เช็คจ่ายเมื่อไหร่-ใครสร้างรั้ว! ปมที่ยังไม่เคลียร์หลัง ศอตช.ยันราชภักดิ์โปร่งใส?
เจาะสองปมร้อนที่ ศอตช. ยังไม่เคลียร์หลังแถลงข่าวยันการก่อสร้าง ‘ราชภักดิ์’ โปร่งใส-ไร้ทุจริต ตกลงแล้วเช็ค 5 ใบ 20 ล้าน สั่งจาก บ.สยามปุระฯ ให้ ‘เซียนอุ๊’ จ่ายเมื่อไหร่-ในฐานะอะไร ทำไมข้อมูลสวนทางโรงหล่อที่ว่า ทหารตามคืนได้แล้ว ยกเลิกประกาศสร้างรั้วทำไม ตกลงรั้วสร้างเสร็จตอนไหน-ใครสร้าง
จบแบบ ‘แฮปปี้เอ็นดิ้ง’ เรียบร้อยโรงเรียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปแล้ว !
ภายหลังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สรุปผลการตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยยืนยัน-นั่งยันว่า ‘ไม่มีเรื่องทุจริต’ แต่อย่างใด ?
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการหักค่าหัวคิว ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการตรวจสอบแล้ว พบว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เคยออกมาระบุทำนอง มีการหักค่าหัวคิวในการก่อสร้าง แต่ข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบคือ เป็นค่าที่ปรึกษาระหว่างโรงหล่อ 5 แห่ง กับ ‘เซียนอุ๊’ หรือนายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ เซียนพระชื่อดัง ที่เป็นผู้หางานมาให้
ประเด็นนี้ ‘จตุพร พรหมพันธุ์’ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เดินทางเข้ามาร่วมฟังพร้อมกับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึง สตง. ในเรื่องการหักหัวคิวด้วย โดยเห็นว่า ‘เซียนอุ๊’ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.อยุธยา ดังนั้นจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ การรับเงินถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่
ขณะเดียวกันคำว่า ‘ค่าที่ปรึกษา’ เกิดขึ้นภายหลังที่ประเด็น ‘ค่าหักหัวคิว’ กำลังร้อนแรง ?
ร้อนถึง ‘บิ๊กต๊อก’ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. ต้องชี้แจงว่า พล.อ.อุดมเดช ยืนยันมาตลอดว่าไม่ผิด และเคยต่อว่าตนด้วยซ้ำ และจากข้อสรุปที่ไปสอบถาม พล.อ.อุดมเดช มีการยอมรับว่าพลาด พูดออกไปเพราะไม่เข้าใจ จึงใช้คำว่าหัวคิว และเมื่อการตรวจสอบจบลง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปสอบถามแล้ว เพราะ พล.อ.อุดมเดช พูดคำนี้ออกมา เมื่อพูดว่าหัวคิว มันผิด เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า ไม่มีเจตนา แต่เกิดจากผู้สื่อข่าวซักถามและตอบกันไปมาจึงหลุดคำว่าหัวคิวออกไป โดยไม่เข้าใจเนื้อหาและวิธีการ
(อ่านประกอบ : ไร้ทุจริต! ศอตช.ไม่พบพิรุธการสร้างราชภักดิ์-ยัน'บิ๊กโด่ง'เข้าใจผิดปมหัวคิว)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงที่ ศอตช. ตรวจสอบพบจะเป็นอย่างไร มีความโปร่งใส-ไร้พิรุธ จริงอย่างที่แถลงหรือไม่ ?
แต่สิ่งที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบ และยังไม่ได้รับคำตอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีอยู่อย่างน้อย 2 ประเด็น
หนึ่ง ‘เซียนอุ๊’ เข้าชี้แจงกับ สตง. ระบุว่า ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาจากโรงหล่อ 5 แห่ง เป็นเช็ค 5 ใบ วงเงินประมาณ 20 ล้านบาท สั่งจ่ายในนามของบริษัท สยามปุระ จำกัด และได้นำไปบริจาคให้กับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์แล้ว
คำถามสำคัญคือ เช็คดังกล่าวถูกจ่ายออกจากบริษัท สยามปุระ จำกัด เมื่อไหร่ เนื่องจาก ‘เซียนอุ๊’ พ้นจากการถือหุ้นบริษัทดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการพูดถึงเรื่องการหักค่าหัวคิว และเรียกร้องให้ตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ร้อนแรง ?
ทว่าคำตอบของ สตง. ยืนยันว่า เช็คดังกล่าวที่ออกมา เป็นเงินก่อนที่จะมีการเบิกจ่ายกองทุนของกองทัพบก เพื่อนำมาจ่ายชำระค่าองค์พระรูปบูรพกษัตริย์ โดยเงินดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่ปรึกษาของโรงหล่อ 5 แห่ง ให้กับ ‘เซียนอุ๊’ และได้นำเงินในส่วนนี้จากบริษัทไปบริจาค ส่วน ‘เซียนอุ๊’ จะอยู่ในฐานะอะไรในบริษัทก็แล้วแต่ แต่ตามหลักฐานเช็ค พบว่า ‘เซียนอุ๊’ มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกเช็คครั้งนี้ในนามของบริษัท สยามปุระ จำกัด และเงินดังกล่าวมาจากบัญชีของบริษัท สยามปุระ จำกัดจริง จึงยืนยันได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินบริจาคที่มาก่อสร้างองค์พระรูปฯ แต่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของทั้งฝ่ายโรงหล่อ และฝ่าย ‘เซียนอุ๊’
ซึ่งข้อมูลตรงนี้สวนทางกับที่สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์โรงหล่อที่ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนหน้านี้มีการจ่ายเงินให้กับ ‘เซียนอุ๊’ จริง หลังจากได้รับงานสร้างองค์พระรูปฯ แต่เงินที่จ่ายไม่ใช่ค่าหัวคิว แต่เป็นการเงินที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนการเข้ามาช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการทำงานนี้ โดยโรงหล่อบางแห่งก็จ่าย บางแห่งก็ไม่จ่าย โดยเป็นเงินประมาณ 10% ของราคาจ้าง
ขณะที่นายเอนก หงษ์มณี เจ้าของโรงหล่อประติมา ไฟน์ อาร์ท ยืนยันว่า เงินที่จ่ายให้กับ ‘เซียนอุ๊’ ไป ทราบมาว่าทหารไปติดตามเอาเงินคืนมาได้แล้ว และเคยสอบเจ้าของโรงหล่อแห่งอื่น ๆ ด้วยว่า ต้องการเงินคืนหรือไม่ พวกตนก็ยืนยันไปว่า ไม่ต้องการเอาคืน และขอบริจาคเงินจำนวนนี้ให้ทหาร เพื่อสมทบงานสร้างอุทยานราชภักดิ์ส่วนอื่นที่ยังค้างอยู่ เพราะทราบว่ายังมีหลายส่วนที่งานยังค้างอยู่ โดยกองทัพบกได้ออกใบเสร็จให้ด้วย
(อ่านประกอบ : ทหารตามเงินได้แล้ว แต่ไม่มีใครเอาคืน! โรงหล่อแจงยิบปมจ่ายเงิน 'เซียนพระ')
ตรงนี้เป็นหนึ่งในเงื่อนงำที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ศอตช. ว่า สรุปแล้วเช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเมื่อใด ‘เซียนอุ๊’ อยู่ในฐานะอะไรในบริษัท สยามปุระ จำกัด และเงินส่วนนี้ทหารติดตามคืนมาได้แล้ว มีการนำไปบริจาคจริงหรือไม่ ?
สอง กรณีกองทัพบกยกเลิกการประกาศเชิญชวนประกวดราคาจ้างด้วยวิธีพิเศษ งานก่อสร้างรั้วอุทยานราชภักดิ์ วงเงินกว่า 9.3 ล้านบาท โดยไม่ระบุเหตุผล และข้อเท็จจริงในการยกเลิกแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2558 กองทัพบก ได้ประกาศเชิญชวนประกวดราคาจ้างด้วยวิธีพิเศษ งานก่อสร้างรั้วอุทยานราชภักดิ์ วงเงิน 9,343,500 บาท
โดยเป็นอีกหนึ่งงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินดำเนินการ นอกเหนือจากงานปูพื้นหินลานสักการะ, บันได และลานชั้นบน รอบแท่นพระบรมรูป อุทยานราชภักดิ์ วงเงิน 34,980,200 บาท และงานติดตั้งหินอ่อนรอบแท่นพระบรมรูป 7 รัฐกาล วงเงิน 11,963,600 บาท รวมวงเงินว่าจ้างทั้งสิ้น 46,943,800 บาท โดยสองงานหลังปรากฎรายชื่อ บริษัท สยามสโตนอาร์ต จำกัด ผู้รับเหมาจากจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
กำหนดลักษณะงานโดยสังเขป คือ สร้างรั้วรอบบริเวณภายในอุทยานราชภักดิ์ ความยาวประมาณ 2,014.00 เมตร
ปรากฎรายชื่อคณะกรรมการกำหนดราคากลาง จำนวน 3 ราย คือ พ.อ.ชัชพล ศุภมานพ, พ.อ.สถาพร มีศิริ, พ.ท.อุดม ระวัง (ชุดเดียวกับงานติดตั้งหินอ่อนรอบแท่นพระบรมรูป 7 รัฐกาล วงเงิน 11.9 ล้านบาท และงานปูพื้นหินลานสักการะ , บันได และลานชั้นบน รอบแท่นพระบรมรูป อุทยานราชภักดิ์ วงเงิน 34,980,200 บาท)
กำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานให้แล้วเสร็จใน 90 วัน การรับรองสภาพงาน 2 ปี
ต่อมาเมื่อเดือน ม.ค. 2559 สำนักข่าวตรวจสอบพบว่า กองทัพบกได้ยกเลิกประกาศประกวดราคาจ้างรั้วดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่ายกเลิกตั้งแต่วันไหน ?
แต่จากการลงพื้นที่ตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2558 พบว่า งานก่อสร้างรั้วดังกล่าวเสร็จแล้ว !
โดยจากการสอบถามทหารที่ประจำการอยู่ที่อุทยานราชภักดิ์ และคนงานก่อสร้างในพื้นที่หลายราย ให้ข้อมูลตรงกันว่า งานก่อสร้างในอุทยานราชภักดิ์หลายส่วนมีบริษัทเอกชน มาสร้างถวายให้
ซึ่งเอกชนที่เข้ามาช่วยก่อสร้างงานให้มากที่สุด คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด
"งานก่อสร้างในอุทยานราชภักดิ์ส่วนใหญ่ เอกชนที่เป็นแม่งานหลักในการทำงาน คือ ช.การช่าง ซึ่งนอกจากเงินบริจาคกว่า 100 ล้านบาท ยังเข้ามาช่วยก่อสร้างงานส่วนต่างๆ ให้ด้วย"
"จุดเริ่มต้นงานก่อสร้างในช่วงแรก พื้นที่บริเวณอุทยานเป็นป่ารกมีต้นไม้เต็มไปหมด ทหารช่างเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาเริ่มต้นบุกเบิก แผ้วถางป่าจนเตียนโล่ง จากนั้นก็มีเอกชนเข้ามาช่วย”
“โดยเฉพาะ ช.การช่าง งานก่อสร้างตรงบริเวณฐานพระรูป ก็มาทำ รวมถึงรั้วด้วย ส่วนงานบางจุดที่ ช.การช่าง ทำไม่ได้ ก็มีบริษัทอื่นเข้ามารับไป แต่ตอนนี้ไม่รู้บริษัทเอกชนรายไหนเข้ามารับงานบ้าง เพราะมันเยอะ เข้า ๆ ออก ๆ บอกไม่ได้เหมือนกัน" เป็นคำยืนยันของบรรดาทหาร-คนงานที่ทำงานก่อสร้างอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
(อ่านประกอบ : ทบ.ยกเลิกประกวดราคาสร้างรั้ว‘ราชภักดิ์’วิธีพิเศษ 9.3 ล.ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว, ย้อนข้อมูล ทบ.ประกาศจ้างสร้างรั้ว 'ราชภักดิ์'ยกเลิกหลังทำเสร็จ-ใครสร้าง?)
อย่างไรก็ดีอาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจมีปัญหาบางประการ หรือติดขัดในการเบิกจ่ายงบประมาณในการก่อสร้างรั้ว ทำให้ต้องยกเลิกการประกวดราคาจ้างออกไปก่อน
แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดเจนคือ รั้วดังกล่าวได้สร้างเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนใครเป็นคนสร้างยังไม่รู้แน่ชัด ?
ขณะที่ สตง. ตอบคำถามในส่วนนี้ว่า โครงการนี้มีมูลค่าก่อสร้างประมาณ 9.3 ล้านบาท ส่วนการสร้างรั้วนั้นน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะว่าในส่วนสัญญาที่จ่ายเงินไปนั้น เป็นเงินจากโรงเรียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในหน่วยงานสังกัดกองทัพบก และมีการตรวจสอบแล้ว มีเนื้องานเป็นไปตามที่ทำสัญญากันไว้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดก็เป็นประเด็นใหม่
“จริง ๆ แล้ว เราสามารถดูได้จากสถานที่อยู่แล้วว่าเนื้องานในขณะนี้มีหรือไม่ เพราะว่าการก่อสร้างมีทั้งบริจาคเป็นเนื้อวัสดุ และใช้แรงงานของกองทัพเป็นผู้ดำเนินการ อาจจะทำให้เราเข้าใจว่างานส่วนนี้เป็นงานจ้างที่ทำไป แต่ข้อเท็จจริงที่เราตรวจพบคือ การบริจาควัสดุและใช้แรงงาน คือเจ้าหน้าที่ของเหล่าทัพที่มีความรู้เรื่องช่างในด้านโยธาเข้าไปดำเนินการ ก็อาจทำให้เข้าใจเป็นอย่างนั้นได้”
เป็นคำตอบของผู้ว่า สตง. ที่ท้ายสุดก็ไม่ได้ระบุว่า เหตุใดจึงกองทัพบกจึงยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว และใครเป็นผู้เข้าไปสร้างรั้ว หากเป็นเจ้าหน้าที่ของกองทัพที่มีความรู้ด้านโยธาเข้าไปดำเนินการอย่างที่กล่าวอ้างจริง แล้วทำไมตอนแรกถึงต้องจัดประกวดราคาจ้าง ทั้งที่รั้วดังกล่าวสร้างเสร็จไปแล้ว
ทั้งหมดคือคำชี้แจงของ ศอตช. ที่มี สตง.-ป.ป.ท.-ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในการก่อสร้างครั้งนี้ ซึ่งข้อมูลสวนทางกับที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบ และยังไม่มีคำตอบใดๆ ที่ชี้แจงอย่างเป็นรูปธรรม ว่าสรุปแล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?
