- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จากร่าง กม. สู่ติดฉลาก GMOs ให้ชัดเจน อีกทางเลือกผู้บริโภค
จากร่าง กม. สู่ติดฉลาก GMOs ให้ชัดเจน อีกทางเลือกผู้บริโภค
เครือข่ายผู้บริโภคนัดรวมพลัง 17 ธ.ค. 58 จี้รัฐคลอดกำหนดฉลากจีเอ็มโอ ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพด ‘อิศรา’ ตะลุยซุปเปอร์มาเก็ต สำรวจผลิตภัณฑ์อาหารดัดแปลงพันธุกรรม พบเครื่องดื่มธัญญาหาร-ขนมขบเคี้ยว อย่างละ 1 ยี่ห้อ
นับเป็นชัยชนะของเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ หลังจากรวมพลังคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... (จีเอ็มโอ) จนในที่สุด คณะรัฐมนตรี ของ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจส่งกลับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทบทวนใหม่
งานนี้ถือเป็นการ ‘หยุดเกม’ ประเด็นที่สังคมยังมองต่าง และมีข้อท้วงติงจำนวนมาก
ขณะที่เครือข่ายผู้บริโภคและภาคี ซึ่งเคยร่วมเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่เอาร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ก็เร่งเครื่องเดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ฉลากจีเอ็มโอครอบคลุมอาหารที่มีจีเอ็มโอทุกชนิด
งานนี้มีนัดรวมพลร่วมรณรงค์และยื่นหนังสือถึง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) วันที่ 17 ธันวาคม 2558 เวลา 09.30 น. ณ ตึกปลัดกระทรวงสาธารณสุข
‘สารี อ๋องสมหวัง’ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม หรือจีเอ็มโอ ที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร ฉลากจีเอ็มโอในไทยมีมานานตั้งแต่ปี 2545 โดยมีข้อกำหนดยอมรับให้มีการตกค้างของผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบที่มีจีเอ็มโอ 5% ด้วยขณะนั้นมีห้องทดสอบสามารถตรวจสอบการปนเปื้อนดังกล่าวได้ไม่เกิน 3% ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีการตรวจสอบการปนเปื้อนจีเอ็มโอได้น้อย
ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบจีเอ็มโอ
1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก
13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก
การปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ วางจำหน่ายตามท้องตลาดเช่นนี้ต่อไป ‘สารี’ แสดงความกังวลว่า จะไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอ เพราะปัจจุบันมีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น ยังมี มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใด
กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ อย่าง ถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจน หรืออ่านได้ด้วยตาเปล่า
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบจีเอ็มโอ
แล้วอาหารหรือผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองและข้าวโพดชนิดใดบ้างที่ดัดแปลงพันธุ์กรรม หรือจีเอ็มโอ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สุ่มลงพื้นที่สำรวจในซุปเปอร์มาร์เก็ตใจกลางกรุงแห่งหนึ่ง พบว่า
ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูป 5 ยี่ห้อ พบ มีเพียง 1 ยี่ห้อ ที่มีส่วนประกอบจากถั่วเหลืองจีเอ็มโอ
ขณะที่ขนมขบเคี้ยว 30 ยี่ห้อ พบเพียง 1 ยี่ห้อ ที่มีส่วนประกอบของแป้งมันสำปะหลังจีเอ็มโอ เป็นต้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเต้าเจี้ยว ข้าวโพดอัดกระป๋อง นม เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง วุ้นเส้น และซีอิ๊ว ไม่พบสลาก ระบุ ส่วนประกอบจากวัตถุดิบจีเอ็มโอ
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบจีเอ็มโอในผลิตภัณฑ์ไม่มากก็ตาม แต่การติดฉลากให้ชัดเจน ถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นในการช่วยคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
‘สารี’ ย้ำชัดว่า เครือข่ายผู้บริโภค ไม่เคยสนับสนุนจีเอ็มโอเลย เพราะจะทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร
“ความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งหมดคงขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชน ดูได้จาก ร่าง พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ซึ่งรัฐบาลเดินหน้าไปแล้ว แต่เมื่อมีการคัดค้านจึงนำมาสู่การทบทวน เช่นเดียวกัน ‘ฉลากจีเอ็มโอ’ ขึ้นอยู่กับการตื่นตัวของพลังประชาชนที่มีส่วนสำคัญ”
เธอยังขยายความถึงการตื่นตัวของผู้บริโภคด้วยว่า ที่ผ่านมามีการตื่นตัวเรื่องอาหารจีเอ็มโออยู่แล้ว และเชื่อว่า อนาคตจะเป็นโอกาสทำให้คนเห็นความสำคัญมากขึ้นอีก ทำให้ต้องกำหนดฉลากขนาดชัดเจน รวมถึงสัญลักษณ์ ให้เหมือนในบางประเทศ ดังเช่น บราซิล สหรัฐฯ ที่มีสัญลักษณ์ สลากที่ชัดเจน ซึ่งไทยยังไม่มี ยกเว้นให้ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์เท่านั้น .