เลขาธิการ CHES จี้ ทปอ.ตัดสินใจปิดเทอมแบบเดิม ไม่ต้องรอผลวิจัย
วีรชัย จี้ ทปอ. ไม่ต้องรอผลวิจัยให้เปลืองงบ ยันผลโพล 90% ย้ำชัด ให้ปิดเทอมแบบเดิม ก่อนนิสิตนักศึกษาจะเข้าใจคำว่าซัมเมอร์เป็นฤดูฝน
ตามที่ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้กล่าวภายหลังการประชุมสามัญทปอ.ครั้งที่ 2/2559 ว่า การเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียน ทปอ.จะรอผลวิจัยอีกครั้งนั้น
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES (Coordinating Center for the Public Higher Education Staff) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว โดยผลโพลระบุชัด ไม่เอาระบบปิดเทอมของ ทปอ. ที่สำคัญ การปิดเทอมซัมเมอร์ ของต่างประเทศทุกประเทศทั่วโลก คือปิดภาคฤดูร้อน แต่ปิดเทอมซัมเมอร์ของที่ประชุมอธิการบดี ทปอ. คือปิดฤดูฝน เกรงว่าหากปล่อยไว้เนิ่นนาน นิสิตนักศึกษาผู้ปกครองจะสับสนความหมายของคำว่าซัมเมอร์
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวถึงสถิติอุณหภูมิของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ปกติเราปิดภาคเรียนตามระบบเดิมคือ มี.ค.-เม.ย.(Mar-Apr) ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเราอากาศร้อนที่สุด ปิดก่อนวันที่ 1 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ประเทศเรามีเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ และการเกณฑ์ทหารไม่ได้ย้ายตาม ทปอ. และเราไปปิดภาคเรียนอีกที เดือน ต.ค.(Oct) ซึ่งเป็นช่วงที่ปลายฤดูฝน หรือหากเทียบประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ปิดภาคเรียน ก.ค.-ส.ค. (Jun-Aug) เพราะเป็นช่วงที่เวียดนามร้อนที่สุดเช่นกัน และปิดอีกทีช่วง ม.ค.(Jan) ปีใหม่
"ประเทศไทยเราปิดภาคเรียนได้เหมาะสมแล้ว เพราะช่วงปิดเทอมใหญ่ มี.ค.-เม.ย.(Mar-Apr) เป็นช่วงที่ ทางยุโรป ปิดภาคเรียนที่ 2/3 ของเขาพอดี เราแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษากับยุโรปหรือทั่วโลกได้ทั้งทวีป ที่ประชุมอธิการบดี จะเลื่อนไปทำไม"
อ่านประกอบ:มุมมองดร.ภาวิช ทองโรจน์ กับการเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน