อดีต รมว.คลัง 'ธีระชัย':เอกสารลับปานามากับวิกฤตการเงินการคลังของไทย
"ผมคิดว่าถึงเวลาที่จะเปลี่ยนกติกาให้เป็นไปตามประเทศพัฒนาแล้ว คือให้รัฐบาลเก็บภาษีบุคคลที่อาศัยอยู่ในไทย จากรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เว้นแต่ถ้าปีใดบุคคลนั้นพำนักอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่าเวลาที่กำหนด เนื่องจากโอกาสที่บุคคลธรรมดาคนไทยจะมีรายได้ที่เกิดในต่างประเทศอย่างแท้จริงนั้นมีน้อย และถึงแม้เกิดมีขึ้น ก็เนื่องจากได้รับการปกป้องคุ้มครองของประเทศไทย"
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายเกี่ยวกับกรณีเอกสารลับปานามา ที่หอประชุมสำนักงาน ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2559
----
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวที่เรียกว่า “เอกสารลับปานามา” ที่ส่งผลกระเทือนทางการเมืองบางประเทศ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น และข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
เรื่องนี้เป็นกรณีที่มีการนำเอกสารลับจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ออกมาเปิดเผย เกี่ยวกับบริษัทในศูนย์การเงินที่เรียกว่า ออฟชอร์เซ็นเตอร์ เป็นจำนวนกว่า 214,000 บริษัท และเอกสารเหล่านี้มีการระบุชื่อนักการเมืองที่ยังอยู่ในตำแหน่งของหลายประเทศ
ในวันนี้ ผมจะแสดงความเห็นว่า กรณีคนไทยที่ใช้ศูนย์การเงินนั้น ส่วนใหญ่น่าจะไม่เป็นทางค้าปกติ และถ้าทางการไทยไม่วางแผนปรับปรุงการกำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในอนาคต การเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินจะก่อวิกฤตการเงินการคลังแก่ไทยได้ และสุดท้าย ผมจะเสนอว่าควรปรับปรุงการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างไร
การวางตัวเป็นศูนย์การเงิน
ถามว่าศูนย์การเงินเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ศูนย์การเงินในแหล่งออฟชอร์เกิดขึ้นเนื่องจากประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศเล็กๆ ไม่สามารถจะทำธุรกิจอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ บางประเทศจึงเลือกที่จะตั้งตนเองเป็นศูนย์การเงิน โดยให้บริการแก่บุคคลที่อยู่นอกประเทศเป็นหลัก บริการเหล่านี้ได้แก่บริการที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้ง และบริการทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบริษัท ดังนั้น ถ้าบุคคลใดจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนที่ศูนย์การเงินเหล่านี้ได้
จุดเด่นของศูนย์การเงินอยู่ตรงที่ไม่ต้องมีการเสียภาษีให้แก่ศูนย์การเงินนั้น ไม่ว่ารายได้นั้นเกิดขึ้นที่ใดในโลก และโดยปกติศูนย์การเงินจะไม่เปิดเผยชื่อเจ้าของบริษัท รวมทั้งจะไม่บังคับให้บริษัทต้องยื่นงบดุลบัญชีประจำปี จึงทำให้ศูนย์การเงินมักจะมีภาพพจน์เป็นลบ บางคนเรียกเป็นแหล่งฟอกเงินบ้าง บางคนเรียกเป็นแหล่งหนีภาษีบ้าง
ถามว่าการใช้บริษัทที่ศูนย์การเงิน เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
การใช้บริษัทที่ศูนย์การเงินเพื่อบริหารธุรกิจนั้นมีมานานแล้ว และถ้าอ่านงบการเงินของบริษัทใหญ่ๆในโลก ไม่ว่าในสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ก็จะพบว่ามีการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมเป็นจำนวนมาก เป็นเช่นนี้มานานแล้ว
วิธีการใช้ศูนย์การเงินที่เป็นทางค้าปกติ
วิธีการใช้ศูนย์การเงินที่เป็นทางค้าปกติ เช่น
1 การจดทะเบียนเพื่อแยกกองทรัพย์สิน เพื่อไม่ให้ถูกกระทบเป็นพวง บางบริษัทมีกิจการบางส่วนที่มีความเสี่ยงสูง ที่จำเป็นต้องแยกออกไปเพื่อมีกำแพงกั้น มิให้เกิดผลกระทบกิจการส่วนอื่นๆของบริษัท ตัวอย่างเช่น ธุรกิจใยหิน (asbestos) มีความเสี่ยงอาจจะถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายว่าเป็นเหตุก่อมะเร็ง และการจดทะเบียนเรือขนส่งสินค้าแต่ละลำแยกต่างหากจากกัน
2 การจดทะเบียนสำหรับการลงทุนร่วมกับหุ้นส่วนต่างประเทศ บางบริษัทร่วมโครงการกับบริษัทต่างชาติ ถ้าโครงการนี้ตั้งอยู่ในประเทศที่สามที่ระบบกฎหมายยังไม่พัฒนาและเป็นธรรมเพียงพอ แทนที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศที่สาม ก็อาจจะไปจัดตั้งในศูนย์การเงินแทน หรือแม้แต่ในกรณีที่โครงการนั้นตั้งอยู่ในประเทศของหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง ก็อาจจะมีการแย่งกันขอให้จดทะเบียนบริษัทร่วมทุนในประเทศทั้งสอง วิธีหาทางออกแบบกลางๆก็คือไปจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในศูนย์การเงิน
3 การจดทะเบียนสำหรับกองทุนรวมที่ขายทั่วโลก กองทุนรวมที่ขายหน่วยลงทุนทั่วโลก จะจดทะเบียนจัดตั้งในศูนย์การเงิน เพราะในช่วงที่เก็บกำไรไว้ในกองกลาง กองทุนรวมจะยังไม่ต้องเสียภาษี ต่อมาเมื่อใดมีการแบ่งกำไร ผู้ถือหน่วยแต่ละรายก็จะไปเสียภาษีในประเทศของตนแยกเป็นเอกเทศสำหรับแต่ละบุคคล ถ้าหากไม่ใช้ศูนย์การเงิน กำไรในกองกลางจะต้องเสียภาษีไปก่อน แล้วผู้ถือหน่วยรายที่ไม่ต้องเสียภาษี เช่นเป็นมูลนิธิ ก็จะต้องยื่นขอคืนภายหลัง ซึ่งจะยุ่งยากกว่า
4 ใช้เพื่ออนุพันธ์ทางการเงิน บางบริษัทที่ต้องการใช้อนุพันธ์ทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยง แต่ทำไม่ได้เนื่องจากติดขัดกฎหมายในประเทศที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ หรือสาขาของบริษัทนั้นตั้งอยู่ หรือติดขัดกติกาภาษี กรณีอย่างนี้ก็จะจัดตั้งบริษัทลูกในศูนย์การเงินเพื่อใช้ทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน
5 การบริหารรายได้ที่เกิดในต่างประเทศ หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ บุคคลธรรมดาบางรายอาจจะมีรายได้ที่เกิดในต่างประเทศ เช่น เงินรางวัลจากการแข่งขันกีฬา การเขียนหนังสือขายในต่างประเทศ หรือการทำเว็บไซท์ที่ลูกค้าผู้ใช้บริการอยู่ในต่างประเทศ หรือการทำโครงการพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมในต่างประเทศ กรณีอย่างนี้ บางประเทศยินยอมไม่เก็บภาษีสำหรับรายได้ดังกล่าวจนกว่าจะมีการโอนเข้าประเทศ กรณีนี้จึงมีการจัดตั้งบริษัทในศูนย์การเงินเพื่อเก็บรายได้ดังกล่าวเอาไว้นอกประเทศ
ทั้งนี้ หลักคิดการเก็บภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดในต่างประเทศนั้นจะมี 2 ระบบ
ระบบที่หนึ่ง เก็บภาษีตามแหล่งกำเนิดของรายได้ ซึ่งประเทศไทยเข้ากรณีนี้ ระบบนี้จะไม่เก็บภาษีจนกว่าจะมีการโอนเข้าประเทศ เหตุผลสนับสนุนคือรายได้ที่เกิดในต่างประเทศไม่ต้องอาศัยการปกป้องคุ้มครองจากรัฐบาลไทย แต่กติกาแบบนี้ก็มีข้อเสีย เพราะคนรวยที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงิน สามารถจะเก็บไว้ในต่างประเทศเพื่อชะลอการเสียภาษีออกไปได้ แต่คนจนไม่มีทางเลือกนี้
ระบบที่สอง เก็บภาษีตามแหล่งที่อยู่ของผู้เสียภาษี ระบบนี้จะเก็บภาษีจากผู้ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศสำหรับรายได้จากทุกแหล่งของโลก และครอบคลุมทั้งประชาชนประเทศนั้นและต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น โดยจะยกเว้นต่อเมื่อพำนักอยู่อาศัยในประเทศนั้นเป็นระยะเวลาสั้นกว่าที่กำหนด
ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้ระบบนี้ โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือ การที่ผู้เสียภาษีจะมีรายได้เกิดขึ้น แม้แต่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ก็ต้องสืบเนื่องจากการที่ผู้เสียภาษีได้รับการปกป้องคุ้มครองให้อยู่อาศัยอย่างสุขสบายในประเทศนั้นๆ ผู้ที่อยู่อาศัยจึงควรต้องจ่ายภาษีให้แก่ประเทศนั้น
ทั้งนี้ ในหัวข้อนี้จะรวมไปถึงการใช้บริษัทศูนย์การเงิน เพื่อถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศด้วย เนื่องจากมีบางประเทศที่ยอมให้ใช้วิธีจัดตั้งบริษัทศูนย์การเงินเป็นผู้กู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์แทนเจ้าของที่แท้จริง และอนุญาตให้นำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทนั้น เพื่อหักลดกำไรในการขายอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต
วิธีการใช้ศูนย์การเงินที่ไม่เป็นทางค้าปกติ
แต่มีวิธีการใช้บริษัทที่ศูนย์การเงินที่ไม่เป็นทางค้าปกติ ซึ่งเป็นจุดบ่อนทำลายการเงินการคลังของทุกประเทศ รวมไปถึงปัญหาด้านคุณธรรมและจริยธรรม ได้แก่
1 การเลี่ยงภาษี
บุคคลที่ใช้บริษัทในศูนย์การเงินเพื่อบริหารรายได้ที่เกิดภายในประเทศ จึงเป็นการเลี่ยงภาษีและไม่เป็นธรรมแก่ประเทศ ตัวอย่างเช่น ผู้ส่งออกสินค้าจากไทยเก็บเงินส่วนหนึ่งไว้นอกประเทศ หรือการโอนกำไรจากไทยไปให้บริษัทศูนย์การเงินในรูปแบบค่าบริการที่เป็นนิติกรรมอำพราง เป็นต้น
การเลี่ยงภาษีอีกระดับหนึ่ง คือการโอนกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเพื่อลดภาษี ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล ดังปรากฏว่า มีเอกสารวิชาการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ออกในเดือนกรกฎาคม 2558 ประเมินว่าบริษัทข้ามชาติมีการโอนกำไรออกจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อเลี่ยงภาษี แต่ละปีเป็นเงินกว่าสองแสนล้านดอลลาร์ หรือหกล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 ของรายได้ประชาชาติของประเทศกำลังพัฒนา
เนื่องจากตัวเลขของ IMF เป็นตัวเลขเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ผมจึงคิดว่าตัวเลขทั่วโลกน่าจะมากกว่านี้ เพราะแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป ขณะนี้ก็เริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า บริษัทข้ามชาติสหรัฐที่ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำจากการทำธุรกิจภายในทวีปยุโรป ได้เสียภาษีให้แก่ยุโรปเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่
2 การฟอกเงิน
บางบุคคลใช้บริษัทศูนย์การเงินเพื่อรับเงินผิดกฎหมาย เช่น การค้ายาเสพติด การค้าอาวุธ การก่อการร้าย การรับเงินสินบนใต้โต๊ะ และการจ่ายเงินสินบนใต้โต๊ะ การกันเงินไว้จ่ายสินบนใต้โต๊ะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสำหรับบริษัทในประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าหากจ่ายสินบนใต้โต๊ะแก่บุคคลในประเทศโลกที่สาม จะมีขบวนการตรวจสอบในประเทศพัฒนาแล้วที่เข้มงวด แต่ศูนย์การเงินจะไม่มีการตรวจสอบใดๆ
3 การตกแต่งบัญชี
กรณีการตกแต่งบัญชีโดยใช้บริษัทศูนย์การเงินนั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐในกรณีของบริษัท Enron กับในประเทศอิตาลีในกรณีของบริษัท Parmalat ทั้งสองกรณีใช้บริษัทลูกในศูนย์การเงินหลอกว่าบริษัทแม่มีกำไรเพื่อปั่นราคาหุ้น
กรณีของประเทศไทย ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. เราตรวจสอบพบและดำเนินคดีการตกแต่งบัญชีโดยการใช้บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน การที่ ก.ล.ต. สามารถเจาะลึกข้อมูลได้ ก็เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย แต่ในอนาคต ถ้ามีการใช้บริษัทศูนย์การเงิน จะตรวจสอบไม่ได้
4 การโกงเจ้าหนี้
กรณีของการโกงเจ้าหนี้นั้น อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการแยกและโอนทรัพย์สินที่มีค่า เอาไปเก็บไว้ในบริษัทศูนย์การเงิน เพื่อมิให้เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ยังไม่เคยเจอการโกงเจ้าหนี้โดยใช้บริษัทในศูนย์การเงินแบบนี้
แต่เช่นเดียวกับกรณีการตกแต่งบัญชี ขอบเขตการทำธุรกิจของบริษัทไทยมีแต่จะขยายวงออกไปในระดับอินเตอร์มากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงในเรื่องนี้ในอนาคตจึงมีแต่จะมากขึ้น
ผลกระทบทางการเมืองในต่างประเทศ
นักการเมืองรายแรกที่ถูกกระทบคือนายกุน หลากซัน นายกรัฐมนตรีของประเทศไอซ์แลนด์ เนื่องจากก่อนรับตำแหน่ง เขาได้ซื้อตราสารหนี้ของแบงก์พาณิชย์ไอซ์แลนด์แห่งหนึ่งที่ล้มและรัฐบาลต้องเข้าไปอุ้ม เขามิได้เปิดเผยผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแบงก์พาณิชย์ดังกล่าว ในที่สุดเขาลาออกจากตำแหน่ง
รายที่สองคือนายเดวิด คามารอน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ซึ่งได้รับประโยชน์จากบริษัทในศูนย์การเงินที่บิดาจัดตั้งขึ้นกว่า 30 ปีมาแล้ว เรื่องนี้ ถึงแม้เป็นการบริหารรายได้เพื่อประหยัดภาษี (tax avoidance) ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สง่างามในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบายภาษีของประเทศ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่ใช้ศูนย์การเงิน และเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น
รายที่สามคือนายโฮเซ่ มานูเอล ซอเรีย รัฐมนตรีอุตสาหกรรมสเปน ซึ่งเดิมปฏิเสธว่าไม่มีบริษัทในศูนย์การเงิน แต่ภายหลังเมื่อความจริงปรากฏ ก็ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ประเทศที่จะต้องติดตามใกล้ชิดต่อไปคือประเทศจีน ซึ่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ได้มีข้อวิจารณ์กันมากว่าถึงแม้บรรดาตัวผู้นำระดับสูงในรัฐบาลของจีนจะมิได้แสดงพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นก็ตาม แต่มีข่าวว่าบรรดาลูกหลานและญาติสนิทได้จับมือกับบริษัทข้ามชาติในการวิ่งงานใหญ่ๆ จนสื่อมวลชนใช้คำพูดเล่นเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็นเสมือนกลุ่มเจ้าหญิงเจ้าชาย (Princeling)
