กอ.รมน.แจง2เหตุผลงบดับไฟใต้พุ่ง ปืนถูกปล้นอื้อไม่สะท้อนศักยภาพกลุ่มผู้ก่อเหตุ
หลังจาก "ศูนย์ข่าวอิศรา" ได้นำเสนอข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดต่างๆ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานาน ในวาระครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนนั้น
ปรากฏว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.มองว่าข้อมูลที่นำเสนอยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ 13 ปีงบประมาณที่สูงเกือบ 3 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2559 ที่ตั้งไว้ถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
พลตรี บรรพต พูลเพียร โฆษกกอ.รมน. จึงออกมาแถลงชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม 2559 โดยบอกว่า มี 2 เหตุผลหลักที่ทำให้งบดับไฟใต้พุ่งสูงขึ้น คือ 1.พื้นที่ในการแบ่งสรรงบประมาณประจำปีของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. แต่เดิมใช้สำหรับพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา แต่ต่อมาได้รวมพื้นที่จังหวัดสงขลาทั้งจังหวัด และจังหวัดสตูลเข้าไปด้วย รวมเป็นพื้นที่ 5 จังหวัด ทำให้ยอดงบประมาณมีจำนวนเพิ่มขึ้น
2.การบูรณาการงบประมาณที่กระจัดกระจายแฝงอยู่ตามกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางด้านงบประมาณเป็นไปตามกรอบทิศทางเดียวกันที่มุ่งตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหามากที่สุด
นอกจากนี้ยังได้นำโครงการตามความต้องการของประชาชนที่ผ่านการสำรวจความต้องการที่แท้จริงของประชาชนแต่ละท้องที่ โดยไม่ได้คำนึงถึงประเภทและระดับความรุนแรง มาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอีกด้วย
โฆษกกอ.รมน.ยังได้ชี้แจงถึงกรณีอาวุธปืนที่ถูกแย่งยึดไปมากถึงกว่า 2 พันกระบอกด้วยว่า ขณะนี้สามารถนำกลับคืนมาได้บางส่วนแล้ว อาวุธปืนส่วนใหญ่เหล่านั้นอยู่ในสภาพชำรุด เก่าจากการซุกซ่อน และขาดชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน จึงไม่น่าจะถูกนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อาวุธที่ถูกแย่งยึดไปในระยะหลังส่วนใหญ่จะมีประวัติในสารบบ ซึ่งหากถูกนำมาใช้งานก็จะเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามได้
ฉะนั้นที่มีการประเมินศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยอาศัยจำนวนอาวุธปืนเป็นสำคัญ น่าจะไม่สอดคล้องกับการรับรู้ในปัจจุบันที่พิจารณาขีดความสามารถการก่อเหตุด้วยระเบิดอันส่งผลกระทบในวงกว้างเป็นหลักมากกว่าจำนวนอาวุธปืน
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ไฟใต้ในปีนี้ โฆษกกอ.รมน.ระบุว่า ในปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 มีปัจจัยเชิงบวกมาให้การสนับสนุนที่มีค่าน้ำหนักสำคัญ คือ กลุ่มภารกิจงานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ที่ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยความเห็นชอบจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ดังนั้นสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2559 จึงอาจคาดการณ์แนวโน้มได้ว่า น่าจะเกิดพัฒนาการของการแก้ไขปัญหาที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่ได้สะท้อนไปถึงขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง แต่ความพยายามของทุกฝ่ายที่ร่วมกันปฏิเสธความรุนแรงอย่างพร้อมเพรียงกัน จะเป็นสัญญาณเชิงสร้างสรรค์ที่มีพลังต่อการลดทอนความตั้งใจในการก่อเหตุของบรรดาแกนนำระดับสั่งการ เพื่อให้หันกลับมาเลือกใช้แนวทางสันติวิธีอันเป็นพัฒนาการของการแก้ไขปัญหานั่นเอง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พลตรีบรรพต พูลเพียร (แฟ้มภาพ)
อ่านประกอบ : งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.