- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ‘HightScope’ หลักสูตรปฐมวัย ฉีกทุกกฎเกณฑ์การเรียนรู้
‘HightScope’ หลักสูตรปฐมวัย ฉีกทุกกฎเกณฑ์การเรียนรู้
หากพูดถึงการศึกษาอย่าง “HightScope” คงไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าไหร่นัก เพราะเป็นนวัตกรรมการศึกษาแบบใหม่ ที่สอนให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากกว่าการท่องจำขั้นพื้นฐาน จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง ทำให้เราสามารถใช้การเรียนการสอนนี้ได้กับทุกบริบท รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่นที่รองรับเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ของประเทศ
เด็กไทยในปัจจุบันช่วงอายุ 2 – 4 ปี ส่วนใหญ่มักถูกเร่งรัดให้เรียน “กวดวิชา” ทั้งในวันหยุดและช่วงปิดเทอมเพื่อให้สอบติดโรงเรียนชื่อดัง จนกลายเป็นการพัฒนาที่เกินวัยอาจส่งผลเสียต่อทักษะการเรียนรู้ของเด็กได้ในอนาคต โดยโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (RIECE Thailand) ได้นำแนวคิด “HightScope” มาใช้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กว่า 2,000 คน ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนในช่วงปฐมวัยแบบต่อเนื่อง (อ่านประกอบ: นักวิชาการ สสค.ชี้การเรียนรู้ช่วงเด็กปฐมวัย เป็นยุคทองสมองเปิดรับดีสุด)
ขณะเดียวกันการพัฒนาเด็กปฐมวัย (early childhood development) ก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างทุนมนุษย์ (human capital) ให้กับประชากรของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตของสังคม ช่วยลดต้นทุนทางสังคมที่อาจจะเกิดจากการก่ออาชญากรรม ติดยาเสพติด และช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการลดความแตกต่างด้านทุนมนุษย์นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากพูดถึงการศึกษาอย่าง “HightScope” คงไม่ค่อยมีคนรู้จักมากเท่าไหร่นัก เพราะเป็นนวัตกรรมการศึกษาแบบใหม่ ที่สอนให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากกว่าการท่องจำขั้นพื้นฐาน จึงไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง ทำให้เราสามารถใช้การเรียนการสอนนี้ได้กับทุกบริบท รวมถึงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่นที่รองรับเด็กปฐมวัยส่วนใหญ่ของประเทศ
‘ทรงเกียรติ ล้านพลแสน’ นายกอบต.หนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์ เขาได้รับการประสานงานจาก ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง หัวหน้าโครงการฯ ให้เข้ามาร่วม โดยไม่รู้มาก่อนว่าเป็นรูปแบบไหน
แต่เมื่อได้มานั่งฟัง พูดคุย เขาก็เริ่มเห็นถึงแนวทางความน่าจะเป็นประโยชน์กับลูกหลานในท้องถิ่น ซึ่งระหว่างนั้นได้มีการพูดคุยกันนานพอสมควรกว่าจะตกลงปลงใจเข้าร่วมโครงการนี้
กระทั่งหลังจากการเข้าร่วมโครงการไปได้สักระยะ เขาก็สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงจากเด็กตัวน้อยๆเหล่านี้มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ ‘คุณครู’ มีแนวทางในการพัฒนาองค์ความรู้ในการสอนมากขึ้น
"หลายคนอาจมองการศึกษาเป็นเพียงเรื่องประกอบ แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากของการดำเนินชีวิต เพราะสังคมทุกวันนี้มีอะไรหลายอย่างที่เราไม่คาดฝัน ดังนั้น ต้องมีการปรับกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้อง และเมื่อได้รับโอกาสแล้วก็ยิ่งต้องทำต่อไปให้ปรากฏผลอย่างดีที่สุด"นายกอบต.หนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์ ระบุ ก่อนจะย้ำว่า
“คนเราถ้าจะเริ่มทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นฐานอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ทำตั้งแต่เด็กฐานก็จะไม่มั่นคง อย่างตึกริมน้ำที่สูงมากถึง 40 - 50 ชั้น ทำไมยังคงอยู่ได้ เพราะรากฐานดีนั่นเอง เช่นเดียวกับการเรียน หากเด็กที่เราปูพื้นฐานได้รับแน่น พวกเขาก็จะสามารถก้าวไปยังเส้นทางที่ต้องการได้”
นายก อบต.หนองตอกแป้น เปรียบเทียบให้เห็นชัดว่า รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา เพราะหากเราไม่มีการศึกษา เราก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตไปต่อได้
ด้านหัวหน้าโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ม.หอการค้าไทย อย่าง 'ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง' ได้ร่วมพูดคุยระหว่างการเยี่ยมชมกิจกรรมเด็กปฐมวัย โดยเขาเชื่อในประสิทธิภาพของการศึกษา เพราะทางเศรษฐศาสตร์ชี้ชัดว่า การลงทุนกับปฐมวัยตอบโจทย์ 2 ข้อ คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพให้กับสังคมและประเทศ และ 2.ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งการศึกษาแบบ “HightScope” เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ ผลตอบแทนสูงถึง 7-12 เท่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะคุ้มค่ามากขนาดไหนก็ไม่มีใครบอกได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด อย่างหลักสูตร “Montessori” นั้น มีความโดดเด่นในเรื่องของความฉลาด แต่ต้นทุนสูงกว่า
ขณะที่ “HightScope” มีความโดดเด่นเรื่อง ทักษะการเข้าสังคม โดยผลการวิจัยของ เจมส์ เฮ็กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พบว่า ผลลัพธ์ที่ได้ในด้านของไอคิวไม่ได้ต่างกันมากเท่าไหร่นัก แต่ทักษะการเข้าสังคมเป็นสิ่งที่สร้างยาก
ฉะนั้น ในเมื่อการจัดการเรียนการสอนแบบ “HightScope” ซึ่งลงทุนน้อยกว่า แต่ให้ผลตอบแทนสูง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ได้เลือกแนวทางที่มีประสิทธิภาพและทำได้จริง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการฯ ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หนึ่งในนั้น คือ 'ดร.สุดาเรศ ศิริสิทธิ์ธนภาค' อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ ม.มหาสารคาม เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นกระบวนการ “Plan Do Review” การวางแผน (Plan) เพื่อเด็กจะได้ฝึกการคิดอย่างเป็นระบบ มีการตัดสินใจและคิดว่าจะทำอะไรต่อ การปฏิบัติ (Do) เด็กได้มีประสบการณ์ตรงกับสิ่งต่าง ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
รวมถึงกิจกรรมการทบทวน (Review) ที่เป็นการนำสิ่งที่เด็กได้ทำมาคิดและเล่าสู่กันฟัง ที่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เด็กจะกล้าคิด กล้าแสดงออก รู้จักคิดตั้งคำถาม และเป็นผู้ฟังที่ดี ตลอดจนให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมกลุ่มใหญ่เพื่อเสริมประสบการณ์และแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ อย่างการร้องเพลง เล่านิทาน การทำโครงการและทำงานแบบร่วมมือ เพื่อให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
และที่ขาดไม่ได้เลย เธอระบุว่า การจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่เหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กวัย 2-4 ขวบ ตามแนวทางกระบวนการ “HightScope” ที่มีการจัดการเรียนรู้ให้อยู่ในมุมต่าง ๆ เช่น มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมบล็อก มุมบ้าน โดยมีโครงร่างหรือสัญลักษณ์รูปภาพสิ่งของที่วางไว้ เพื่อให้เด็กสามารถนำกลับมาเก็บไว้ที่เดิมเมื่อใช้เสร็จแล้วภายใต้คอนเซ็ป “ค้นหา ใช้ เก็บคืน”
รวมทั้งกิจกรรม “พานิทาน กลับบ้าน” ยังได้มีส่วนช่วยในการอ่านและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้ปกครองทดแทนการบ้านแบบทั่วไปที่ยังไม่เหมาะกับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ โดยผู้ปกครองจะบันทึกพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็กขณะอยู่ที่บ้านเพื่อให้ครูและโครงการได้ติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของเด็ก รวมถึงกิจกรรมเยี่ยมบ้าน เพื่อให้ครูช่วยสะท้อนปัญหาที่จะนำมาพัฒนาแผนโครงการต่อไป
“ตอนแรกผู้ปกครองไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำเท่าไหร่นัก จนมักจะเกิดคำถามว่า ทำไมไม่ให้เด็กอ่านหนังสือหรือฝึกเขียนแบบเดิม เราจึงอธิบายว่า เป้าหมายของเรามุ่งพัฒนาเด็กระยะยาว จึงต้องปูพื้นฐานในเรื่องของพัฒนาการก่อน เพื่อให้เป็นไปตามช่วงอายุวัย” ดร.สุดาเรศ กล่าว
ขณะที่ กาญจนา ดีสร้อย หรือครูจิ๊บ ครูประจำโครงการ “HightScope” ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลยางน้อยจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมวงเล่าถึงการฝ่าฟันอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ ว่า กว่าจะปรับตัวให้เข้ากับโครงการนี้ร่วมกับคุณครูท่านอื่นได้ ถือว่าค่อนข้างมีเรื่องราวระหว่างทางอยู่มาก เพราะเคยอยู่กันมาแบบสบาย แค่ผู้ปกครองนำเด็กมาฝากเท่านั้น ไม่ได้มีความยุ่งยากอะไรมาก แต่พอเข้ามาทำแบบนี้ เริ่มทำตามกระบวนการเรียนการสอนแบบ “HightScope” จึงเท่ากับว่าเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง
“คุณครูหลายคนที่ยังไม่เข้าใจในกระบวนการตอนแรกก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หาอิหยั๋งมาให้ หางานหยั๋งมาให้” แต่เมื่อเขาได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นของเด็กก็เริ่มมีหลายท่านหันมาให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการฯ” ครูจิ๊บ กล่าว
สำหรับเธอเองที่เลือกมาทำโครงการนี้เหตุผลแรก คือ เราเรียนสายนี้มาอยู่แล้ว แล้วอยากเห็นความแตกต่างในการสอนจึงได้เข้ามาสอบเป็นครูในโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ โดยรู้จักโครงการฯ จากการแชร์ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งสมัยก่อนเคยสอนเอกชนมา ค่อนข้างขัดแย้งกับสิ่งที่เรียนมา อีกอย่างมองว่า เด็กวัยนี้ควรเล่นมากกว่าเรียนหรือการท่องจำ อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนแบบเดิมส่วนใหญ่ เราจะต้องบังคับให้เด็กทำในสิ่งที่เราต้องการ และจะให้ทำมากเกินไป จนเราไปจำกัดขอบข่ายความคิดที่สมวัยของเด็ก ๆ
เมื่อเราปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่อยากทำก็ได้สังเกตเห็นถึงความแตกต่าง ครูจิ๊บ ยกตัวอย่างการที่เด็กจะทำเองทุกอย่างตั้งแต่วางกระเป๋า ถอดรองเท้า แต่ก่อนเด็กที่เข้ามาจะวิ่งกันวุ่นวายมาก ไม่รู้จะจับให้เขาหยุดอย่างไร แต่ด้วยกระบวนการวางแผนที่ดีของ “HightScope” ที่สอนครูกับเด็กให้มีการวางแผนสร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยใช้สัญลักษณ์ในการจัดระเบียบ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วเด็กจะรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จหนึ่งที่ครูได้เจอ
“สมัยก่อนที่เข้ามาผู้ปกครองก็ไม่ยอมรับว่า ทำไมไม่มีการบ้าน ทำไมไม่มีใบงานเลย เราก็ต้องให้ความเข้าใจกับเขาว่า ถ้าเร่งเด็กเกินไปจะเกินอันตรายกับแนวคิดได้ในอนาคต กว่าผู้ปกครองจะยอมรับได้ก็นานอยู่มาก เพราะยึดติดกับค่านิยมแบบเดิม” ครูจิ๊บบอกเล่า
หนึ่งในผู้ปกครอง ‘ประดับ เหระยัง’ แม่ของน้องสตางค์ เด็กที่เข้าร่วมโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ เล่าว่า เมื่อก่อนน้องสตางค์ไม่ค่อยชอบมาโรงเรียน แต่พอได้เข้ามาเจอครูที่ให้อิสระ น้องสตางค์ก็อยากมาเรียนมากขึ้น เมื่อเห็นว่าคุณครูเรียนจบมีใบปริญญา น้องก็อยากที่จะเป็น อยากที่จะทำแบบนั้นบ้าง
ที่ผ่านมาพัฒนาการของน้องสตางค์ไม่ค่อยดีมากนัก แม่ต้องคอยบอกต้องคอยสอนทุกอย่าง ทุกวันนี้กลับกันน้องมีพัฒนาการดีขึ้นมาก สอนแม่อ่านหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เมื่อเห็นน้องสตางค์ช่วยตัวเองได้ในวัยเพียงเท่านี้ แม่ก็หายห่วง อนาคตก็เชื่อว่าน้องจะช่วยเหลือตัวเอง ดูแลตัวเองได้ตามช่วงวัยที่น้องควรจะเป็น
“เมื่อก่อนหลังจากเรียนกลับมาน้องไม่เคยเล่าเรื่องระหว่างวันให้แม่ฟังเลยนะ เดี๋ยวนี้กลับมาเรื่องเล่าเต็มไปหมด ถ้าวันไหนเอานิทานกลับมาบ้าน แม่ไม่ต้องทำงานเลย น้องจะมาอ่านจะมาเล่านิทานให้ฟัง 5-10 รอบ อ่านจนแม่โมโหกันเลยทีเดียว น้องสตางค์เองก็เหมือนกัน ถ้าแม่อ่านผิด ก็จะพูดเชิงดุ ๆ ให้แม่อ่านและออกเสียงให้ถูกตามเขาจนได้” แม่ประดับพูดด้วยความภูมิใจ
..............................................................................
จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญ คือ การให้น้ำหนักในการดูแลเด็กตั้งแต่ปฐมวัย หากปฏิบัติได้ก็จะเป็นแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่งหลักสูตร “HightScope” ตอบโจทย์ความต้องการนี้ .