เปิดกฎหมาย เถียงให้รู้เรื่อง! ทำไม สจล. รับงานแลนด์มาร์คเจ้าพระยา เทียบกับ กฟภ.ไม่ได้
...คำถาม คือ กรณีสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยรับจ้างประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยไม่มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 หรือไม่...
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางรวม 57 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสุดเขต กทม. โดยมีโครงการนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ลงนามสัญญาจ้าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 29 ก.พ.59 และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาแล้วระยะหนึ่ง ในวงเงิน 120 ล้านบาท
ขณะที่มีเสียงคัดค้านจากสมาชิกสภาวิศวกร โดยระบุว่า สจล.เป็นสถาบันการศึกษา จะรับปฏิบัติงานในโครงการดังกล่าวไม่ได้ เนื่องจากไม่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิศวกร พ.ศ.2542 จนทำให้ สภาวิศวกร ต้องนำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความชัดเจนและบรรทัดฐานต่อไป
(อ่านประกอบ: สภาวิศวกรแถลงส่งกฤษฎีกาตีความ ปม สจล.รับงานไม่มีใบประกอบวิชาชีพ)
ต่อมาคณะผู้บริหารโครงการฯ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวยืนยันการปฏิบัติงาน สามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นเรื่องเสร็จที่ 137/2547 เรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ถึงนายกสภาวิศวกรขณะนั้น
รวมถึงเทียบเคียงกับกรณีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง แนวทางการดำเนินการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 (การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคล)
(อ่านประกอบ:สจล.ยกความเห็นกฤษฎีกาปี 47 เทียบ ยันรับงาน 'แลนด์มาร์คเจ้าพระยา' ได้)
คำถาม คือ กรณีสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไปรับจ้างประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยไม่มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 หรือไม่...
หมวด 6 การควบคุมการประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
มาตรา 45 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนพร้อมจะประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาใด เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตในสาขานั้นจากสภาวิศวกร
มาตรา 47 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบุคม ทั้งนี้ รวมถึงการใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีควมรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมสาขานั้น ๆ จากสภาวิศวกรหรือสถาบันที่สภาวิศวกรรับรอง หรือผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร
ทั้งนี้ การประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งเข้าข่ายงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ.2550 ต้องดำเนินการโดยผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หากฝ่าฝืนอาจมีความผิดตามมาตรา 45 และ 47
รวมถึงมีโทษตามมาตรา 71 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และหากผู้ใช้และสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตามมาตรา 45 และ 47 อาจได้รับโทษตามมาตรา 71 และ 74 แล้วแต่กรณี
สจล. มีความแตกต่างกันกับ กฟภ.
‘ไกร ตั้งสง่า’ กรรมการสภาวิศวกร กล่าวยืนยันอีกครั้ง หลังสจล.แถลงการเข้ารับงานเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถทำได้นั้น
เขาแสดงความเห็นแย้ง สาเหตุที่ สจล.ไม่สามารถรับจ้าง ทำงาน หรือปฏิบัติงานประกอบอาชีพวิศวกรรมในสาขาที่เข้าข่ายเป็นสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ เพราะ สจล.มีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นสถานศึกษาตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา
ประกอบกับ สจล. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551 กล่าวคือ ให้สถาบันเป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา พัฒนาประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยี และส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง โดยมีภารกิจด้านการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม และทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
“การที่ สจล. จัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถาบันเป็นสถานศึกษาและวิจัย ไม่มีวัตถุประสงค์ ภารกิจในการรับจ้าง ทำงาน ปฏิบัติงาน หรือประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในสาขาที่เข้าข่ายเป็นสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม” กรรมการสภาวิศวกร ระบุ และชี้ว่า สจล.จึงไม่สามารถไปรับจ้าง ทำงาน ปฏิบัติงาน หรือประกอบวิชาชีพวิศวกรรมในสาขาที่เข้าข่ายเป็นสาขาวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคลจากสภาวิศวกร
ส่วนที่คณะผู้บริหารโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำไปกรณีนี้ไปเทียบเคียงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เขาระบุว่า กรณีของ สจล. มีความแตกต่างกันกับ กฟภ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยมาตรา 64 และ 95 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 บัญญัติให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง จัดจำหน่ายพลังไฟฟ้า และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของ กฟภ.แล้ว จะเห็นได้ว่า กฟภ.มีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า และในการดำเนินการดังกล่าว มาตรา 13 (4) ประกอบกับมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ได้บัญญัติให้ กฟภ.ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาและคำนึงถึงความปลอดภัย ประโยชน์ของรัฐ และประชาชนเป็นหลัก
ด้วยเหตุที่ กฟภ.เป็นนิติบุคคลมหาชนที่ต้องดำเนินการตามขอบวัตถุประสงค์ อำนาจหน้าที่ และหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 บัญญัติไว้ กฟภ.จึงมีอำนาจดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร แม้การดำเนินการดังกล่าวจะเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 837/2546
“สจล. จึงไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคลจากสภาวิศวกรได้ เนื่องจาก สจล.มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. วิศวกร พ.ศ.2542” ไกร ระบุ
ทั้งนี้ มาตรา 49 ตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาวิศวกร ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาวิศวกรและถ้าขาดจากสมาชิกภาพเมื่อใดให้ใบอนุญาตของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ผู้ขอรับใบอนุญาตที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนเป็นของคนต่างด้าวจำนวนเท่าใด นิติบุคคลนั้นอย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1)มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักร
2)ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วน กรรมการบริษัท หรือสมาชิกในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน กรรมการ ผู้จัดการของบริษัท หรือผู้มีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียวของนิติบุคคลเป็นผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้
อึ้งเกือบทุกมหาวิทยาลัย ทำกัน!!
