เครือข่ายภาคปชช. บุกสน.นางเลิ้ง ยื่นอุทธรณ์ หลังเจอสั่งห้ามชุมนุม
เครือข่ายประชาชนฯ บุกสน.นางเลิ้ง ยื่นอุทธรณ์ กรณีคำสั่งห้ามชุมนุม ยันไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แนะอย่าตีความกว้างครอบทุกอย่าง
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ เมื่อเวลา 10.00 น. สน.นางเลิ้ง เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เดินเข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์สืบเนื่องจากกรณีที่มีคำสั่งห้ามให้เครือข่ายประชาชนฯ ซึ่งเดินทางมาเรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกคำสั่งม.44 ฉบับที่3 และ 4 /2559 ยุติการชุมนุม โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลภายหลังจากที่ทางกลุ่มเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขออนุญาติชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กับ สน.นางเลิ้งเมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
ในเวลาต่อมาทาง พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เข้ารับหนังสือจากทางเครือข่ายฯ โดยให้สัมภาษณ์สื่อว่า การออกคำสั่งให้ยุติการชุมนุนนั้น เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมเรียกร้องเพื่อให้มีการยกเลิกคำสั่งในม.44 ซึ่งถือเป็นกฎหมายของบ้านเมือง และการมาชุมนุมเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมายบ้านเมือง เท่ากับว่ามีความเกี่ยวข้องในทางการเมือง ซึ่งขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และคำสั่ง คสช.3/2558 จึงจำเป็นต้องสั่งห้าม
และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การออกคำสั่งดังกล่าวได้นั้นจะต้องทำโดยทหาร ซึ่งการที่ตำรวจออกคำสั่งเองนั้นเป็นการทำเกินหน้าที่หรือไม่ พ.ต.อ.สมโภช กล่าวว่า ทางตำรวจซึ่งรับผิดชอบได้พิจารณากับทางผู้บังคับบัญชาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องระงับเหตุเอาไว้ก่อน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะยึดประกาศ คสช.เป็นหลักเพราะเทียบเท่ากฎหมาย
ในส่วนของการยื่นอุทธรณ์นั้นทาง พ.ต.อ.สมโภช กล่าวว่า จะต้องนำเรียนผู้บังคับบัญชา พิจารณาอีกครั้ง คำตอบน่าจะได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากมีการยื่นเรื่องไปแล้ว
ทางด้านน.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การออกคำสั่งห้ามชุมนุมของ สน.นางเลิ้ง ถือเป็นความผิดพลาด เนื่องจาก พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ กำหนดให้สถานีตำรวจมีหน้าที่เป็นผู้รับแจ้งในการขออนุญาตการชุมนุม แต่ไม่ใช่ผู้อนุญาต สิ่งที่สถานีตำรวจควรทำคือการออกเพียงใบรับแจ้ง และอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ในขณะที่ นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่า การวินิจฉัยของสน.นางเลิ้งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ และจะนำไปสู่การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม ทั้งที่การเคลื่อนไหวของเครือข่าย ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ไม่มีการชูป้ายหรือแสดงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการเมือง สิ่งที่เครือข่ายได้ดำเนินการนั้นยืนอยู่บนหลักการในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักการระหว่างประเทศ ดังนั้น สิทธิเสรีภาพของเราในการเรียกร้องยังคงอยู่
เมื่อเวลาประมาณ 12.40 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้าพบตัวแทนจากนายกรัฐมนตรี โดยภายหลังจากการพูดคุย ชี้เเจงทำความเข้าใจ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายฯ เผยว่า เครือข่ายได้แจ้งฝ่ายทหารว่า การชุมนุมของเราไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองให้แก้ในเอกสารที่ สน.แจงความผิดเรา และให้ประสาน ผกก.ให้เปลี่ยนแปลงคำ ในส่วนทางฝ่ายตัวแทนเมื่อรับฟังขอเรียกร้องแล้วก็ยอมรับว่า คำสั่งอาจจะเหมือนการตัดเสื้อโหล ที่ไม่มีความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ และจะทำอย่างไรให้เหมาะสม จะเอาไปพิจารณาต่อ
อย่างไรก็ตาม นายประสิทธิ์ชัย กล่าวยืนยันว่าจะยังคงเรียกร้อง จนกว่าจะได้รับคำยืนยันว่า จะหาทางออกร่วมกันให้เกิดความน่าพอใจ ทั้งสองฝ่าย
"ต้องมีแบบแผนที่นำไปสู่ ความถูกต้องเหมาะสม คำสั่ง ต้องไม่ครอบคลุม และจะต้องดูความถูกต้องเหมาะสมในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ และคำสั่งจะต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อให้เกิดการศึกษา ความเหมาะสม เรื่องนี้เป็นความเดือดร้อนของประชาชนทั่วประเทศ เราจึงอยากทำให้ทุกคนรู้ว่าเป็นเรื่องสาธารณะ และเรายืนยันว่าจะไม่ก่อความลำคาญ และเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวม แน่นอน"
ทั้งนี้เมื่อเวลาประมาณ 13.40น. ทางพ.ต.อ.สมโภช ออกมาแถลงว่า ทางสน.นางเลิ้งได้พิจารณาแล้ว ไม่อาจรับแจ้งการชุมนุมสาธารณะและพิจารณาหนังสืออุทธรณ์คัดค้านหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้อ่านแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว โดยให้เหตุผลในการยื่นอุทธรณ์ขอชุมนุมดังต่อไปนี้
1. เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเสรีภาพในการชุมชนโดยสงบและปราศจากอาวุธโดยถือได้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่เเล้วโดยได้รับความคุ้มครองตามนัยของ มาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
2. พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้องแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงเพื่อความสะดวกในการจัดการและการดูเเลความปลอดภัย มิใช่ระบบที่ต้องได้รับอนุญาตก่อนมาชุมนุม โดยมาตรา 11 กำหนดให้ท่านซึ่งผู้รับแจ้งสรุปสาระสำคัญในการชุมนุมสาธารณะอันเป็นการแจ้งสิทธิและหน้าที่ให้ผู้ชุมนุมทราบ แต่มิได้กำหนดอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการชุมนุมตามที่ท่านกล่าวอ้างในหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด
3. การแจ้งการชุมนุมของเครือข่ายฯ ในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเสนอให้รัฐบาลและคสช. ทบทวนการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 และที่ 4/2559 ซึ่งเป็นการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายผังเมือง อันส่งผลกระทบต่อสิทธิชุมชนสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ และมิใช่การชุมนุมทางการเมืองตามนัยของประกาศ คสช. ที่7/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ตามที่ท่านให้ความเห็นประกอบไว้ในหนังสือดังกล่าว
"การตีความเรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองอย่างกว้างขวางถึงขนาดว่า ผู้ชุมนุมคัดค้านคำสั่ง คสช. ไม่ว่าเรื่องใดแล้วจะเป็นเรื่องชุมนุมทางการเมืองไปเสียทุกเรื่องนั้น เป็นการตีความบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควร และจะทำให้การชุมนุมแสดงความคิดเห็นต่อคำสั่งหรือนโยบายของ คสช. และรัฐบาลไม่สามารถกระทำได้โดยสิ้นเชิงอันเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญของเสรีภาพการชุมนุมตามกฎหมายอย่างร้ายแรงและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของสังคม"
4. ประกาศ คสช.ที่ 7/2557 ที่ท่านอ้างถึงตามหนังสือนั้นปัจจุบันไม่มีผลบังคับใช้แล้วเนื่องจากมีการออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 มาใช้บังคับแทน
ด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขอยืนยันว่าการชุมนุมครั้งนี้มิใช่การชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 โดยเครือข่ายฯ มีความประสงค์ดังต่อไปนี้
1. ขอใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามวัน เวลา สถานที่ ตามที่ได้แจ้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น
2. ขอให้ท่านได้ทบทวนปรับแก้หนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมสาธารณะให้ถูกต้องตามหลักการและช่วยดูเเลความปลอดภัยของประชาชนและผู้ชุมนุมตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
อ่านประกอบ