ดร.จรัส แนะรัฐจับเข่าคุย สตง.ปูทางท้องถิ่นใช้งบฯ พัฒนา กระตุ้นเศรษฐกิจ
'จรัส สุวรรณมาลา' ชี้ รบ.หนุนใช้งบฯ อปท.พัฒนาพื้นที่ เป็นหลักการที่ดี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจซบเซา ยันไม่ใช่การโยกเงิน-ล้วงลูก เหตุเป็นเงินท้องถิ่น 100% หากทำต้องติดคุก เเนะ 'ดร.สมคิด' คุย สตง. วางกรอบตรวจสอบใช้จ่ายเอื้อต่อนโยบาย
ภายหลังรัฐบาลมีนโยบายให้นำเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มียอดสะสมในธนาคารประมาณ 3 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบพบว่า สามารถนำเงินมาใช้ได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่รัฐบาลจะเป็นผู้วางกรอบการดำเนินโครงการ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีการประชุมร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศ (อ่านประกอบ:มหาดไทยเปิดช่องใช้ 'เงินสะสม' อปท. สนับสนุนนโยบายรัฐ)
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ทุกท้องถิ่นมีเงินเหลือไม่เท่ากันเพื่อใช้ในการใช้จ่าย ซึ่งไม่มีใครทราบว่าท้องถิ่นมีเงินในบัญชีจริงเท่าไหร่ เข้าใจว่า กระทรวงการคลังคงสอบถามจากธนาคารที่รับฝากเงิน อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะไม่ทราบว่า เงินจำนวนนั้นเป็นส่วนทรัพย์สินหรือหนี้สิน เพราะฉะนั้นจะคำนวณเฉพาะทรัพย์สิน โดยไม่ดูหนี้สิน ไม่ได้
ทั้งนี้ การที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มีนโยบายให้ใช้เงินท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นเป็นเจ้าของ 100% มาใช้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิด เป็นหลักการที่ดี แต่มิได้เฉพาะการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เท่านั้น เข้าใจว่าจะรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ด้วย
“หากท้องถิ่นมีเงินเหลือจริง ไม่ควรเก็บไว้ เพราะในสภาวะเศรษฐกิจประเทศไม่ฟื้น ควรนำมาใช้จ่ายในการดำเนินโครงการต่าง ๆ”
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวอีกว่า นโยบายลักษณะนี้ไม่ถือเป็นการโยกเงิน หรือล้วงกระเป๋า เพราะเป็นเงินท้องถิ่น ทำไม่ได้ เพราะจะติดคุก รัฐบาลทำได้เพียงดำเนินนโยบายโดยชวนท้องถิ่นช่วยกันคิดโครงการพัฒนากระตุ้นเศรษฐกิจแบบประชารัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นจะทำอย่างไร
"ความจริงจะไม่ทำ รัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้ จึงไม่อยากให้เข้าใจผิดว่า รัฐบาลกำลังล้วงเงินท้องถิ่น"ศ.ดร.จรัส กล่าว และว่า ส่วนศักยภาพแต่ละท้องถิ่นในการนำเงินมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมีความต้องการแตกต่างกัน จ.บุรีรัมย์ มีการก่อสร้างสนามฟุตบอล สนามแข่งรถ ถามว่าจังหวัดอื่นอยากให้บ้านเมืองมีลักษณะแบบนั้นหรือไม่ บางท้องถิ่นอยากอยู่แบบสงบหรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว รับเฉพาะนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง เป็นต้น
ศ.ดร.จรัส กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การให้ท้องถิ่นพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นเพียงตัวเลือกเท่านั้น เพราะบางท้องถิ่นไม่อยู่ในสภาพจะพัฒนาได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาท้องถิ่นแต่ละแห่งประสงค์จะพัฒนาเศรษฐกิจมาก แต่ติดขัดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่ ดร.สมคิด จะมีโอกาสพูดคุยกับ สตง. ว่า หากดำเนินนโยบายลักษณะนี้แล้วจะไม่ถูกตรวจสอบเงินย้อนหลัง และปรับเปลี่ยนมาตรฐานการตรวจสอบให้สอดคล้อง หากต้องการให้ท้องถิ่นช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างบ้านเมืองที่ดี .
ภาพประกอบ:www.ryt9.com