- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.
งบไฟใต้-ความมั่นคงพุ่งยุค คสช.
ตั้งแต่ปี 2547 มีรัฐบาลมาแล้ว 8 ชุด นายกรัฐมนตรี 7 คน ใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2559 ตั้งไว้ที่ 30,866 ล้านบาทเศษ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
งบดับไฟใต้ 13 ปีงบประมาณ แยกเป็น ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท และปี 2559 จำนวน 30,886.6 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท!
ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณดังกล่าว เป็นตัวเลขเฉพาะ “งบโครงการ” หรือที่เรียกว่า “งบฟังก์ชั่น” เท่านั้น ยังไม่รวมงบเงินเดือนข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ และรายจ่ายประจำปกติของหน่วยงานที่ลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 ได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้ว 2 ปีงบประมาณ คือ ปี 2558 และ 2559 ปรากฏว่างบดับไฟใต้ หรือที่อยู่ในแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะงบของหน่วยงานด้านความมั่นคง
เริ่มจากกระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรจำนวน 207,718.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2558 จำนวน 14,769.8 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7
ขณะที่งบกองทัพ ได้รับการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะกองทัพบกที่ได้งบเกิน 1 แสนล้านบาท
เช่นเดียวกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ซึ่งมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการจัดสรรงบถึง 10,241.2 ล้านบาท เพิ่มจากงบปี 2558 ที่ได้รับการจัดสรร 8,906.5 ล้านบาท นับเป็นปีแรกที่ กอ.รมน.ได้รับการจัดสรรงบเกิน 1 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งหน่วยงานเมื่อปี 2551
ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง แต่เน้นงานด้านการพัฒนา ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยได้รับการจัดสรร 3,800 ล้านบาทเศษ เพิ่มขึ้นจากงบปี 2558 ที่ได้รับ 2,742.5 ล้านบาท
ปัจจุบันภายใต้โครงสร้างการทำงานยุค คสช. ปรากฏว่าได้มอบหมายให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยนำหน่วยเดียวในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาและการใช้งบประมาณดับไฟใต้ โดยแกนนำ คสช.และผู้นำทางทหารหลายคนให้เหตุผลตรงกันว่า เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการ
พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4 กล่าวว่า การใช้งบประมาณในขณะนี้ ซึ่งเน้นงานด้านการพัฒนา ตรงตามเป้ามากขึ้น ไม่กระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา เพราะ กอ.รมน.มีบทบาทเป็นผู้ควบคุมและจัดสรรงบประมาณลงในพื้นที่ตามความจำเป็นด้านความมั่นคงซึ่ง กอ.รมน.มีข้อมูลพร้อมที่สุด
ที่ผ่านมาในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกแบบให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม โดยออกกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ขึ้นมารองรับ ทำให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่มีสถานะเท่ากับ กอ.รมน. เพราะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ และมีเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการระดับ 11
ส่วน กอ.รมน.ตามโครงสร้างที่พรรคประชาธิปัตย์วางเอาไว้ จะรับผิดชอบดูแลเฉพาะงานด้านความมั่นคง ตามยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” โดยมีสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.เป็นหน่วยงานจัดทำแผนงานทั้งความมั่นคงและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม เป็นแผน 3 ปี โดยแผนงานด้านการพัฒนา เสนอจาก ศอ.บต. ซึ่งมีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีตัวแทนจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วม ขณะที่แผนงานด้านความมั่นคง ต้องไม่ขัดกับแผนงานที่เสนอโดย ศอ.บต.
อย่างไรก็ดี ในยุค คสช.ได้ลดบทบาท ศอ.บต.ลง ถึงขั้นมีแนวคิดแก้ไขกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมาย ศอ.บต. ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 เพื่อให้ กอ.รมน.เป็นหน่วยนำในการบริหารจัดการทั้งแผนงานและงบประมาณเพียงหน่วยเดียว โดยให้เหตุผลเรื่องความเป็นเอกภาพ
ต้องจับตาดูว่าทิศทางการแก้ปัญหาตามแนวของ คสช.ภายใต้การนำของ กอ.รมน. จะนำพาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปในทิศทางใด