ปตท.ไม่ใช่ หน่วยงานรัฐ กฤษฎีกาชี้เลือกส่งเงิน แทนจ้างคนพิการทำงานได้
ปตท.ไม่ใช่ หน่วยงานของรัฐ กฤษฎีกาชี้เลือกส่งเงินเข้ากองทุน แทนจ้างงานคนพิการทำงานได้
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ้างงานคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 (กรณีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้วินิจฉัยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถเลือกส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตามมาตรา 34 แทนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 หรือดำเนินการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเห็นว่า ข้อหารือดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีสถานะเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 หรือไม่ กรณีจึงต้องพิจารณาจากนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้“หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
เมื่อพิเคราะห์ความหมายของนิยามดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า นิยามดังกล่าวมุ่งหมายให้หน่วยงานของรัฐ หมายถึงส่วนราชการทั้งหมด สำหรับรัฐวิสาหกิจมุ่งหมายเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา โดยมิได้มุ่งหมายให้หมายความรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นด้วยการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด หรือรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบอื่น
เมื่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แปลงสภาพมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยโดยการเปลี่ยนทุนของการปิโตรเลียม แห่งประเทศไทยเป็นหุ้นแล้วดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามมาตรา 222 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 จึงมีผลให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่อยู่ในความหมายของ “รัฐวิสาหกิจ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
สำหรับข้อพิจารณาว่า บริษัท ปตท. จะอยู่ในความหมายของคำว่า “หน่วยงานอื่นของรัฐ” ในนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ นั้น
คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 กำหนดความหมายของรัฐวิสาหกิจที่จะเป็นหน่วยงานของรัฐตามคำนิยามหน่วยงานของรัฐไว้ชัดเจนว่า คือ รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา คำว่า “หน่วยงานอื่นของรัฐ” จึงไม่อาจมีความหมายถึงรัฐวิสาหกิจอีก
แต่หมายความถึงเฉพาะหน่วยงานของรัฐรูปแบบอื่น เช่น องค์การมหาชนหรือองค์กรอิสระ บริษัท ปตท. จึงไม่อยู่ในความหมายของ “หน่วยงานอื่นของรัฐ”
เมื่อบริษัท ปตท. จำ กัด (มหาชน) ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงไม่ใช่ “หน่วยงานของรัฐ” ตามนิยามในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงสามารถเลือกส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
‘ปลัดแรงงาน’คาดปลายต.ค.ได้ข้อสรุปชัดแนวทางจ้างคนพิการทำงานในชุมชน