ด้านอดีตกรรมการร่าง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ‘ธำรงค์ สมพฤกษ์’ อธิบายถึงเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ว่า บัญญัติขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แบ่งเป็น ประเภทบุคคล และนิติบุคคล ซึ่งการกระทำผิดตามกฎหมายข้างต้น
กรณีที่กำลังพูดถึงกันนี้จึงมิได้มีเพียง สจล.แห่งเดียว แต่ที่ผ่านมามีเกือบทุกมหาวิทยาลัย เขายืนยัน และว่า ระยะหลังจึงมีความพยายามอ้างมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในอดีต ให้รัฐจ้างมหาวิทยาลัยปฏิบัติงานได้ จึงมีการตั้งเป็นสถาบันวิศวกรรม หรือสถาบันต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รับงานตลอด 10 ปีที่ผ่านมา”
อดีตกรรมการร่าง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ได้เคยสอบถามไปยังสภาวิศวกร แต่ได้รับคำตอบไม่ชัดเจน เนื่องจากสภาวิศวกรมีองค์ประกอบส่วนหนึ่งมาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วย จึงนำมาสู่การอ้างว่า การปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นการบริการวิชาการ ทั้งที่กฎหมายเขียนชัดเจนต้องมีกติกาในการควบคุม
ประเด็น คือ มหาวิทยาลัยรับงานมาปฏิบัติ หากเป็นกรณีขอความร่วมมือ โดยไม่มีการจ่ายเงิน จะไม่เป็นปัญหา
อีกทั้งกรมบัญชีกลางเคยให้ความเห็นกรณีคล้ายกันมาแล้ว โดยยืนยันทำไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 ยกเว้น มีการแก้ไขกฎหมายให้มหาวิทยาลัยรับงานได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตจากสภาวิศวกร
(อ่านประกอบ:จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่?)
"สจล.เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีหน้าที่ให้การศึกษา และตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.2551 ซึ่งแตกต่างจากการประกอบอาชีพ สจล.สอนวิชาชีพ แต่นำมาประกอบอาชีพไม่ได้ เพราะวิชาการ คือ วิชาที่สอน แต่วิชาชีพ คือ การปฏิบัติสม่ำเสมอจนเกิดความชำนาญ มิฉะนั้น เรียนจบมาจะสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่ออะไร"
ทั้งนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา สมาชิกสภาวิศวกรจะเกิดความลังเลใจ เพราะเหตุใดผู้ปฏิบัติงานนอกกฎหมายทำได้ กลับไม่ได้รับการลงโทษ
พร้อมกันนี้ เขาได้ยกตัวอย่าง 'ตึกถล่ม' ถามว่าจะเอาผิดกับใคร กรณีเป็นบริษัทจดทะเบียนสมาชิก จะถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 เพื่อสร้างหลักประกันความปลอดภัยกับประชาชน
ตรงกันข้าม ถามว่า กรุงเทพมหานครว่าจ้างให้ สจล.ออกแบบ อนาคตเกิดปัญหาจะเอาผิดกับใคร ?
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นความไม่ถูกต้อง
“ไม่ปฏิเสธโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของประชาชน แต่หากโครงการฯ เริ่มต้นด้วยการกระทำผิดกฎหมาย และอนาคตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีแล้ว เมื่อมีผู้ร้องเรียนเกิดขึ้น
อีกทั้งในขณะกำลังก่อสร้างอยู่ กังวลว่าจะเหมือนกรณีโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จะต้องสูญเสียเงินจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ ใครจะรับผิดชอบเงินภาษีนั้น ทำไมไม่ชะลอการดำเนินงานออกไป จนกว่าจะมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเสียก่อน ” อดีตกรรมการร่าง พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 กล่าวทิ้งท้าย
สุดท้ายแล้ว สจล. หรือสถาบันการศึกษาอื่นจะรับจ้างประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม โดยไม่มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรได้หรือไม่ คงต้องรอการชี้ขาดจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งจะสร้างความชัดเจนและกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยมิได้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอย ๆ ที่หยิบยกขึ้นมาโต้แย้งอีก .
(อ่านประกอบ:ระอุ!!ร้องสภาวิศวกร สอบ 'สจล.' รับงานออกแบบเขื่อนกั้นนิคมฯ-แลนด์มาร์คเจ้าพระยา)