สร้างรถไฟเร็วสูง กทม.-โคราช ‘สุเมธ องกิตติกุล’ แนะรัฐศึกษามาตรการจูงใจคนใช้บริการ
‘สุเมธ องกิตติกุล’ เผยสร้างรถไฟเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช โอกาสปัจจัยภายนอก หากราคาน้ำมันลด คนหันไปใช้รถส่วนบุคคลมากขึ้น เสี่ยงทำประสบปัญหาเชิงธุรกิจ แนะรัฐกำหนดมาตรการเหมือนหลายประเทศ ควบคุมค่าผ่านทาง ภาษีรถ ภาษีน้ำมัน เปิดทางแข่งขันในรูปแบบการเดินทางเท่าเทียม
กรณีรัฐบาลมีแนวทางจะพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟ โดยมีแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะแรก เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะลงทุนด้วยตนเอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จึงยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความกังวลจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงินลดลง หากไม่เชื่อมเส้นทางรถไฟกับจีนที่ จ.หนองคาย ตามแผนเดิม (อ่านประกอบ:ปชป.ยื่นนายกฯ ทบทวนแผนลงทุนรถไฟเร็วสูง หวั่นระยะทางแค่โคราชไม่คุ้มทุน)
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เชื่อว่าจากการศึกษาความเป็นไปได้โครงการของรัฐบาลในด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจะดี แต่ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจหรือการเงิน เมื่อมีการตั้งราคาค่าโดยสารจะคุ้มค่าหรือไม่ จึงอาจเป็นปัญหา เพราะปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจำนวนผู้โดยสารค่อนข้างมาก และโครงการควบคุมเรื่องนี้ไม่ได้
“การเดินทางจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปได้ 2 เส้นทาง คือ ทางถนน โดยรถประจำทางหรือขับรถยนต์ กับทางรถไฟ หากรถไฟกำหนดราคาค่าโดยสาร แต่ราคาน้ำมันลดลง จะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟความเร็วสูงน้อย เพราะขับรถไปเองประหยัดมากกว่า” นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า ขณะเดียวกันกรณีราคาน้ำมันขยับขึ้น จะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟความเร็วสูงและรถประจำทางมากขึ้น ดังนั้นไม่เฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่รวมถึงโครงการอื่น ๆ จะควบคุมปัจจัยภายนอกลักษณะดังกล่าวไม่ได้
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า รัฐจึงต้องมีนโยบายอื่นที่ช่วยส่งเสริมและควบคุมปัจจัยเหล่านั้นให้ได้ เช่น กำหนดค่าผ่านทาง กรณีมอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ต้องไม่มีราคาสูงหรือต่ำเกินไป จนทำให้ประชาชนหันมาขับรถมากกว่าการโดยสารรถไฟ โดยไม่แน่ใจว่า ขณะนี้รัฐบาลได้พิจารณาประเด็นดังกล่าวแล้วหรือไม่ เรียกว่า การแข่งขันกันในรูปแบบการเดินทาง ซึ่งหลายประเทศดำเนินการได้แล้ว ด้วยการส่งเสริมระบบราง ควบคุมค่าผ่านทาง ภาษีรถ ภาษีน้ำมัน เพื่อให้รถไฟมีความได้เปรียบในการแข่งขัน .
ภาพประกอบ:รถไฟความเร็วสูง-เว็บไซต์ไทยพีบีเอส