- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- มหาดไทยเปิดช่องใช้ 'เงินสะสม' อปท. สนับสนุนนโยบายรัฐ
มหาดไทยเปิดช่องใช้ 'เงินสะสม' อปท. สนับสนุนนโยบายรัฐ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นหน่วยงานรัฐที่มีแหล่งรายได้ที่สำคัญ จากภาษีอากรที่จัดเก็บเอง ภาษีอากรที่ได้รับการจัดสรร และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อได้มีการดำเนินการใช้จ่ายเงินตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว จะมีเงินเหลือจ่ายจำนวนหนึ่งที่ตกเป็นเงินสะสม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายในกิจการด้านบริการชุมชน และสังคม หรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยการอนุมัติของสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้นั้น
แต่ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานตรวจสอบ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีข้อทักท้วงเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ใช้จ่ายเงินสะสมโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม บางกรณีมีการใช้จ่ายเงินในลักษณะสุ่มเสี่ยงจะขัดต่อกฎหมาย
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงแนวทางที่จะดำเนินการเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำเงินสะสมไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการภายในปีงบประมาณ 2559
โดยกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสะสมอย่างเข้มงวดรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใช้จ่ายเงินสะสมได้ จะต้องเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนไม่อาจรอไปตั้งในงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ดังนี้
- โครงการที่ดำเนินการจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่เป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์หรือฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การใช้จ่ายเงินสะสมตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยจะต้องคำนึงถึงสถานะทางการคลัง เสถียรภาพทางการเงินการคลังในระยะยาว
ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องสำรองเงินจำนวนหนึ่งไว้ก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เงินที่ต้องสำรองจ่ายก่อนที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (ค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ/ผู้พิการ ฯลฯ) เงินสะสมที่มีภาระผูกพันแล้ว และสำรองจ่ายกรณีเกิดสาธารณภัย เป็นต้น หลังจากนั้นจึงจะนำเงินสะสมที่เหลือไปใช้จ่ายได้
- กำหนดกรอบประเภทโครงการที่จะดำเนินการได้แก่
1) สนับสนุนการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2) การปรับปรุงหรือจัดให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
3) ปรับปรุงหรือจัดให้มีแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค
4) ส่งเสริมการท่องเที่ยว
5) ส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ
- โครงการที่จะดำเนินการจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนเหมาะสมกับเงินที่มีอยู่ และไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่หน่วยงานของรัฐอื่นได้ดำเนินการแล้ว
- กำหนดแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่ายเงินสะสมให้เกิดความโปร่งใสทุกขั้นตอน
การที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นำเรื่องนี้เสนอครม. นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์รายหนึ่งให้ข้อมูลว่า เรื่องนี้มีการพูดคุยกันมานานแล้ว เหตุเพราะ อปท.นำเงินสะสมมาใช้ไม่ได้ ด้วยติดขัดระเบียบบางประการที่ล็อคเอาไว้ กระทรวงมหาดไทยเองซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา จึงมาสั่งปลดสิ่งที่ตัวเองก่อไว้
ปัจจุบันเงินสะสมของท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นเงินที่ได้รับจากรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ กว่า 10 ปี มีเงินสะสมอยู่กว่า 3 แสนล้านบาท ถูกนำไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ เพียงเพราะไม่มีความชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมาท้องถิ่นหลายๆ แห่ง ไม่กล้าใช้เงิน
คาดกันว่า ผลจากการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักเกณฑ์ ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดขึ้นนี้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในท้องถิ่น และชุมชนทั่วประเทศได้รับความสะดวกสบายจากสาธารณูปโภค สาธารณูปการ
นอกจากนั้นยังจะสามารถสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นจากการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจ