชุมชนที่เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองแร่ และอื่นๆ โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่า
เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับความคุ้มครอง หาใช่ถูกลงโทษทัณฑ์
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรยกเลิกไม่ให้มีความหมิ่นประมาทในทางอาญา เหตุเพราะกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่าการลงโทษอาญากับข้อหาที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยควรจะมีการสอบสวนคดีอย่างมีประสิทธิภาพในคดีที่ใช้ความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่การรับผิด
ในขณะเดียวกัน ก็รับประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนชายขอบจะมีการเข้าถึงที่เหมาะสมต่อความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านี้ รัฐบาลควรพัฒนากรอบของกฎหมายเพื่อประกันว่าหลักการของการทำธุรกิจและสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะได้รับการคุ้มครอง (อ่านเพิ่มเติม แถลงการณ์ขอให้รัฐไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน )