อิฐก้อนเดียวก็มีค่า บูรณะองค์พระเจดีย์ 'วัดใหญ่ชัยมงคล' ก่อนสาย!
“...การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติสำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จประพาส จ.พระนครศรีอยุธยา ปี 2506
นับจากวันนั้น ผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว แต่เมืองมรดกโลกแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของโบราณสถานเก่าแก่อายุหลายร้อยปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินให้ประเทศมหาศาล หนึ่งในนั้น นับเป็นสถานที่ยอดนิยม คือ ‘วัดใหญ่ชัยมงคล’ ที่มีองค์พระเจดีย์สูงที่สุดใน จ.พระนครศรีอยุธยา
เดิมเรียกชื่อ วัดป่าแก้ว หรือวัดเจ้าไท เล่ากันว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำศึกยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชของพม่า ทรงสร้างองค์พระเจดีย์ ‘ชัยมงคล’ ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ โดยเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย
ปัจจุบันองค์พระเจดีย์สูง 1 เส้น 1 วานี้ ได้เอียงตัวจากจุดศูนย์กลาง 3.49 เมตร อย่างไรก็ตาม ยังคงตั้งตระหง่านโดดเด่นมองเห็นระยะไกล แต่อย่าเพิ่งไว้วางใจ เพราะวันหนึ่งอาจถล่มลงมาได้ หากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรง ดังนั้น ควรป้องกันและสร้างแบบแผนในการฟื้นฟูโบราณสถานของประเทศขึ้น
ทีมนักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำโดยรศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และศ.ดร.อมร พิมานมาศ ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ จึงร่วมมือกับกรมศิลปากรสำรวจพื้นที่ ภายใต้กิจกรรมสื่อสัญจรงานวิศวกรรมบูรณะโบราณสถาน ณ วัดใหญ่ชัยมงคล
(ด้านหน้าองค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล)
(รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม นักวิจัย สกว.)
รศ.ดร.นคร บอกว่า แม้โบราณสถาน จ.พระนครศรีอยุธยา จะไม่มีความเสี่ยงได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเทียบเท่ากับภาคเหนือ แต่ก็มีความเสี่ยงจากการทรุดตัวของแอ่งดินอ่อน หากแผ่นดินไหวจนเกิดการขยายของคลื่นกับโครงสร้างสูงสั่นแรง ‘องค์พระเจดีย์’ วัดใหญ่ชัยมงคลจะได้รับผลกระทบด้วย จึงต้องศึกษาเชิงวิชาการเพื่อป้องกัน
ทั้งนี้ แอ่นดินอ่อนเกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ภาคกลางมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่าน ทำให้เกิดดินตะกอนพัดพาทุกปี ก่อตัวเป็นชั้นดินหนา ชั้นบนเป็นดินเหนียว ชั้นล่างเป็นดินทราย เมื่อแน่นขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายชั้นล่างกลายเป็นแอ่งดินคล้ายรูปกระทะ โดย จ.พระนครศรีอยุธยามีชั้นดินหนา 300 เมตร
เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘เนปาล’ ประเทศเพิ่งเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายต่อโบราณสถาน 193 ล้าน USD มีจำนวนโบราณสถานเสียหายประมาณ 750 หลัง และมีประมาณร้อยละ 50 พังถล่ม มรดกโลก 5 ใน 7 แห่ง ในกรุงกาฐมาณฑุได้รับความเสียหายรุนแรง
(ความเสียหาย/คงทนของโบราณสถานเนปาล)
เขาระบุสาเหตุสำคัญเกิดจากความเก่าแก่ของโบราณสถาน ไม่ใช้โครงสร้างวัสดุก่อสร้างที่ดี มีลักษณะความอ่อนแอ เพราะอายุยาวนาน และขาดการบำรุงรักษาที่ดี ทำให้เกิดความเสียหายต่อมรดกโลกอย่างมาก สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและผู้คนที่มีความรักต่อมรดกเหล่านี้
“จากการศึกษาในเนปาล พบโบราณสถานที่ได้รับการบำรุงรักษาที่ดีกลับไม่ได้รับความเสียหายมากจากแผ่นดินไหว ฉะนั้นปัจจัยสำคัญอยู่ที่การบำรุงรักษาที่ดี ซึ่งช่วยป้องกันให้โบราณสถานมีความมั่นคง”
เชื่อว่า คงไม่มีใครอยากให้ความเสียหายของโบราณสถานในเนปาลเกิดขึ้นกับวัดใหญ่ชัยมงคล รศ.ดร.นคร จึงเสนอให้ความสำคัญและสนับสนุนการบำรุงรักษาอย่างจริงจัง ทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร และความรับผิดชอบ รวมถึงกรมศิลปากรต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำวิจัย เพื่อการบำรุงรักษามรดกของประเทศ
โดยเฉพาะประเด็นเร่งด่วน คือ การสำรวจรูปทรง ความเอียง ขององค์พระเจดีย์ (Documentation)รวมถึงของโบราณสถานที่สำคัญอย่างละเอียด ทั้งรูปทรง และข้อมูลเชิงวิศวกรรม นอกจากนี้ต้องศึกษาความมั่นคงของโบราณสถาน เทคนิคการบูรณะซ่อมแซม การเฝ้าสังเกต (Monitoring) ศึกษาผลกระทบและประเมินความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อม ภัยพิบัติ และการจราจรด้วย
(บริเวณโดยรอบองค์พระเจดีย์ วัดใหญ่ชัยมงคล อดีต-ปัจจุบัน)
ทั้งนี้ โครงสร้างองค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลจะหยุดการทรุดตัวได้อย่างไร ศ.ดร.อมร อีกหนึ่งนักวิจัย สกว. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เผยวิธีบำรุงรักษาว่า ต้องทำให้อิฐแข็งแรงมากขึ้น โดยใช้ปูนเกร๊าท์ (Grout) ซึ่งเป็นปูนอัดแรงดัน เข้าไปอุดช่องว่างของเนื้ออิฐ ทำให้เกิดการผสานกัน และใช้ซีเมนต์ปั่นกับดิน เพื่อทำให้ชั้นดินที่อ่อนตัวแข็งแรง แต่การดำเนินงานต้องวิเคราะห์ก่อนว่า การทรุดตัวที่เกิดขึ้นขององค์พระเจดีย์ในเเต่ละจุดเกิดจากอิฐเสื่อมสภาพหรือชั้นดินอ่อน เพื่อประหยัดการใช้งบประมาณในการบูรณะ
“โครงสร้างองค์พระเจดีย์แห่งนี้ก่อสร้างเน้นอิฐเป็นหลัก ลักษณะสมมาตร ฐานใหญ่คล้ายปิระมิด ซึ่งเป็นโครงสร้างแข็งแรงที่สุดในสมัยนั้น แต่อิฐก็มีกำลังเพียง 1 ใน 10 ของคอนกรีต ทำให้การผสานกันไม่ดี เมื่อเวลาผ่านไป อิฐจึงเสื่อมสภาพ และยุบหรือทรุดตัวง่าย” นักวิจัย สกว. กล่าว และว่า ส่วนพื้นดินของ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นชั้นดินอ่อน รับน้ำหนักไม่ดี หากการกระจายไม่สมดุล จะส่งผลให้เทไปสู่จุดใดจุดหนึ่งได้ โชคดีที่องค์พระเจดีย์มีฐานใหญ่ จึงไม่ถล่มลงมา แต่อาจสะสมการเอียงตัวเรื่อย ๆ
ศ.ดร.อมร ยังกล่าวถึงกรอบระยะเวลาวิเคราะห์และหาแนวทางจะใช้เวลา 1 ปี โดยจะสำรวจช่องดิน เจาะตามจุดต่าง ๆ รอบองค์พระเจดีย์ เพื่อตรวจสอบว่าจุดใดมีดินสม่ำเสมอ และสกัดอิฐนำไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการด้วย อย่างไรก็ตาม เราควรทำในภาพกว้าง เนื่องการการเอียงของเจดีย์เกิดขึ้นหลายพื้นที่ ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะวัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดอื่นใน จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนขยายไปยังภาคอื่น ๆ ของไทยต่อไป
(ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัย สกว.)
(กิตติพันธ์ พานสุวรรณ ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร)
หากไม่ทำอะไรเลยก็ตอบยากว่าองค์พระเจดีย์จะถล่มลงภายในกี่ปี เพราะต้องศึกษาอัตราการทรุดตัว แต่ยืนยันคงไม่ถล่มลงมาทันใด แต่ก็ต้องรีบวิเคราะห์ ประเมิน และติดตาม ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำได้ และต้องทำฐานข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไปด้วย
“การบูรณะไม่ง่าย เพราะเรากำลังทำงานกับสิ่งที่มีอายุหลายร้อยปีที่ผ่านมา ถ้าเราใช้เครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปบูรณะ อย่าลืมว่าโครงสร้างนี้มีความอ่อนแออยู่แล้ว ฉะนั้นต้องศึกษาว่าการบูรณะเริ่มจากจุดใดก่อน และมีความจำเป็นมากแค่ไหน และหากไม่บูรณะการโน้มเอียงจะเกิดขึ้นรวดเร็วมากน้อยเพียงใด จำเป็น ต้องมีข้อมูลตรงนี้ ”
เขายังย้ำว่า ถ้าไม่มีข้อมูลจะบูรณะไม่ได้ เพราะวิศวกรและนักวิจัยต้องไม่ทำงานบนสิ่งที่ไม่มีข้อมูล ตรงกันข้ามต้องทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางหรือกรอบประยุกต์ใช้กับเจดีย์อีกหลายแห่ง และพยายามสร้างเครือข่ายต่อไปอีกด้วย
แม้หลายคนจะแสดงความกังวลว่า องค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลเอียง 3.49 เมตร อาจเสี่ยงถล่มลงมา แต่มุมมองของ ‘กิตติพันธ์ พานสุวรรณ’ ผอ.สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ยังมั่นใจว่าองค์พระเจดีย์ ยังมีความมั่นคงอยู่ จึงยังไม่มีการตั้งงบประมาณเพื่อบูรณะ ยกเว้นอาจตั้งงบประมาณเพื่อตรวจสอบหรือติดตามความเคลื่อนไหวขององค์พระเจดีย์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ที่มีความรู้เข้ามาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม หากมีสิ่งบอกเหตุน่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็จำเป็นต้องบูรณะ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น
เขายังบอกว่า เจดีย์จะมีความเสี่ยงได้รับความเสียหายต้องเอียงเกิน 1 ใน 3 จากจุดศูนย์กลาง จึงจะเริ่มปรับปรุงได้ แต่เราต้องดูความปลอดภัยในส่วนอื่น ๆ ประกอบด้วย แต่ปกติแล้วความเสี่ยงจะเกิดขึ้นกับเจดีย์ตั้งอยู่พื้นที่ริมน้ำหรือลาดเชิงเขามากกว่า แต่พื้นที่ราบเหมือนวัดใหญ่ชัยมงคลยังไม่พบอันตราย นอกจากกรณีฝนตกหนักหรืออุทกภัย
ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้บันทึกอัตราการโน้มเอียงขององค์พระเจดีย์ต่อปีไว้ โดยปี 2522 เอียง 3.72 เมตร ปี 2555 เอียง 3.60 เมตร และปัจจุบันเอียง 3.49 เมตร ซึ่งปัจจัยทำให้การเอียงลดลงเกิดจากการบูรณะ และอาจคลาดเคลื่อนจากการตรวจวัด แต่ยืนยันเอนน้อยกว่าหอเอนเมืองปิซา ประเทศอิตาลี
“ปี 2522 กรมศิลปากรเคยบูรณะองค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลครั้งใหญ่ โดยใช้ปูนเกร๊าท์อัดลงไป เพื่อทำให้ดินแข็ง น้ำจะแทรกตัวได้น้อย การทรุดตัวจึงเกิดยากขึ้น หากไม่ใช้วิธีนี้ดินอ่อนจะทำให้น้ำหนักเปลี่ยนไป” ผู้แทนกรมศิลปากร บอกเล่า และว่า ปัจจุบันองค์พระเจดีย์มีน้ำหนักเท่าเดิม แต่สภาพแวดล้อมของประเทศเปลี่ยนไป มีรถสัญจรและนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการเอียงมากนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเมื่อเทียบกับน้ำหนักองค์พระเจดีย์ไม่ถึงร้อยละ 1
กิตติพันธ์ ยังให้ความรู้ว่า หากอนาคตจะบูรณะองค์พระเจดีย์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโกกำหนด แต่ไม่จำเป็นต้องรายงานสิ่งที่ทำ ยกเว้นมีความเสี่ยงมาก ดังเช่น อุทกภัย ปี 2554 และยูเนสโก้จะลงมาตรวจสอบด้วย หรือกรณีไทยบูรณะเสริมโครงสร้างมากเกินไปจนเกินของแท้ดั้งเดิม อาจต้องมีการอธิบายชี้แจงเพิ่มเติม เป็นต้น
****************************************
โบราณสถานสำคัญของไทยหลายแห่ง โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนแผ่นดินไหว มีความเสี่ยงจะได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ดังนั้น การศึกษาวิจัยข้อมูลองค์พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล หากประสบความสำเร็จจะเป็นโมเดลสำเร็จรูปในการบูรณะเจดีย์ต่าง ๆ ภายใต้หลักวิศวกรรมที่ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญและอุดหนุนงบประมาณ บุคลากร ที่เพียงพอ ให้การดำเนินงานลุล่วงต่อไป .
|
|