ในเอกสารปานามาก็ปรากฏมีชื่อมีญาติของผู้นำปัจจุบันในรัฐบาลด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากประเทศจีนเซ็นเซอร์ข่าวนี้อย่างเด็ดขาด จึงต้องรอดูว่าจะมีการกระจายข่าวนี้ออกไปทางโซเชียลมีเดียหรือไม่
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้ทางการตรวจสอบการเลี่ยงภาษีและการฟอกเงิน และส่วนราชการก็แถลงข่าวว่าจะขอข้อมูลจากหน่วยงานเดียวกันในประเทศต่างๆ แต่ผมคาดว่าจะไม่ได้ข้อมูลมากนัก เพราะประเทศศูนย์การเงินจะไม่ให้ความร่วมมือ และถึงแม้ส่วนใหญ่จะเปิดบัญชีแบงก์ในฮ่องกงหรือสิงค์โปร์ แต่ตามข้อตกลงระหว่างประเทศจะให้ข้อมูลก็ต่อเมื่อปรากฏหลักฐานเบื้องต้นแล้วว่ามีการกระทำความผิด แต่สำหรับการขอข้อมูลในลักษณะทอดแห เพื่อรวบรวมมาใช้วิเคราะห์วิจัยไปเรื่อยๆนั้น จะไม่ได้รับความร่วมมือ
การกำหนดนโยบายของไทย
สุดท้ายถามว่าประเทศไทยควรจะมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร
มีประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่ตระหนักว่าธุรกรรมที่ไม่เป็นทางค้าปกติเป็นอันตรายต่อประเทศ และได้วางมาตรการแก้ไขปรับปรุงกันแล้ว เช่น สหรัฐในการทำสัญญา Free Trade Agreement กับประเทศปานามาในอดีต ได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องส่งข้อมูลรายชื่อเจ้าของแท้จริง แต่สหรัฐเองไม่ยอมเป็นคู่สัญญาในข้อตกลงใดที่บังคับให้สหรัฐต้องส่งข้อมูลให้แก่ต่างประเทศ
กรณีอังกฤษ ภายหลังข่าวเอกสารลับปานามา เนื่องจากศูนย์การเงินส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ และปัจจุบันยังมีการเชื่อมโยงกัน จึงมีการเรียกร้องให้ใช้อิทธิพลพิเศษขอให้ส่งข้อมูลมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกยุโรป 5 ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน ได้ประกาศว่ารัฐบาลทั้งห้าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของแท้จริงของบริษัทต่างๆในศูนย์การเงิน และเรียกร้องให้ประเทศกลุ่ม G 20 ใช้มาตรการนี้ด้วย ดังนั้น ในอนาคต แรงกดดันจากระดับสากลเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเกิดขึ้น
กรณีประเทศไทย ผมมีความเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ และไม่ควรรอให้มีแรงกดดันในระดับนานาชาติก่อนด้วย ผมมีเหตุผล 2 ประการ
หนึ่ง คนไทยส่วนใหญ่ ใช้ศูนย์การเงินไม่ เป็นทางค้าปกติ
(ก) ธุรกิจไทยยังไม่มีบริษัทลูกที่เสี่ยงระดับโลกอย่างกรณีใยหิน asbestos ที่จำเป็นจะต้องไปใช้ศูนย์การเงิน
(ข) โครงการในไทยที่คนไทยร่วมลงทุนกับต่างชาติก็สามารถจัดตั้งบริษัทในไทยได้สะดวก เพราะระบบกฎหมายไทยเป็นสากลมากพอ
(ค) ธุรกิจกองทุนรวมที่เสนอขายนักลงทุนในต่างประเทศก็ยังไม่ค่อยมี และ
(ง) คนไทยที่มีรายได้ที่เกิดในต่างประเทศแท้จริงนั้นมีน้อย
ดังนั้น การทำธุรกิจทางค้าปกติของคนไทยส่วนใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องไปจัดตั้งบริษัทศูนย์การเงิน ยกเว้นเฉพาะการลงทุนธุรกิจในต่างประเทศ การรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ และการถืออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นส่วนน้อย
แต่ถ้าพบว่า มีคนไทยจัดตั้งบริษัทศูนย์การเงิน
(ก) เพื่อเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยกันเอง
(ข) เพื่อควบคุมกิจการธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ภายในประเทศไทย
(ค) เพื่อถือกรรมสิทธิ์หลักทรัพย์ภายในประเทศไทย หรือ
(ง) เพื่อถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศไทย
วัตถุประสงค์เหล่านี้ ไม่ใช่ทางค้าปกติ เพราะใช้วิธีจัดตั้งบริษัทในประเทศได้อย่างสะดวกอยู่แล้ว จึงต้องตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน
สอง ศูนย์การเงินเป็นหลุมดำทางข้อมูล
ประเทศศูนย์การเงินจะไม่ยินยอมให้ข้อมูลแก่ทางการของประเทศอื่นโดยง่าย เพราะจุดขายของศูนย์การเงินก็คือการรักษาความลับ และส่วนใหญ่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับไทย ดังนั้น ทางการไทยจะไม่สามารถหาคำตอบที่จริงจังได้เพราะมีหลุมดำทางข้อมูล
และเนื่องจากในอนาคต ไทยจะมีการค้าขายข้ามพรมแดนมากขึ้น ทั้งกับอาเซียนและประเทศอื่นๆ การทำกิจกรรมในศูนย์การเงินจึงมีแนวโน้มจะมากขึ้น และปัญหาหลุมดำทางข้อมูล นับวันมีแต่จะใหญ่ขึ้น และช่องโหว่ที่จะฟอกเงินหรือทำทุจริตจะใหญ่ขึ้นเป็นเงาตามตัว ผมจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะคิดปรับปรุงวิธีกำกับเกี่ยวกับเรื่องนี้
ถามว่าทำอย่างไร
ต้องทำอย่างน้อยสองอย่างครับ
อย่างแรก ต้องทบทวนปรัชญาการเก็บภาษี
ผมคิดว่าถึงเวลาที่จะเปลี่ยนกติกาให้เป็นไปตามประเทศพัฒนาแล้ว คือให้รัฐบาลเก็บภาษีบุคคลที่อาศัยอยู่ในไทย จากรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เว้นแต่ถ้าปีใดบุคคลนั้นพำนักอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่าเวลาที่กำหนด เนื่องจากโอกาสที่บุคคลธรรมดาคนไทยจะมีรายได้ที่เกิดในต่างประเทศอย่างแท้จริงนั้นมีน้อย และถึงแม้เกิดมีขึ้น ก็เนื่องจากได้รับการปกป้องคุ้มครองของประเทศไทย
ทั้งนี้ กติกาใหม่จะต้องใช้กับชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทยในปีหนึ่งปีใดเกินกว่าเวลาที่กำหนดด้วย
อย่างที่สอง ต้องแก้ปัญหาหลุมดำของข้อมูล
กรณีของไทย เนื่องจากไม่ใช่มหาอำนาจ และไม่มีอำนาจต่อรอง วิธีการกำกับเรื่องนี้ จึงต้องใช้วิธีบังคับข้อมูลผ่านคนไทยกันเอง อย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้
(ก) ข้อมูลสำหรับผู้ที่ยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.
สำหรับบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ถ้าหากผู้ใดมีหุ้นอยู่ในบริษัทในศูนย์การเงิน ต่อไปต้องกำหนดให้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทนั้นต่อ ป.ป.ช.ทุกปี โดยให้แสดงข้อมูลเจ้าของที่แท้จริง การรับเงิน และการจ่ายเงินในบริษัทนั้น รับจากใคร จ่ายให้ใคร เพื่อเหตุใด
(ข) ข้อมูลสำหรับบุคคลทั่วไป
สำหรับบุคคลทั่วไป ต่อไปต้องมีการการออกกฎหมายเช่นเดียวกับ Foreign Account Tax Compliance Act ของสหรัฐ เพื่อบังคับให้คนไทยที่มีบัญชีบัญชีแบงก์ในต่างประเทศต้องยื่นข้อมูลต่อทางการไทยทุกปี โดยยื่นไปที่ศูนย์การปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินที่จัดตั้งขึ้น และต้องครอบคลุมคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะนักการเมืองหรือบุคคลที่อยู่ในข่ายของ ป.ป.ช.
เนื่องจากการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลนี้จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางบัญชี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางการเงินจึงอาจจะจัดตั้งขึ้นในสำนักงาน ป.ป.ช. หรือ กระทรวงการคลัง หรือเป็นองค์กรเอกเทศ
(ค) ข้อมูลสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์
กรณีที่มีคำสั่งซื้อหลักทรัพย์ไทยมาจากต่างประเทศ จะมีหลายกรณีที่ชื่อผู้ซื้อเป็นบริษัทลูกของแบงก์ข้ามชาติ ที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะเพื่อไม่แสดงชื่อเจ้าของแท้จริง มักจะใช้ชื่อที่มีคำว่า นอมินี ต่อท้าย
วิธีการบังคับให้ได้ข้อมูล คือกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์ในไทย รายใดจะรับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ต่อไปจะต้องให้ลูกค้าทำข้อตกลงพร้อมที่จะให้ข้อมูลแก่ทางการไทยเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบเกี่ยวกับเจ้าของแท้จริงในหุ้นดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดกฎหมายไทยก่อน
แต่มาตรการที่กล่าวถึงเหล่านี้ จะมีผลทำให้การค้าขายไม่คล่องตัวเท่าเดิม ดังนั้น การตัดสินใจจะนำมาตรการเหล่านี้มาใช้ ควรจะจัดลำดับก่อนหลัง ให้เวลาเอกชนในการปรับตัวอย่างไร และควรจะมีการศึกษาและถกเถียงกันอย่างเต็มที่
เอกสารลับปานามาได้จุดประกายความสงสัยในหมู่ประชาชน ที่นับวันจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น และทำให้ต้องคิดว่า ไทยควรจะแก้ไขปรับปรุงวิธีการกำกับดูแลเรื่องเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างไร
โดยเริ่มศึกษาเตรียมการตั้งแต่วันนี้
อ่านประกอบ :
มูลนิธิต้านทุจริตจี้นักการเมืองเปิดรายชื่อ บ.นอกอาณาเขต-แจ้ง ปปง.สอบ
'ไอซีไอเจ' ประกาศเปิดฐานข้อมูลปานามาเปเปอร์ส200,000 บริษัท9 พ.ค.
พบ 600 คนไทย-บิ๊กธุรกิจ-นักการเมืองตั้งบริษัทลับบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-เคย์แมน
“นลินี-น้องชาย”ตั้งบริษัทบนเกาะบริติชเวอร์จิ้น-นายพล“แองโกลา”หุ้นส่วน
ไร้ร่องรอยเงินลงทุน“เกาะบริติช เวอร์จิ้น” ในบัญชีฯ“นลินี ทวีสิน”
ลูกหลาน “เผด็จการ-มหาเศรษฐี” อาเซียนซุกบริษัทลับนับร้อยบนเกาะสวรรค์
นักข่าวสืบสวนนานาชาติเปิดข้อมูล“บริษัทลับ”บนเกาะสวรรค์1 แสนราย-เศรษฐีไทยอื้อ
‘ปานามาเปเปอร์' ล่าสุด! 'ทายาทเบียร์สิงห์ -ภรรยา' ตั้งบ.เกาะบริติชเวอร์จิ้นปี 48
'พิรุณ ชินวัตร' หลานชายทักษิณ โผล่ชื่อใน ‘ปานามา เปเปอร์ ‘
ข้อมูลล่าสุดปานามา เปเปอร์ส! พี่น้อง 'อัศวโภคิน' ตั้ง 2 บ.ที่บริติช เวอร์จิ้น
โดนแล้ว! ตร.-อัยการบุกค้น สนง.กฎหมาย ปานามาเปเปอร์ส
ป.ป.ช.เจอแล้ว! ชื่อนักการเมืองพันปมปานามาลีก-รอข้อมูล ปปง.เสริม
พบตระกูลจิราธิวัฒน์ 7 คน ตั้ง 8 บริษัท ฐานข้อมูลปานามาลีก
อเมริกาถก รบ.ทั่วโลกปมปานามาลีก! ทูตชี้เป็นความร้ายแรงเรื่องเลี่ยงภาษี
เช็คข้อมูล ICIJ พบคนไทยใช้ที่อยู่ 14 จว.จดทะเบียนบริษัท ตปท.-ปปง.ลุยสอบ
ไข 11 ข้อกังขา ‘ปานามา เปเปอร์ส ‘กับลูกค้า 21 รายในประเทศไทย
เจาะ 5 บริษัทเจ้าพ่อน้ำเมา “เจริญ-วรรณา” ในฐานข้อมูลปานามาลีก
พบชื่อ 'เจริญ-วรรณา' สิริวัฒนภักดี-พี่น้อง 'จิราธิวัฒน์' ในฐานข้อมูลปานามาลีก
'ICIJ' เผยเอกสาร 'ปานามาลีก'!เจ้าสัวไทยติดโผตั้งบ.ลับเกาะบริติชเวอร์จิ้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายธีระชัย จาก mcot