สกว.-กรมศิลป์หวั่นวัดอรุณฯ ทรุด เล็งนำร่องวิเคราะห์โครงสร้างวิศวกรรมที่แรก
สกว.จับมือกรมศิลปากร บูรณะโครงสร้างโบราณสถาน หวังสืบทอดถึงรุ่นลูกหลาน เผยเคยสำรวจ 'เจดีวัดใหญ่ชัยมงคล' เอียง 3.5 องศา วิเคราะห์โครงสร้างวิศวกรรม เล็งนำร่องรูปธรรม 'วัดอรุณฯ' เเห่งเเรก เหตุตั้งอยู่ริมน้ำ ตลิ่งทรุด
วันที่ 22 ธันวาคม 2558 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับกรมศิลปากร จัดเสวนา เรื่อง งานวิศวกรรมสามารถบูรณะโครงสร้างโบราณสถานของไทยให้ยั่งยืนได้อย่างไร ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 สกว.
นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า การบูรณาการงานวิศวกรรมโครงสร้างโบราณสถานให้ยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสามารถสืบทอดโบราณสถานให้อยู่สืบไปถึงรุ่นลูกหลาน ทั้งนี้ โบราณสถานเป็นหลักฐานที่แสดงออกถึงความล้ำเลิศศิลปกรรม แฝงด้วยระบบสัญลักษณ์ของความเชื่อ งานช่างฝีมือที่สร้างสรรค์ เชื่อมโยงมิติด้านความเชื่อ การเมือง การปกครองเข้าไว้ด้วยกัน
“กังวลมาก ว่าการวิ่งผ่านของรถไฟทำให้เกิดแรงสะเทือน ส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน จนเกิดการแยกตัวของยอดปรางค์ได้ และความจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือจากผู้ที่มีความชำนาญในการตรวจสอบโบราณสถาน งานบูรณะโบราณสถานและเสริมโครงสร้างจึงไม่ใช่ภารกิจของกรมศิลปากรเท่านั้น แต่จำเป็นต้องแสวงหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาดำเนินงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผลจากการหารือร่วมกันในครั้งนี้จะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรแนวร่วมที่มาช่วยอนุรักษ์โบราณสถานซึ่งเป็นมรดกของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าว
ด้าน รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม นักวิจัย สกว. กล่าวถึงภาพรวมของการศึกษาทางวิศวกรรมที่สำคัญต่อโบราณสถาน ว่าอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟูโบราณสถาน คือ ขาดแคลนบุคลากรในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ขาดข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม งบประมาณ เทคโนโลยี และประเด็นที่ถกเถียงกันว่าจะสร้างแบบเดิมหรือแบบใหม่
ทั้งนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)ได้สรุปปัจจัยที่มีผลกระทบต่อโบราณสถานในปี 2015 ว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน น้ำท่วม การบริหารจัดการมรดกโลก และการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา
จึงมีข้อเสนอแนะ ว่าควรจัดการฝึกอบรมช่างฝีมือให้พัฒนาทักษะด้านงานอนุรักษ์ และดำเนินงานบนหลักการเชิงวิทยาศาสตร์ผสานกับการใช้วัสดุและทักษะตามแบบเดิม รวมถึงจัดทำแผนอย่างละเอียดสำหรับการอนุรักษ์โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ และปรับแผนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกัน
ส่วนขั้นตอนพื้นฐานเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานนั้น นักวิจัย สกว. เสนอว่าควรจะเริ่มจากการศึกษาข้อมูลในอดีต เก็บข้อมูลสภาพปัจจุบัน สำรวจรูปทรงและคุณสมบัติวัสดุ ฯลฯ จากนั้นนำข้อมูลมาประเมินสภาพปัจจุบันโดยการคำนวณวิเคราะห์ บำรุงรักษาและป้องกันส่วนที่ยังมีสภาพดีหรือเก็บไว้กับโครงสร้างเดิม และเสริมความมั่นคงในส่วนที่เสื่อมสภาพ ซ่อมแซมหรือทดแทนส่วนที่ชำรุด
ทั้งนี้ นักวิจัยได้สำรวจข้อมูลเชิงวิศวกรรมเบื้องต้นของเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลที่เอียงอยู่ประมาณ 3.5 องศา ทั้งด้านรูปทรง ความเอียงขององค์เจดีย์ สำรวจดิน (ธรณีเทคนิค) ประมาณค่าคุณสมบัติของวัสดุ การสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง 3 มิติ ตรวจวัดการสั่นสะเทือนเนื่องจากการจราจรใกล้กับเจดีย์
นอกจากนี้ยังเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนมีพลังต่าง ๆ ทั้งในภาคเหนือและภาคตะวันตกซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษา และจะต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และพิจารณาความพร้อมของบุคลากร เทคโนโลยี งบประมาณ และความยั่งยืนที่กรมศิลปากรจะดำเนินการต่อไป
ขณะที่ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว. วิเคราะห์โครงสร้างโบราณสถานและแนวทางเสริมกำลัง ว่าจำเป็นต้องศึกษาวิศวกรรมโครงสร้างของเจดีย์ทั้งเรื่องวัสดุโครงสร้าง ระบบการฉาบ รูปแบบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม โครงสร้างฐานราก และคุณภาพของชั้นดินใต้ฐานราก
ทั้งนี้ โครงสร้างขนาดใหญ่สมัยโบราณจึงอาศัยการเรียงอิฐขึ้นเป็นโครงสร้าง เนื่องจากช่างสมัยโบราณต้องการลดน้ำหนักขององค์เจดีย์จึงไม่ได้นำอิฐมาเรียงต่อกันจนเต็มทำให้ภายในกลวงเป็นส่วนมาก กรณีที่เจดีย์สูงมากแกนในอาจค้ำกับท่อนซุงขนาดใหญ่ร่วมกับการรั้งของท่อนไม้จำนวนมาก ส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กเริ่มมีไม่เกิน 200 ปีที่ผ่านมา
ด้านดร.กฤษฎา ไชยสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายสมัยใหม่ติดตามการเคลื่อนตัวของโบราณสถาน ว่ามีทั้งการตรวจสอบด้วยการพินิจ (Visual Inspection) ซึ่งใช้สำรวจทางกายภาพของอาคาร สภาพการใช้พื้นที่ ลักษณะรอยแตกร้าว พร้อมบันทึกตรวจวัดความยาว ความกว้างของอาคาร ตำแหน่งและขนาด เสา คาน ข้อมูลความเสียหาย เพื่อใช้จัดทำแผนที่ความเสียหายและนำไปประเมินผลต่อไป
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีสร้างแบบจำลองสามมิติด้วยภาพถ่ายซึ่งจะต้องเทียบความถูกต้องกับเลเซอร์สแกนเนอร์ รวมถึงการเก็บข้อมูลภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับและโดรน ทั้งนี้ประโยชน์ของการเก็บข้อมูลสามมิติและภาพถ่าย คือ วิเคราะห์ทางวิศวกรรมเพื่อดูพฤติกรรมการตอบสนองจากปัจจัยภายนอก การวิเคราะห์ด้วยวิธีอัตโนมัติช่วยให้การตรวจสอบเร็วและทั่วถึง เป็นฐานข้อมูลชิ้นสำคัญในการบูรณะซ่อมแซมในอนาคต
นายประทีป เพ็งตะโก ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงปัญหาการบูรณะโบราณสถานว่า ปริมาณงานมีมากไม่สมดุลกับจำนวนบุคลากร นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญคือ วัชพืชและต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นบนยอดเจดีย์สูงซึ่งทำลายโบราณสถานเป็นอย่างมาก เทคนิคการบูรณะโครงสร้างทรุดเอียงที่ต้องรักษางานศิลปกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่ไม่ถูกทำลายไป การอนุรักษ์ปูนฉาบปูนปั้นและวัสดุใหม่ที่ทำให้เกิดคราบตะไคร่และเชื้อรา
โดยมีงานเฉพาะหน้าคือ โบราณสถานที่พระนครศรีอยุธยา เริ่มจากวัดไชยวัฒนารามเป็นแห่งแรก รวมถึงพระราชวังหลวงที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมากแต่ถูกทำลายเกือบหมดเหลือเพียงฐานราก
สุดท้าย นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร กล่าวถึงความกังวลเรื่องรอยคราบ เช่น คราบเกลือ ตะไคร่ ความชื้นจากน้ำฝน น้ำซึมจากภายนอกและใต้ดิน รวมทั้งการผุ เปื่อย ร่วนเป็นผงของปูนฉาบและอิฐ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลทางวิศวกรรมเพราะบุคลากรอยู่กระจายกันหลายแห่ง การใช้วัสดุศาสตร์ในการบูรณะ
ทั้งนี้ อยากให้เริ่มทำโครงการนำร่องที่ 'วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร' ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำและตลิ่งทรุดก่อน โดยจะทำการเก็บข้อมูล สำรวจระบบโครงสร้างและวัสดุ .
อ่านประกอบ:วิศวกรรมกับการบูรณะโครงสร้างโบราณสถาน
นักวิจัย สกว.ชี้เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา เอียง เหตุดินอ่อน-อิฐเสื่อม
อิฐก้อนเดียวก็มีค่า บูรณะองค์พระเจดีย์ 'วัดใหญ่ชัยมงคล' ก่อนสาย!