อธิบดีสรรพากร ยันไม่มีนิรโทษกรรมภาษี!ดีเดย์ ปี 62 จับมือธปท.คุมปล่อยสินเชื่อ
‘ประสงค์ พูนธเนศ’ อธิบดีกรมสรรพากร แจงปม พรก.ยกเว้นภาษี ไม่ตรวจสอบย้อนหลังเอกชนรายได้ไม่เกิน 500 ล. ยันไม่ใช่นิรโทษกรรม เปิดให้จดแจ้งทางอินเทอร์เน็ต 15 ม.ค.-15 มี.ค. 59 ปีแรกกำไรเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษี-ปี 60 เสีย 10%-ปี62 ไม่จดมีผลตอนกู้สินเชื่อ ด้าน ‘สมคิด’ รองนายก ฯ เผยทำตามคำพูด ลดยากจน -เหลื่อมล้ำ
กรณีราชกิจจานุเบกษา 1 ม.ค.59 เผยแพร่ พระราชกําหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 สาระสำคัญ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้น ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกําหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้ เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สําหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทํา ตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ยกเว้น
(อ่านประกอบ : รัฐบาลออก พรก.นิรโทษกรรม ไม่สอบภาษีเอกชนรายได้ไม่เกิน 500 ล.-มีเงื่อนไข 4 ข้อ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังมีการจัดประชุมหารือเรื่อง พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 โดยนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เหตุที่ออกเป็นพระราชกำหนดเนื่องจากเป็นกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน ถ้าจะออกเป็นพระราชบัญญัติ ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ เช่น ทำให้คนรู้ว่าจะมีการออกพระราชกำหนด ทำให้ยอดที่ยื่นเสียภาษี หรือยอดรายได้ที่แสดงอาจมีการตกแต่งตัวเลขในบัญชี ดังนั้น จึงออกเป็นพระราชกำหนด
" พระราชกำหนดนี้ ไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี คำว่า นิรโทษกรรมภาษี ให้นิยาม คือ คนนั้นต้องมีความผิด และมายื่นบอกว่า ตัวเองผิด และจ่ายเงินชำระภาษีตามหลักการที่รัฐกำหนด เรียกว่า นิรโทษกรรมภาษี แต่ที่ออกพระราชกำหนดครั้งนี้มา เป็นไปตามนโยบายที่เคยพูดมาตลอดว่า นโยบายการก้าวเดินไปข้าวหน้าด้วยกัน"
ส่วนกรณีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบทุกวันนี้ ถ้าแยกย่อยลงไปในจำนวนนี้ นิติบุคคลที่เป็น SME ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท คิดเป็น 81% ประมาณ 340,000 รายเศษ โดย ถ้ามาจดแจ้งกับกรมสรรพากรทางอินเทอร์เน็ต ให้จดแจ้งภายในวันที่ 15 ม.ค. 59 ถึง 15 มี.ค. 59 นั้น
นายประสงค์ กล่าวว่า เป็นผู้ประกอบการตาม พรก.การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมาลรัษฎากร และเมื่อจดแจ้งแล้วจะได้รับสิทธิ์ไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเฉพาะ อากรแสตมป์ เว้นแต่ รายที่ถูกสรรพากรกำลังตรวจสอบอยู่ หรือที่ตรวจสภาพกิจการอยู่ หรือที่ถูกดำเนินคดีอาญาเรื่องระหว่างศาลหรือการให้อุทธรณ์ ก็ให้ดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้น โดย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับการยกเว้นภาษีในปีแรก (ปี2559) กล่าวคือ มีกำไรเท่าไหร่ไม่ต้องเสียภาษีเลย ขณะที่ ในปีที่ 2 (ปี2560) จะคิดภาษี 10% โดย ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่ถึง 300,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี
“ตั้งแต่ 1 ม.ค 2562 กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะกำกับดูแลควบคุมให้ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ในการที่จะให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมการเงินต่าง ๆ กับธนาคารจะต้องใช้งบการเงินที่จัดแสดงรายได้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากรเท่านั้น ในการที่จะเป็นฐานวิเคราะห์ที่จะให้สินเชื่อจะมีบัญชีอื่น ๆ แสดงไม่ได้ ต้องตัวนี้เท่านั้น”
อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวยืนยันต่อผู้สื่อข่าวสำนักอิศราถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้ทำบัญชีเดียว ไม่เอาผิด ไม่คิดบัญชีภาษีย้อนหลัง อาจทำให้เจ้าหน้าที่สรรพากรที่กระทำไม่ถูกต้อง เรียกผลประโยชน์ในกรณีดังกล่าวจากผู้ประกอบการได้ ว่า “ไม่มี เพราะ ผู้ประกอบการเขารู้แล้วว่า ไม่มีการย้อน แล้วใครจะไปโง่ เมื่อรู้แล้วว่า ไม่มีอำนาจมาตรวจ”
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) กล่าวว่า วันนี้วันแรกของการทำงานปีใหม่ ได้มาพบปะข้าราชการกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกำลังสำคัญมาก ที่ช่วยทำงานให้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดย ได้หารือกันในเรื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วไป และก็มีการพูดถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จะทำภายในปีนี้หรือที่อยากจะเห็นในปีนี้ โดย ได้ให้แนวความคิดไป และให้เอาความคิดเหล่านี้ไปเกลาให้รอบคอบ ไปปรึกษาหารือกันในแต่ละด้าน และคิดว่าปีนี้กระทรวงการคลังจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยดูแลประเทศไทย ดูแลการปฏิรูป โดย มาขอบคุณงานเก่า และให้งานใหม่
เมื่อถามถึงงานใหม่ที่ให้ไปมีอะไรบ้าง นายสมคิด กล่าวว่า ยังไม่บอกตอนนี้ บางเรื่องก็ยังลับอยู่ เป็นการให้แนวคิดไปว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้ก็ช่วยทำให้มันดี อันไหนทำไม่ได้ก็ต้องบังคับ สิ่งที่เคยพูดมาก็ยังคงอยู่ คือ 1.จะทำอย่างไรที่จะช่วยลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ 2.จะทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจเล็ก ๆ สามารถยืนอยู่ได้ 3.จะทำอย่างไรให้มีความสามารถเชิงแข่งขัน และยืนหยัดอยู่ได้ในอนาคตข้างหน้า และ 4.ทำอย่างไรให้มีความยั่งยืนทางการคลัง
“นี่คือโจทย์ใหญ่เลย ทุกอย่างมันจบที่ว่า ต้องมีความยั่งยืนทางการคลัง จะต้องไปทำตัวเลขที่ให้ไปแล้วว่า งบสมดุลต้องทำภายในกี่ปี คำนวณคร่าว ๆ 7 ปี ถ้าจะทำ และต้องไปดูให้ละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อเป็นไกด์ไลน์สำหรับอนาคตข้างหน้า พอละ โอเคนะ วันนี้ไม่มีเสียง ขอบคุณมากนะ” ดร.สมคิด กล่าว
ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากประชุมเสร็จไม่ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : อธิบดีสรรพากรสั่งTelePresence จนท. แจงปมเว้นตรวจภาษีบ.รายได้ไม่เกิน 500 ล.)