แถลงการณ์ขอให้รัฐไทยยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ขอให้ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสริมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองและประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ในเวทีอภิปรายหัวข้อ“กระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผู้แทนจากเครือข่ายชุมชนที่เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กรณีเหมืองแร่ และอื่นๆ อ่าน แถลงการณ์ ขอให้ยุติการใช้กฎหมายคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเสริมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองและประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรายละเอียดระบุดังนี้
องค์การและเครือข่ายชุมชน ที่ได้ลงนามดังต่อไปนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและบริษัทเหมืองแร่จำนวนหนึ่งยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชน รวมถึงร้องขอให้รัฐบาลไทยเสริมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชน และประกันความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เราได้บันทึกแนวโน้มที่น่ากังวลใจเรื่องการยื่นฟ้องคดีความผิดฐานหมิ่นประมาทรวมถึงฐานความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่งและอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในชุมชนจากทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ นักกิจกรรมในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับการคัดค้านและแสดงออกซึ่งข้อห่วงใยที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพ, ด้านสังคม,และด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มคาบเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมในท้องถิ่นยิ่งเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกตั้งข้อหา
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยถูกฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326, 327, และ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-2 ปี หรือระวางโทษปรับ นอกจากนี้จำเลยมักจะถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งระวางโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ ข้อหาหมิ่นประมาทในคดีอาญาที่รัฐบาลและภาคธุรกิจในประเทศไทยนำมาฟ้องร้อง ก็สืบเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวที่ชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น
ตัวอย่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดเลย ซึ่งในรอบเจ็ดปีที่ผ่านมา บริษัทได้ฟ้องคดีแพ่งและอาญาจำนวนอย่างน้อย 19 คดีกับสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านรายอื่น ๆ จำนวน 33 ราย รวมถึงเยาวชนหญิงอายุ 15 ปีด้วย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเป็นการรวมตัวของชาวบ้านที่มุ่งมั่นที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนจากผลกระทบของการทำเหมืองทองคำในจังหวัดเลย ทั้งนี้ รวมการฟ้องคดี บริษัทฯได้เรียกร้องค่าเสียหายทั้งสิ้น 320 ล้านบาท (9.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากชาวบ้านในจังหวัดเลย ปัจจุบันนี้ ยังคงมีคดีแพ่งและอาญาค้างอยู่ในชั้นพิจารณาจำนวน 8 คดี โดยฟ้องร้องชาวบ้านจำนวน 25 ราย
นอกจากนี้ ชาวบ้านในจังหวัดเลยยังต้องเผชิญการข่มขู่และการโจมตีอย่างรุนแรงจากภาครัฐและเอกชน อาทิ วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ในช่วงเวลากลางคืน ชายจำนวนอย่างน้อย 100 คนสวมหน้ากากสีดำ เข้ามาทำร้ายและกักตัวชาวบ้านมากกว่า 12 รายรวมทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และแกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ระหว่างใช้รถบรรทุกเข้ามาขนย้ายแร่ออกจากเหมืองและหมู่บ้าน แม้ว่าจะเหตุการณ์ในคืนนั้นจะมีชายอย่างน้อย 100 คนที่เข้ามาทำร้ายชาวบ้าน แต่ทว่าอัยการกลับสั่งฟ้องจำเลยแค่เพียงสองรายเท่านั้น ได้แก่ นายทหารที่เกษียณแล้วรายหนึ่งและลูกชายของเขา สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมกับทางอัยการและเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ ศาลจังหวัดเลยจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559
ล่าสุด เดือนมีนาคม 2559 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ ในเครือของบริษัท คิงสเกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนสองรายที่คัดค้านการทำเหมืองของบริษัทในจังหวัดพิจิตร โดยศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 คดีนี้เชื่อมโยงกับการโพสต์เฟสบุคด้วยข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นผลดีต่อบริษัทฯ อย่างไรก็ดี เมื่อ พ.ศ. 2556 บริษัทดังกล่าวได้ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทในคดีอาญากับนักกิจกรรมจำนวนสองคนจากชุมชนเดียวกันนี้ แต่ศาลได้ยกฟ้อง เมื่อไม่นานมานี้
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาคดีที่ยังคงค้างอยู่ในชั้นศาลกับสมาชิกจำนวน 23 คนจากกลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่คัดค้านการทำเหมืองหินปูนในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาคดีอาญาต่อกลุ่มสมาชิก หลังจากที่บริษัททำเหมืองได้กล่าวหาว่าทางกลุ่มใช้ข้อมูลเท็จเพื่อฟ้องร้องผู้อื่นต่อศาล ระหว่างปี 2536 – 2542 สมาชิกของกลุ่มชุมชนดังกล่าวถูกยิงเสียชีวิตจำนวน 4 ราย ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีการรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตดังกล่าว
