ภาค ปชช.จี้รัฐปรับปรุงฉลาก GMOs เป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจนเหมือนบราซิล
ภาค ปชช.จี้ อย.-สธ.เดินหน้าปรับปรุงฉลากให้มีสัญลักษณ์ GMOs รูปสามเหลี่ยม เห็นชัดเจน เหมือนบราซิล ครอบคลุมทุกวัตถุดิบดัดเเปลงพันธุกรรม ย้ำหากผลักดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ อนาคตต้องยึดหลักคุ้มครองสุขภาพเเละสิ่งเเวดล้อม
วันที่ 17 ธันวาคม 2558 เครือข่ายภาคประชาชน และตัวแทนองค์กรผู้บริโภค จำนวน 158 องค์กร กว่า 30 คน ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ นพ.กิติศักดิ์ กลับดี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยของอาหาร ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ)
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยให้แสดงฉลากอาหารจีเอ็มโอเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทถั่วเหลือง และข้าวโพดเท่านั้น แต่ขณะนี้มีอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอที่มากกว่าข้าวโพด เช่น ปลาแซลมอน แครอท มะเขือเทศ แต่ไม่มีฉลากกำกับ จึงต้องการให้มีฉลากที่มีสัญลักษณ์ให้เห็นชัดเจน เหมือนเช่นสัญลักษณ์ตัว T ของประเทศบราซิล เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้ง่าย โดยต้องทำกับสินค้าทุกรายการให้เป็นการทั่วไป
“เราเสนอให้ สธ.ต้องเป็นหลักในการทำกฎหมายฉบับนี้ เพราะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ หลักการคือต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม และต้องตรวจสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ คือ ในฉลากต้องบอกว่ามีหรือไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรม และเราอนุญาตให้เขียนว่า “Non GMO” ได้ เพราะไม่เช่นนั้น เราก็ไม่รู้ เราอยากให้มันชัดเจน” เลขาธิการ มพบ. กล่าว
น.ส.สารี กล่่าวต่อว่า หากผลิตภัณฑ์อาหาร หรืออาหารใดไม่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอ ก็ให้ สธ.รับรอง โดยอาจออกใบประกาศให้ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกได้ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการตรวจว่าอาหารใดมีจีเอ็มโอหรือไม่ได้แล้ว
ด้านนพ.กิติศักดิ์ กล่าวว่า อาหารที่มีส่วนประกอบของจีเอ็มโอนั้นเข้ามาในประเทศไทยหลายปีแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมความปลอดภัย ซึ่งเรื่องนี้ทาง สธ.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งมาตรการที่ภาคประชาชนเสนอมานั้น ทาง สธ.ต้องทำแน่นอน โดยจะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการอาหารเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสม อาจใช้เวลาประมาณ 3 เดือน รวมถึงต้องร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยกันดูแลเรื่องอาหารจีเอ็มโอ
นพ.ไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า อาหารต้องมีความปลอดภัย ซึ่งการติดฉลากจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค ส่วนกระบวนการในการพัฒนาฉลากนั้น คณะอนุกรรมการด้านฉลากน่าจะให้คำตอบได้
ขณะที่ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช. ) กล่าวว่า ขอให้ สธ. โดยเฉพาะ อย.ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและความปลอดภัยของอาหารโดยไม่ต้องรอกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มที่ผ่านการแปรรูป
ทั้งนี้ ข้อเสนอในการยกระดับความปลอดภัยของอาหาร ทางเครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้ สธ. ดำเนินการดังนี้
1. ปรับปรุงประกาศ สธ. ฉบับที่ 215 พ.ศ. 2545 ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดย
1.1. กำหนดให้อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากจุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรคที่ดัดแปรพันธุกรรมต้องผ่านประเมินความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยง ต้องกำหนดอย่างละเอียด ในประกาศ สธ.ฉบับปรับปรุงใหม่
1.2. กำหนดให้อาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดและวัตถุดิบที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากที่ชัดเจน โดยต้องมีการแสดงฉลากว่า มาจากเทคโนโลยีจีเอ็มโอในทุกกรณีที่ตรวจพบแทนของเดิมที่ระบุให้อาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรม ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบดังกล่าวนั้นมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์
1.3. ให้ฉลากมีสัญลักษณ์จีเอ็มโอในรูปสามเหลี่ยมที่ชัดเจนและเห็นได้ชัด ดังที่มีการดำเนินการในประเทศบราซิล
1.4. อนุญาตให้ใช้ข้อความ ‘ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม’ หรือ ‘ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือ ‘ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม’ หรือข้อความอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งต้องมีหลักฐานการตรวจรับรองจากหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยรับรองที่รัฐให้การรับรอง
2. กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบหลังการอนุญาตจำหน่าย (Post-Marketing) ทั้งอาหารจีเอ็มโอและอาหารที่ระบุว่า อาหารปลอดการดัดแปรพันธุกรรม (non-GM)
3. เร่งรัดพัฒนาระบบการรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร (Food Alert System for Thai Consumers) และใช้ฐานข้อมูลร่วมกันของหน่วยงานรัฐและองค์กรผู้บริโภค พร้อมให้มีการเปิดเผยข้อมูลการทดสอบความไม่ปลอดภัยด้านอาหารแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
4. ข้อเสนอต่อกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ หากมีการดำเนินการในอนาคต ขอให้ยึดหลักการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการดำเนินการ ขอเสนอให้ สธ.ต้องมีบทบาทสำคัญเป็นหน่วยงานในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยึดหลักป้องกันไว้ก่อน โดยในกฎหมายนี้จำเป็นต้องมีมาตรการชดเชยเมื่อได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มทั้งหมด .
อ่านประกอบ:จากร่าง กม. สู่ติดฉลาก GMOs ให้ชัดเจน อีกทางเลือกผู้บริโภค
ขอบคุณ:มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค-www.consumerthai.org