ค้นคดีพบอีกราย “หมอฟันมหิดล” สาบสูญ ไม่เดินทางกลับไทยใช้ทุน
ค้นคดีพบอีกราย “หมอฟันมหิดล” สาบสูญ เรียกไม่กลับชดใช้ทุน ก่อนสั่งไล่ออก ฟ้องชดใช้ 22 ล้าน ผู้ค้ำประกัน บอกโชคดีไม่ต้องชดใช้ เหตุพ่อแม่เข้ามารับผิดชอบ คาดต้องขายบ้านใช้หนี้แทนลูก
กรณีที่ผู้รับทุนการศึกษาในประเทศ และต่างประเทศทำผิดสัญญาตามที่ปรากฎเป็นข่าวโด่งดังนั้น (อ่านประกอบ:สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ)
สำนักข่าวอิศรา พบว่า คดีฟ้องผิดสัญญาทุนการศึกษาทั้งหมดที่ขึ้นสู่ศาลปกครองนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาในศาล 106 คดี ศาลปกครองชั้นต้น 101 คดี อยู่ในศาลปกครองกลาง 50 กว่าคดี ที่เหลือกระจายอยู่ศาลปกครองส่วนภูมิภาค และอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด 5 คดี
ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดี เป็นหน่วยงานของรัฐ มีตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนถึงราชการส่วนกลาง
ขณะที่เมื่อค้นคำพิพากษา พบคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครองมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน และหลากหลายมหาวิทยาลัย โดยกรณีนางสาวดลฤดี จำลองราษฎร์ อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับทุนโครงการทุนพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน 16 สาขา ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังกลับไม่ยอมเดินทางกลับประเทศเพื่อชดใช้ทุนคืน จนส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นผู้คืนเงินให้แทนนั้น ก็ไม่ใช่เป็นรายแรกของมหาวิทยาลัยมหิดล ฟ้องร้อง (ปี 2547)
สำนักข่าวอิศรา พบว่า ก่อนหน้านี้ เพียง 1 ปี คือ ปี 2546 มีคดีที่มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา ฟ้องนางสาวอุษณีย์ ธำรงศักดิ์ เคยรับราชการตำแหน่งอาจารย์ระดับ 4 คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งลาราชการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเวชศาสตร์ช่องปาก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 ปี 6 เดือน ตั้งแต่ปี 2538 -2543 โดยได้รับเงินเดือนเต็ม ในระหว่างลาศึกษา
ต่อมาไม่ติดต่อกับมหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้รับทุน สำนักงาน ก.พ.จึงสั่งยุติการศึกษา สั่งงดให้ทุน และสั่งเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อรับราชการและชดใช้ทุน
แต่ปรากฎว่า ไม่กลับมาปฏิบัติราชการ รวมวันลาราชการไปศึกษาต่อ เป็นเวลา 1,954 วัน จึงต้องชดใช้เงินเดือนที่ได้รับไประหว่างลาทั้งหมดคืน และจ่ายค่าเบี้ยปรับตามสัญญา รวมเป็นเงินไทยกว่า 22 ล้านบาท
จากนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกคำสั่งไล่ออกจากราชการ ปี 2543 และทวงถามให้ชดใช้เงิน และเงินทุนพร้อมดอกเบี้ยปรับตามสัญญา แต่ก็ไม่มีการนำมาชำระ จากนั้นจึงทวงถามผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 2 3 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน
ความน่าสนใจในคำพิพากษาของคดีนี้ ระบุ ผู้รับทุนกรณีนี้ได้ติดต่อบิดามารดา และพี่น้องได้เป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2543 จากนั้นแล้วไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย โดยมารดาได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดพระโขนง เพื่อขอให้ไต่สวน นางสาวอุษณีย์ เป็นคนสาบสูญ
และศาลจังหวัดพระโขนง ได้มีคำสั่งให้นางสาวอุษณีย์ เป็นคนสาบสูญ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงถือได้ว่า นางสาวอุษณีย์ ได้ถึงแก่ความตายแล้ว จากนั้นศาลมีคำสั่งเรียกให้บิดา มารดา และพี่น้อง เข้ามาแทนที่ รับผิดชอบการชำระเงินตามจำนวนทุนที่ได้รับไป
กระทั้งศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก 16 กันยายน 2558 ระบุ ข้ออ้างที่ผู้รับทุนขาดการติดต่อกับส่วนราชการ และทางครอบครัวในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน จึงยังเป็นที่สงสัยว่า นางสาวอุษณีย์ จงใจหลบหนีไม่กลับไปรับราชการชดใช้ทุน ตามสัญญา หรือเกิดเหตุอื่นใดต่อชีวิตหรือไม่ และศาลจังหวัดพระโขนงสั่งให้นางสาวอุษณีย์ เป็นคนสาบสูญนั้น ฟังไม่ขึ้น แต่เป็นความจงใจที่ไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับราชการชดใช้ทุน จึงไม่ใช่กรณีที่จะอ้างความตาย หรือเหตุอันสมควรอื่นที่ นางสาวอุษณีย์ ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา
จากนั้น 23 กันยายน 2558 ศาลปกครองกลาง จึงมีคำพิพากษาออกมา ให้ชดใช้เงินเป็นเงินไทยทั้งหมด และคำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ศาลมีคำพิพากษา
ขณะที่ผู้ค้ำประกันในคดีนี้ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น แตกต่างจากกรณีของทพ.ญ.ดลฤดี จำลองราษฎร์ เนื่องจากทางมหิดลติดต่อให้ผู้รับทุนคนนี้กลับมาใช้ทุนเนื่องจากครบระยะเวลาของการรับทุน แต่เมื่อไม่เดินทางกลับจนกระทั่งมหาวิทยาลัยมหิดลทำการฟ้องผู้ค้ำประกัน และมีการพยายามติดต่อกลับไป แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จนนำมาสู่การฟ้องให้เป็นบุคคลสาบสูญต่อศาล
“พวกเราโชคดีที่พ่อแม่ของเขายอมชดใช้หนี้แทนลูก ส่วนตัวเลขมูลค่าที่ต้องชดใช้เท่าไหร่นั้นจำไม่ได้ เพราะว่าคดีผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว หากถามว่า ทำไมถึงยอมเซ็นค้ำประกันให้ ก็เพราะว่ารู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แม้จะอยู่กันคนละคณะก็ตาม ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ไม่ขอกล่าวถึง”
ผู้ค้ำประกันในคดีนี้ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันพ่อแม่เขาเองก็ไม่สามารถติดต่อลูกได้ และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการหาเงินมาชดใช้หนี้แทนลูก อีกทั้งไม่ได้ทำงาน เนื่องจากอายุ 80 ปีแล้ว ทราบข่าวว่า ถึงขั้นต้องขายบ้านและที่ดินเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้ดังกล่าว
“พ่อแม่ของเขาเอง รวมทั้งตัวผมอยากทราบว่า จริงๆแล้วเขายังมีชีวิตอยู่หรือว่าเสียชีวิตไปแล้ว เพราะพ่อแม่เขาก็ลำบาก ถ้าหากว่ายังมีชีวิตอยู่ก็อยากให้กลับมาช่วยพ่อแม่ของตัวเอง”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กรคณะทันตแพทย์ศาสตร์เพื่อขอสัมภาษณ์รศ.ทพ.พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับคำตอบว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้คณบดีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ผู้ที่มีสิทธิให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีไม่ชดใช้ทุนคืนของมหาวิทยาลัยจะต้องมาจากส่วนงานบริหารมหาวิทยาลัย คือ อธิการบดีหรือรองอธิการบดีเท่านั้น