เปิดใจอธิการบดี มสธ. ‘ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ หลังโดนกล่าวหา โดดงานไปเรียน วปอ. (1)
"การปฏิบัติราชการเต็มเวลาของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีหรือข้าราชการซี 10 ในอดีต จึงไม่จำเป็นต้องทำงานที่โต๊ะจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. ทุกวัน"
สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเรื่องวุ่น ๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ซึ่งส่อเค้าจะร้อนระอุมากขึ้น เมื่อบุคลากรจำนวนหนึ่ง นำโดยนายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ นายกสภา มสธ. เมื่อช่วงสายของวันที่ 26 พ.ย. 58
โดยขอให้พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งและยกเลิกการยืมตัว ‘รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ มาปฏิบัติราชการเต็มเวลาในฐานะอธิการบดี ภายหลังใช้เวลาปฏิบัติราชการเข้ารับการศึกษาภายใต้หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ทำให้เกิดข้อกังวลไม่สามารถทุ่มเทงานได้เต็มที่ ตามที่หนังสือร้องเรียนระบุ
“...จะส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการของมหาวิทยาลัยอย่างมาก เพราะการที่ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรไม่สามารถทำหน้าที่ซึ่งเป็นหน้าที่ที่พึงปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเต็มเวลา โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ผู้บริหารระดับสูงสุดจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำลังประสบในปัจจุบัน...”
ทั้งนี้ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ เป็นอธิการบดีคนที่ 7 ของ มสธ. โดยได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 ตามมติสภา มสธ.ขอความอนุเคราะห์ยืมตัวจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยปฏิบัติราชการเต็มเวลา มีกำหนด 4 ปี นับแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับ ‘รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย’ อธิการบดี มสธ. เพื่อขอคำชี้แจงให้คลายสงสัยในทุกประเด็นร้อน ภายหลังเขาเดินทางกลับจากราชการในต่างประเทศ
“ผมไปเรียน วปอ.ตามขั้นตอนของราชการถูกต้องทุกประการ” เป็นคำยืนยันแรกของผู้บริหาร มสธ.ที่กล่าวกับเรา
เขาอธิบายต่อว่า มสธ.เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การเข้ารับการศึกษาหลักสูตร วปอ. ครั้งนี้ จึงได้รับการอนุมัติจากเลขาฯ สกอ. ที่ได้เสนอชื่อไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปตามลำดับชั้น และมีสภากลาโหมเป็นผู้พิจารณา จากนั้นเรื่องจะถูกส่งเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมีมติเห็นชอบ
“การเข้ารับการศึกษาหลักสูตร วปอ. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบแล้ว ได้แก่ สภา มสธ., สภาวิชาการ มสธ., คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) มสธ. และคณะกรรมการบริหาร มสธ.ซึ่งไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โดยเฉพาะนายกสภา มสธ.”
สำหรับข้อร้องเรียนที่ว่า อธิการบดีปฏิบัติราชการไม่เต็มเวลา หากต้องเข้ารับการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว เป็นการผิดเงื่อนไขการยืมตัวที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 ไม่ได้กำหนดเรื่องสัญญาจ้างอธิการบดีที่มาจากบุคคลภายนอก ฉะนั้นการเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้จึงไม่มีสัญญาจ้าง ปัจจุบันมีเพียงพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ใช้ในการปฏิบัติราชการเท่านั้น
ทั้งนี้ กรณีหนังสือขอยืมตัวเพื่อไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิการบดี มสธ. โดยปฏิบัติราชการเต็มเวลาถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล คำว่า เต็มเวลา ระบุไว้เพื่อให้ความชัดเจนผู้มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องไม่ได้รับภาระงานจากมหาวิทยาลัยเดิมอีก แต่ให้รับภาระงานในตำแหน่งผู้บริหารของ มสธ. 100%
“ผมไม่ได้รับเงินเดือนจากมหาวิทยาลัยมหิดลแม้แต่บาทเดียว ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนอาจารย์ เงินประจำตำแหน่ง เงินแพทย์ หรือเงินโครงการวิจัยต่าง ๆ ฉะนั้นการกล่าวหาว่า ได้รับเงินสองทางจึงไม่เป็นความจริง”
อธิการบดี มสธ. กล่าวเพิ่มเติมถึงการตีความการปฏิบัติราชการเต็มเวลาว่า หลักสูตร วปอ. มีผู้บริหารระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง อธิบดี รองอธิบดี หรืออธิการบดี เข้าร่วม ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 58 มีจำนวนเกือบ 300 คน และเมื่อนับจำนวนผู้เข้ารับการศึกษาทุกรุ่นกว่า 1.5 หมื่นคน ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้น
การปฏิบัติราชการเต็มเวลาของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีหรือข้าราชการซี 10 ในอดีต จึงไม่จำเป็นต้องทำงานที่โต๊ะจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น. ทุกวัน
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ กล่าวต่อว่า เรามีการทำคำรับรองการปฏิบัติราชการกับ สกอ. ซึ่งทุกสิ้นปีจะต้องสร้างผลงานผลิตผลอะไรบ้าง โดยระบุเป็นผลลัพธ์ ไม่ใช่กระบวนการ และโดยปกติก็ไม่มีอธิบดีหรืออธิการบดีนั่งทำงานที่โต๊ะตลอดเวลา การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ใช่พันธกิจของผู้บริหารระดับสูง ฉะนั้น การเข้าศึกษาหลักสูตร วปอ. จึงถือเป็นการปฏิบัติราชการ ไม่ได้หนีหลบพักร้อนหายไปไหน
ทั้งนี้ ตั้งแต่เป็นอธิการบดี มสธ. เพิ่งขาดการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาเพียงครั้งเดียว เนื่องจากต้องเดินทางไปราชการในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม 2 เดือนแรกที่เข้ารับการศึกษาในหลักสูตร วปอ. ได้แต่งตั้งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งอธิการบดี เพื่อดำเนินการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ หากกรณีที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็สามารถส่งข้อความผ่านเเอปพลิเคชั่นไลน์หรือโทรศัพท์ติดต่อทันที
“ทุกวันตอนเย็นหลังเลิกเรียน จะขับรถไป มสธ. เพื่อปฏิบัติราชการภาคเย็น ตั้งแต่ 17.00-20.00 น. เป็นประจำ เพราะบางเรื่องต้องให้อธิการบดีลงนามเท่านั้น อีกทั้งจะกลับไปประชุมประสานนโยบายระหว่างอธิการบดีกับรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดีเหมือนเดิม”
แม้จะต้องกลับไปทำงานทุกเย็นเช่นนี้ เขายืนยันว่าไม่ได้รับค่าล่วงเวลา (โอที) เพราะเป็นการปฏิบัติราชการนอกเวลา เเต่เป็นหน้าที่ต้องอุทิศเวลาให้ ไม่ว่าจะมีกิจกรรมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลอด 3 ปี ก็ได้ปฏิบัติราชการเต็มเวลาและนอกเวลามาโดยตลอด ซึ่งการบริหารงานลักษณะนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารเลย
อธิการบดี มสธ. ยังระบุถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนนักศึกษาลดลง ระบบไอทีขัดข้อง ว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดมานาน 7-8 ปีแล้ว ไม่ได้เกิดในสมัยที่ตนเองเข้ามาเป็นอธิการบดี ฉะนั้นภาพลักษณ์องค์กรตกต่ำลง และต้องได้รับการเยียวยา ย่อมต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเรียกคืนกลับมาได้ ปัญหาต่าง ๆ จึงไม่ได้เกิดจากการที่เข้ารับการศึกษาหลักสูตร วปอ.
“หลักสูตร วปอ.มีผู้บริหารระดับสูง ทหารร้อยกว่านาย ระดับชั้นนายพล พลโท พลตรี พันเอก พันเอกพิเศษ อธิบดี รองอธิบดี และปี 2557 ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็เคยได้เข้ารับการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ซึ่งทุกคนถือได้ปฏิบัติราชการเต็มเวลา”
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ จึงยืนยัน การเข้ารับศึกษาหลักสูตร วปอ. ไม่ได้ทำให้การบริหารงาน มสธ. ในตำแหน่งอธิการบดีย่ำแย่ลง เพราะได้อุทิศเวลาปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ .
ติดตามอ่านต่อวันพรุ่งนี้ .
อ่านประกอบ:ไขทุกข้อสงสัย ‘เธียรชัย ณ นคร’ ปมยื่นถอดถอนอธิการบดี มสธ. ส่อเค้าระอุ
นายกสภา มสธ. เตรียมตั้ง กก.สอบอธิการบดีเรียน วปอ. กระทบงานบริหาร
อจ.มสธ. เข้าชื่อยื่นถอดถอนอธิการบดีผิดเงื่อนไข เอาเวลาไปเรียน 'วปอ.'
ภาพประกอบ: รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย www.up.ac.th เเละ ตราสัญลักษณ์ มสธ. apkpure.com