ยิ่งไปกว่านั้น นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังต้องเผชิญกับคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่รัฐบาลไทยยื่นฟ้อง ตัวอย่าง ปี 2555 และ 2558 เจ้าหน้าที่รัฐในอำเภองาว จังหวัดลำปาง ได้ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อสมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนที่คัดค้านการทำเหมืองลิกไนต์ของ บริษัท เขียวเหลือง จำกัด โดยข้อหาที่ฟ้องปี 2555 เกิดจากการประท้วงที่หน้าศาลาว่าการจังหวัดลำปาง แต่ต่อมามีการไกล่เกลี่ย โจทก์จึงได้ถอนฟ้อง ล่าสุดเมื่อปี 2558 มีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องกลุ่มรักษ์บ้านแหง เนื่องจากมีชูป้ายผ้าที่งานประชุมแห่งหนึ่ง โดยกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีนัดพิจารณาคดี ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 นี้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการใช้การฟ้องร้องคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งส่งผลต่อการแทรกแซงการเคลื่อนไหวโดยชอบธรรมของพวกเขา การต่อสู้ต่อข้อหาที่ไม่เป็นธรรมนี้ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องใช้เวลาและเงินทองเป็นอย่างมาก และยังส่งผลกระทบต่อชุมชนด้วย ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น การเข้าถึงความช่วยเหลือ , การสนับสนุนทางกฎหมาย, เงินเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งค่าเดินทางเพื่อที่จะไปฟังการพิจารณาคดีและค่าใช้จ่ายเพื่อต่อสู้คดี
ในบางคดี ศาลได้มีคำสั่งที่เป็นผลดีเพื่อคุ้มครองสิทธิของกิจกรรมการเคลื่อนไหวของชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำพิพากษาสั่งให้ บริษัท พีรพลมายนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองหินปูนในจังหวัดสงขลา ให้ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่สมาชิกกลุ่มเครือข่ายพิทักษ์ชุมชนเขาคูหา จำนวน 9 คน รายละ 60,000 บาท (1,700 ดอลลาร์สหรัฐ) คำสั่งดังกล่าวของศาลเป็นการผลมาจากการที่ครือข่ายฯฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่ง ภายหลังจากที่บริษัทฯได้ฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งโดยไม่มีเหตุอันควรต่อเครือข่ายชุมชนฯก่อนในปี 2554 โดยเรียกร้องเงินจำนวน 64 ล้านบาท (1.8 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2555 บริษัทฯได้ตัดสินใจถอนฟ้อง
เสรีภาพในการแสดงออกได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี วันที่ 17 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยได้เข้าร่วมอีก 126 ประเทศ ณ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) เพื่อรับเอาข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ 70/161 ซึ่งรับรองว่ารัฐมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ยังมีข้อมติลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 เรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ว่ามีความสำคัญและบทบาทที่ชอบธรรมในการแสดงออกถึงมุมมอง ข้อห่วงใย การวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงความคิดที่ไม่เห็นด้วย เกี่ยวกับนโยบายของรัฐหรือกิจกรรมทางธุรกิจ ทั้งยังได้เน้นย้ำถึงความต้องการที่ให้รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองการเคลื่อนไหวในบริบทดังกล่าว
เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยปฏิบัติตามพันธกรณีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับความคุ้มครอง หาใช่ถูกลงโทษทัณฑ์
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยควรยกเลิกไม่ให้มีความหมิ่นประมาทในทางอาญา เหตุเพราะกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่าการลงโทษอาญากับข้อหาที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการตั้งข้อหาที่ไม่เป็นธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยควรจะมีการสอบสวนคดีอย่างมีประสิทธิภาพในคดีที่ใช้ความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนำตัวผู้กระทำผิดมาสู่การรับผิด
ในขณะเดียวกัน ก็รับประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนชายขอบจะมีการเข้าถึงที่เหมาะสมต่อความช่วยเหลือทางกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ยิ่งไปกว่านี้ รัฐบาลควรพัฒนากรอบของกฎหมายเพื่อประกันว่าหลักการของการทำธุรกิจและสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะได้รับการคุ้มครอง
เราขอเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเข้ามาคุ้มครองสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตาม หลักปฏิบัติของสหประชาชาติว่าการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights) ที่วางหลักการว่า ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะเป็น ณ ที่ใด ที่มีการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับหลักการดังกล่าว การทำธุรกิจในประเทศไทยต้องคุ้มครองสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก
บริษัทต่าง ๆ จึงควรหลีกเลี่ยงที่ตั้งเรื่องร้องเรียนที่ไม่เป็นธรรม และเพิกถอนข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาคธุรกิจควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริงที่เชื่อมโยงกับชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อที่จะระบุ, ป้องกัน, และจัดการ กับผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในมิติของสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม อันสืบเนื่องมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของภาคธุรกิจนั่นเอง
ลงนาม:
1.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
2.โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
3.องค์กรฟอร์ติฟายไรท์
4.มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
5.มูลนิธิบูรณะนิเวศ
6. โครงการคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
7.คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล
8. กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
9.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกิจการเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร
10.เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา จังหวัดสงขลา
11.กลุ่มป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ต.ดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู
12. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย