อธิบดีสรรพากรสั่งTelePresence จนท. แจงปมเว้นตรวจภาษีบ.รายได้ไม่เกิน 500 ล.
ประสงค์ อธิบดีกรมสรรพากร ยันออกพระราชกําหนดไม่สอบภาษีเอกชนรายได้ไม่เกิน 500 ล. ไม่ใช่นิรโทษกรรม อุบไต่แจงรายละเอียด ขอให้รอฟัง 'อภิศักดิ์ รมว.คลัง' - 'สมคิด รองนายกฯ' เปิดแถลงข่าวเป็นทางการ 4 ม.ค.59 นี้
กรณีราชกิจจานุเบกษา 1 ม.ค.59 เผยแพร่ พระราชกําหนด ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 สาระสำคัญ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้น ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกําหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้ เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สําหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี ที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทํา ตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 ยกเว้น
-บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ
-บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากรที่ดําเนินการก่อนวันที่พระราชกําหนดนี้ใช้บังคับ
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกํากับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกํากับภาษีปลอม หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทําการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จ ต่อกรมสรรพากร
- บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดําเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล “รายได้” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจาก การประกอบกิจการ ซึ่งคํานวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏด้วยว่า เจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดําเนินการ ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร หรือยังไม่ได้ดําเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ
(อ่านประกอบ : รัฐบาลออก พรก.นิรโทษกรรม ไม่สอบภาษีเอกชนรายได้ไม่เกิน 500 ล.-มีเงื่อนไข 4 ข้อ)
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2558 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกําหนดฉบับ นี้ แต่นายประสงค์ ระบุว่า ยังไม่ขอชี้แจงรายละเอียดอะไรในเรื่องนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดที่เยอะมาก และในวันที่ 4 ม.ค.2558 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเปิดแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้เอง
"ยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องนี้ มิใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งในประเทศไทย บริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมด"อธิบดีกรมสรรพากรระบุ
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากกรมสรรพากร ว่า ในวันที่ 4 ม.ค.2559 นี้ เวลา 09.00 น. อธิบดีกรมสรรพากร จะแจ้งข่าวมาตรการภาษีทาง TelePresence (ระบบประชุมทางไกลผ่านจอภาพ) เกี่ยวกับพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และ 2. พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595)พ.ศ. 2558 ให้เจ้าหน้าที่สรรพากรภาค และสำนักงานพื้นที่สรรพากรได้รับฟังรายละเอียดและหลักการในการดำเนินงานทั้งหมด
ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2558 ว่า แนวทางการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าสู่ ระบบภาษีอย่างถูกต้องโดยมาตรการที่จะออกมานี้ ถือเป็นการปฏิรูประบบการเงินขนานใหญ่ในการปฏิรูปการชำระภาษีของภาคธุรกิจของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่ายังมีบริษัทและห้างร้าน จำนวนมาก โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็ก ยังมีการจ่ายภาษีนิติบุคคลไม่ถูกต้องหรือบางรายยังไม่เข้าสู่ระบบภาษี แม้รัฐบาลจะมีการออกมาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 20% แล้วก็ตาม
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่าผู้ประกอบการภาคเอกชน มีการนำเสนอต่อรัฐบาลว่าการเข้าสู่ระบบภาษีอาจทำให้มีปัญหาใน 2 ส่วนคือ อาจทำให้ถูกสอบภาษีย้อนหลัง หรืออาจทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในกรณีที่คู่แข่งไม่เข้าสู่ระบบภาษีทำให้มีต้นทุนต่ำ
ดังนั้น มาตรการที่ออกมาจะใช้หลักการ ที่สร้างความเท่าเทียมกันทั้งระบบคือให้ธุรกิจ ที่เป็นนิติบุคคลทั้งหมดเข้าสู่ระบบแต่จะไม่ใช้วิธี การนิรโทษกรรมภาษี และจะไม่มีการตรวจสอบภาษีย้อนหลังสำหรับธุรกิจที่เข้าสู่ระบบ ยกเว้นธุรกิจที่เข้ามาสู่ระบบแล้วมีการทำผิดในอนาคตก็จะมีการตรวจสอบย้อนหลัง แต่จะไม่ใช่การตรวจสอบ ตั้งแต่แรกที่ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบอย่างที่กังวล
ขึ้นทะเบียนภายใน2เดือนหลังก.ม.ใช้
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่ามาตรการนี้จะมุ่งเน้นไปยังผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยผู้ประกอบที่จะให้มาจดทะเบียนกับกรมสรรพากรจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่มียอดขายไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่มีจำนวนมากในระบบเศรษฐกิจไทยคิดเป็นประมาณ 96% ของผู้ประกอบการทั้งหมด