แต่ก็คงไม่เหนือความคาดหมายเท่าไหร่นัก เพราะก่อนหน้าที่ ศอตช. จะแถลงผลสอบอย่างเป็นทางการประมาณ 1 เดือน ‘บิ๊กโด่ง’ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของตัวเอง ต่อมาผู้ว่า สตง. ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองว่า การก่อสร้างดังกล่าวไม่มีการทุจริต กระทั่งเข้าสู่โค้งสุดท้ายที่ ‘บิ๊กต๊อก’ สั่งให้ สตง. ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมครหา จนเปิดงานแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ก็ยังยืนยันคำเดิมว่า ‘ไร้ทุจริต-ไม่พบพิรุธ’ ในการก่อสร้างดังกล่าว
ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนในหลายประเด็น โดยเฉพาะ 2 กรณีที่ถูกหยิบยกขึ้นมาข้างต้น ที่ยังไม่มีคำตอบออกมาอย่างชัดเจน !
อ่านประกอบ :
มีประเด็นใหม่! ป.ป.ช.สั่งสอบเพิ่มปมราชภักดิ์-รวมข้อมูลกล่าวหา‘บิ๊กโด่ง’
‘วีระ’ยื่น ป.ป.ช.สอบ‘อุดมเดช-ศิริชัย’ ปมก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
เจาะถุงเงิน! ‘บ.สยามปุระ’เอาจากไหนจ่ายเช็ค 20 ล.บริจาคสร้าง‘ราชภักดิ์’
หุ้น‘เซียนอุ๊’หายจาก บ.สยามปุระฯช่วงเกิดเรื่องราชภักดิ์-นักธุรกิจโผล่ถือแทน
เทียบจุดตาย! ‘ราชภักดิ์-อผศ.ขุดคลอง’ วัดใจ‘รบ.บิ๊กตู่’สางปัญหาใต้พรม?
สตง.ชงศอตช.ชี้ขาดผลสอบราชภักดิ์ ลั่นพร้อมให้สื่อซักถาม-โชว์เช็คเซียนพระ
ตีเช็ค5ใบ20ล. บริจาคแทนโรงหล่อ!เซียนพระอุ๊ โผล่แจงสตง.ไร้หัวคิวราชภักดิ์
ทหารตามเงินได้แล้ว แต่ไม่มีใครเอาคืน! โรงหล่อแจงยิบปมจ่ายเงิน 'เซียนพระ'
แกะรอย 'อุ๊ กรุงสยาม' เซียนพระคดีอุทยานราชภักดิ์ ถูกทหารเชิญตัวให้ปากคำจริงหรือ?
ขมวดปมหัวคิวโรงหล่อ! สรุป 'เซียนพระอุ๊' มีเอี่ยวจริงหรือ? หาตัวมาแถลงชัดๆได้ไหม?
เปิดตัว2เอกชนใหม่ สร้างตึก รปภ.-ป้ายราชภักดิ์!คู่สัญญาร.ร.นายร้อยฯ 216 ล.
เบ็ดเสร็จคว้า2 สัญญา 46 ล.! ผู้รับเหมาจ.นนท์ ยันทำงานอุทยานราชภักดิ์เพื่อชาติ-ไร้หัวคิว
ทบ.ยกเลิกประกวดราคาสร้างรั้ว‘ราชภักดิ์’วิธีพิเศษ 9.3 ล.ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว
ย้อนข้อมูล ทบ.ประกาศจ้างสร้างรั้ว 'ราชภักดิ์'ยกเลิกหลังทำเสร็จ-ใครสร้าง?
ทบ.เฉย! ‘อิศรา’ร้องเรียน กก.ข่าวสารฯขอให้เปิดเผยข้อมูลสร้างราชภักดิ์