ไขทุกข้อสงสัย ‘เธียรชัย ณ นคร’ ปมยื่นถอดถอนอธิการบดี มสธ. ส่อเค้าระอุ
“อธิการบดีพยายามชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยจะได้เครือข่ายและเป็นที่รู้จัก ซึ่งมองว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการเห็นคนทุ่มเทการทำงานให้กับมหาวิทยาลัย และมีความตระหนักในหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรง ไม่ใช่มอบหมายภารกิจให้รองอธิการบดีปฏิบัติแทน”
การตัดสินใจของ รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ในการเข้าศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ตั้งแต่ตุลาคม 2558-กันยายน 2559 ทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยมีความกังวลจะไม่สามารถปฏิบัติราชการเต็มเวลาในฐานะอธิการบดีได้
นำมาสู่การยื่นหนังสือร้องเรียนถึง รศ.ดร.องค์การ อินทรัมพรรย์ นายกสภา มสธ. เพื่อขอให้พิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่งและยกเลิกการยืมตัวมาปฏิบัติราชการเต็มเวลา ในช่วงสายของวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ อาคารสัมมนา 1 มสธ. นำโดยนายเธียรชัย ณ นคร อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ พร้อมด้วยบุคลากรกว่า 20 คน
นายเธียรชัย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงที่มาของการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ อธิการบดีคนปัจจุบันได้รับการสรรหา โดยยืมตัวมาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้เงื่อนไขต้องปฏิบัติราชการเต็มเวลา มีกำหนด 4 ปี แต่เมื่อปฏิบัติหน้าที่มาระยะเวลาหนึ่ง อธิการบดีได้ตัดสินใจรับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)เข้าศึกษาหลักสูตร วปอ. ซึ่งต้องมีเวลาศึกษาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 75%
แล้วเหตุใด สกอ.จึงเชิญอธิการบดี มสธ.เข้ารับการศึกษาหลักสูตรดังกล่าว เขาบอกว่า ไม่ทราบเหตุผลที่ชัดเจน แต่สกอ.อาจไม่ทราบว่า อธิการบดีได้รับการยืมตัวมา โดยมีเงื่อนไขจะต้องปฏิบัติราชการเต็มเวลา อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา อันสืบเนื่องจากความรับผิดชอบในการบริหารงานในฐานะผู้บริหารองค์กรสูงสุด นอกจากการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่
นายเธียรชัย ยังกล่าวว่า ปัญหาต่าง ๆ อาทิ จำนวนนักศึกษาลดลง ระบบการบริหารงาน ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ไม่ได้รับการแก้ไข บุคลากรจึงกังวล และคาดหวังอยากเห็นอธิการบดีทำงานอย่างเต็มที่มากกว่า แม้ 2 ปีที่ผ่านมา ของการดำรงตำแหน่ง จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก
“เคยสอบถามกับอธิการบดี โดยขอให้ยกเลิกการเข้าศึกษาหลักสูตร วปอ. แต่ท่านกลับยืนยันเป็นสิทธิกระทำได้ ซึ่งผมไม่เถียง แต่คิดว่า ความตระหนักในหน้าที่หลังจากได้รับการสรรหา ภายใต้คุณสมบัติที่รับทราบตั้งแต่ต้น จะต้องเป็นผู้เสียสละและอุทิศเวลาให้กับงานอย่างเต็มที่ เรื่องดังกล่าวไม่ควรลืม”
สำหรับโอกาสในการเข้าศึกษาหลักสูตร วปอ. เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี แม้จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี มสธ. แล้วก็ตาม ถือว่าผ่านงานการบริหารองค์กรมาแล้ว และสามารถเข้าศึกษาได้อีก โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาปีนี้ ขณะที่ในอดีตสมัยท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี ม.มหิดล อาจยังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ
นายเธียรชัย ยังบอกว่า หากอธิการบดีตัดสินใจเข้ารับการศึกษาต่อ เมื่อจบหลักสูตรในเดือนกันยายน 2559 กลับมาปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาเหลืออีกไม่กี่เดือนก็หมดวาระดำรงตำแหน่งแล้ว ตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยจะได้รับประโยชน์อะไรจากการศึกษาครั้งนี้
“อธิการบดีพยายามชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยจะได้เครือข่ายและเป็นที่รู้จัก ซึ่งมองว่า ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับการเห็นคนทุ่มเทการทำงานให้กับมหาวิทยาลัย และมีความตระหนักในหน้าที่ ซึ่งต้องรับผิดชอบโดยตรง ไม่ใช่มอบหมายภารกิจให้รองอธิการบดีปฏิบัติแทน”
ทั้งนี้ ได้เปิดเผยรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการบริหารงานของอธิการบดีด้วย เขาระบุว่า จากแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,000 ชุด ได้รับการตอบกลับ 344 ชุด คิดเป็น 34.4%
ความเห็นส่วนใหญ่ 244 คน มองการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขของการยืมตัวมาปฏิบัติราชการเต็มเวลาในฐานะอธิการบดี เป็นการผิดเงื่อนไขการยืมตัว
อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่มหาวิทยาลัยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจึงควรขอยกเลิกการยืมตัวอธิการบดี
สุดท้ายเมื่อมีการส่งตัวอธิการบดีกลับมหาวิทยาลัยมหิดลจริง ขั้นตอนจะขึ้นอยู่กับสภามหาวิทยาลัยต้องพิจารณา เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาควรคำนึงถึงเงื่อนไขการยืมตัวจะต้องปฏิบัติราชการเต็มเวลาด้วย
หลังจากนั้นมี 2 ทางเลือก คือ 1.จัดให้มีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ภายใต้กติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.แก้ไขกฎข้อบังคับการสรรหาอธิการบดีใหม่ กรณีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยระหว่างนี้ขอให้สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิรักษาการอธิการบดีแทน
ด้วยเหตุผลที่นายเธียรชัย ณ นคร ในฐานะผู้แทนบุคลากรในมหาวิทยาลัยอธิบายไว้ทั้งหมด เป็นเหตุผลที่พวกเขาเห็นว่า เพียงพอที่จะยกเลิกการยืมตัว รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย นั่งเก้าอี้อธิการบดี มสธ.
อ่านประกอบ:อจ.มสธ. เข้าชื่อยื่นถอดถอนอธิการบดีผิดเงื่อนไข เอาเวลาไปเรียน 'วปอ.'
นายกสภา มสธ. เตรียมตั้ง กก.สอบอธิการบดีเรียน วปอ. กระทบงานบริหาร
ภาพประกอบ:เว็บไซต์มติชนออนไลน์