เทศบาลนครโคราชค้างค่าน้ำกรมชลฯ 45 ล้าน-กฤษฎีกาชี้ต้องจ่าย
กฤษฎีกาชี้เทศบาลนครนครราชสีมาต้องจ่ายค่าน้ำค้างชำระ 45 ล้านบาท ตั้งแต่ ม.ค.2546-ก.ย.2548 ตามคำตัดสิน กยพ. เผยกรมชลประทานใช้ดุลยพินิจให้ผ่อนได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยเเพร่บันทึกความเห็นทางกฎหมาย กรณีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0503/20360 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ประธานกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอเรื่อง การยุติการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระให้เป็นที่ยุติ ระหว่างกรมชลประทานกับเทศบาลนครราชสีมา ตามข้อสังเกตของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3/2557 (อ่านประกอบ:เทศบาลนครโคราชค้างค่าชลประทาน 45ล.ขอผ่อนจ่าย!กรมชลฯไม่ยอมเหตุขัดกม.)
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ผู้แทนเทศบาลนครนครราชสีมา และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า
โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งค้างชำระค่าชลประทานตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนกันยายน 2548 นั้น กรมชลประทานมิได้มีการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 กับเทศบาลนครนครราชสีมา แต่กรมชลประทานได้ส่งข้อพิพาทดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติ ในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.)
ทั้งนี้ ในการประชุม ครั้งที่ 3/2557 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 กยพ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วมีมติตัดสินชี้ขาดให้เทศบาลนครนครราชสีมาชำระค่าชลประทานค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 ถึงเดือนกันยายน 2548 จำนวน 44,674,212 บาท ให้แก่กรมชลประทาน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมดังกล่าวแล้ว
กรณีจึงเป็นเรื่องของการติดตามทวงหนี้ที่ค้างชำระตามขั้นตอนที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ เทศบาลนครนครราชสีมาจึงต้องปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดของ กยพ.
ส่วนการที่เทศบาลนครนครราชสีมาจะชำระหนี้ค่าชลประทานที่ค้างชำระเต็มจำนวนในครั้งเดียวหรือขอผ่อนชำระนั้น เป็นเรื่องการขอปฏิบัติการชำระหนี้ทางแพ่งของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ มิใช่กรณีการนำค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ แต่อย่างใด
กรมชลประทานในฐานะเจ้าหนี้ และเทศบาลนครนครราชสีมาในฐานะลูกหนี้ จึงสามารถเจรจาตกลงกันในวิธีการชำระหนี้ได้ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกรมชลประทานมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้มีการผ่อนชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระได้
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีข้อสังเกตว่า โดยที่มาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการลดหย่อนหรือผ่อนชำระค่าชลประทานในกรณีปกติที่ยังไม่ค้างชำระได้ แต่กรมชลประทานยังไม่เคยออกกฎกระทรวงในลักษณะดังกล่าว กรมชลประทานจึงควรเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อบรรเทาภาระการชำระค่าชลประทานของผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานค้างชำระหนี้ค่าชลประทานจำนวนมากได้ในอนาคต
นอกจากนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมชลประทานได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2518 ออกระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน พ.ศ. 2545 และอาศัยอำนาจตามระเบียบดังกล่าวไปออกระเบียบคณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานว่าด้วยการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน พ.ศ. 2547 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน เพื่อใช้บังคับกับประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่มีอำนาจแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามระเบียบดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดความรับผิดชอบทั้งในทางแพ่งและในทางอาญาในภายหลังได้ เพราะเป็นการอาศัยอำนาจตามระเบียบที่ผู้ออกไม่มีอำนาจออกได้ สมควรที่กรมชลประทานจะได้ทบทวนเสียใหม่ในทันที .
อ่านความเห็นฉบับเต็ม:การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระ