9 เดือนเห็นผล นักวิชาการเชื่อหลักสูตรไฮสโคปทำเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้น
นักวิชาการ เผยผลการศึกษา หลักสูตร ไฮสโคป ในศูนย์เด็กเล็ก พบเด็กมีสมาธิ รู้จักหน้าที่ ทักษะการสื่อสารที่ดีขึ้นใน 9 เดือน หวังรัฐทุ่มงบปฐมวัยเพิ่มขึ้น ชี้คุ้มค่าช่วยลดความเลื่อมล้ำทางสังคม
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ในการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มีการนำเสนอผลการดำเนินโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ หรือ RIECE Thailand โดยการสนับสนุนของม.หอการค้าไทย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ ม.มหาสารคาม
ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายต้องการสร้างทุนมนุษย์โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งจากการศึกษาวิจัยที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนในเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม โดยที่ผ่านมาทางโครงการได้เริ่มสนับสนุนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 49 ศูนย์ ผ่านการทำงานร่วมกับอบต. 29 แห่งในพื้นที่ จ.มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ครอบคลุมเด็กปฐมวัยกว่า 2,000 คน โดยใช้การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรไฮสโคป
ดร.วีระชาติ กล่าวถึงรูปแบบการสอนแบบไฮสโคปเป็นการเรียนการสอนให้เด็กได้รู้จักการวางแผนก่อนการเล่น การลงมือปฏิบัติ และการทบทวนโดยนำเสนอสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งผลจากการทำงาน 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง มีระเบียบวินัย มีสมาธิและทักษะการสื่อสารที่ดีภายในเวลาเพียง 9 เดือน นอกจากนี้ในผลการวิจัยของดร.เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาตร์รางวัลโนเบล พบว่า การจัดการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวมีผลตอบแทนคืนกลับสู่สังคมไม่ต่ำกว่า 7 เท่า
"สิ่งสำคัญในการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพคือการอบรมครูประจำศูนย์เด็กเล็กด้วยวิธีฝึกปฏิบัติจริง พร้อมกับการเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ครู นอกจากนี้ยังมีการตามเก็บข้อมูลเด็กและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง” ดร.วีรชาติ กล่าว และว่า ทางโครงการคาดหวังอยากให้มีการเชื่อมต่อระบบการสอนเด็กที่เน้นการส่งเสริมทักษะทางพฤติกรรมไปยังร.ร.อนุบาลและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดสพฐ. รวมถึงการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป พร้อมทั้งยังคาดหวังว่าการใช้งบประมาณของภาครัฐต่อหัวหลังจากนี้จะเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัยเป็นอันดับ 1 เพราะปัจจุบันรัฐเน้นลงทุนในกลุ่มอุดมศึกษา
ด้านรศ.นิตยา คชภักดี ประธานอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย กล่าวถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบไฮสโคปเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะผลที่พิสูจน์ได้ว่าเด็กมีพฤติกรรมสนใจใฝ่รู้และเด็กมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นการฝึกให้รู้จักวางแผนเป็นทักษะที่คนไทยยังขาดอยู่ ทั้งนี้หากมีการเชื่อมโยงกับโปรแกรมเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยหรือ DSPM ของกระทรวงสาธารณสุข หากนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับโครงการในการเจาะลึก เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการศึกษาถึงความเชื่อที่ผิดของพฤติกรรมการเลี้ยงดูของพ่อแม่และผู้ปกครองในชนบทไทย ที่ปัจจุบันเด็กเล็กมากกว่า 40% ไม่ได้ถูกเลี้ยงดูโดยพ่อแม่ และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนต่อไป.
อ่านเพิ่มเติม