ปลุกคนไทยฮึดสู้ต้าน ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ก่อนต้นทุนชีวิตเป็นศูนย์
ม.ฮาร์วาร์ด จับมือกรีนพีซฯ เปิดรายงานต้นทุนชีวิต โรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยรัฐขืนเดินหน้าก่อสร้างทั่วประเทศ ปชช.เสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 เกิดโรคตาย 5.3 พันคน/ปี เรียกร้องรัฐบาลหนุน กม.พลังงานหมุนเวียน สร้างทางเลือกใช้ประโยชน์สูงสุด
ทำไมคนไทยต้องหวาดกลัวโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน?
ในเมื่อรัฐยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
หากแต่ภาพจำผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ยังคงตามหลอกหลอนอยู่ แม้ ‘สุนชัย คำนูณเศรษฐ์’ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยปฏิเสธ
โดยบอกว่า “การระบุโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ก่อให้เกิดผลเสียด้านต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งมีการเขียนเกินความจริงไปมาก ภาษาปัจจุบันเรียกว่า ดราม่า”
ก่อนจะหยิบยกเหตุผลต่าง ๆ ขึ้นมาหักล้าง พร้อมยืนยันไทยจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะที่ จ.กระบี่ ภายในปี 2562 มิฉะนั้นภาคใต้จะมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ
ลืมไปแล้วหรือ! แม้จะมีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ทว่า กลับต้องแลกมาด้วยต้นทุนชีวิตที่สูญเสียก่อนวัยอันควร สุขภาพที่ย่ำแย่อันเกิดจากฝุ่นละออง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบด้วย
สมมติฐานดังกล่าวได้รับการยืนยันจากรายงาน ‘ต้นทุนชีวิต:โรงไฟฟ้าถ่านหินกับภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนไทย’ ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย โดยขยายผลการศึกษาของ ม.ฮาร์วาร์ด กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ข้อมูลเป็นผลจากการคำนวณแบบจำลองบรรยากาศ (Atmospheric Modeling) ทีมวิจัย Atmospheric Chemistry Modeling ของ ม.ฮาร์วาร์ด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งใช้แบบจำลองการเคลื่อนที่ของเคมีในบรรยากาศ (Atmospheric chemistry-transport model-GEOS-Chem) (2)
ข้อค้นพบระบุว่า การปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ประชาชนนับล้านคนได้รับฝุ่นละอองที่เป็นพิษและมลพิษโอโซน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจล้มเหลว เส้นเลือดในสมองแตก มะเร็งปอด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของไทย
อีกทั้ง ยังชี้ว่า ปี 2554 มลพิษทางอากาศจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1,550 ราย (ช่วงของความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 อยู่ระหว่าง 800-2,300 ราย)
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและที่มีการวางแผนเปิดดำเนินการใช้จริงทั้งหมดแล้ว อัตราการเสียชีวิตของคนไทยจะเพิ่มสูงถึง 5,300 ราย/ปี
โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-มาบตาพุด ผลกระทบเกิดคาด
‘ลาวรี่ มิลลีเวียดา’ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กรีนพีซอินเตอร์เนชั่นแนล สะท้อนให้เห็นถึงสาเหตุที่ควรหวาดกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นเป็นอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สามารถแทรกซึมเข้าไปยังกระแสเลือดได้โดยง่าย ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา
สอดคล้องกับรายงานจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ระบุว่า มลภาวะทางอากาศก่อให้เกิดการตายก่อนวัยอันควรทั่วโลกถึง 3 ล้านคน/ปี โดย 1.6 แสนคน อยู่ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูง และเป็นสาเหตุหลักก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
จากภาพรวมระดับโลกและภูมิภาค เมื่อกลับมาดูในไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า พบสัดส่วนมลพิษที่ถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปี2551 (ค.ศ.2008) เป็นสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ร้อยละ 70, PM 2.5 ร้อยละ 40, PM 10 ร้อยละ 69, ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ร้อยละ 26 และคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 24
โดยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ถือเป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั้งประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สัดส่วนสูงมาก หากยังมีแผนเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอีก ผลกระทบจะยิ่งแผ่ขยายไปทั่ว
ทั้งนี้ รายงานได้รวบรวมผลการศึกษาเพิ่มเติม 2 กรณี คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี และเก็คโค่-วัน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
พบว่า การปล่อยมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแอลซีพี และเก็คโค่-วัน ก่อให้เกิดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 360 ราย/ปี ไปจนถึงมากกว่า 1.4 หมื่นราย ตลอดระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 40 ปี ของโรงไฟฟ้า
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คาดว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 1,750 ราย ในช่วงระยะเวลา 40 ปี ของการดำเนินการเช่นกัน
(ผลประเมินการตายก่อนวัยอันควรของโรงไฟฟ้าถ่านหินระยองต่อปี)
(ผลประเมินการตายก่อนวัยอันควรของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ต่อปี)
ลาวรี่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน แอลซีพี และเก็คโค่-วัน ปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับ 2 ของไทย โดยตั้งอยู่ใกล้พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว อาทิ เกาะเสม็ด หาดพัทยา จึงย่อมกระทบต่อนักท่องเที่ยว และวันใดที่มีกระแสลมพัดแรง ย่อมส่งผลกระทบต่อคนในกรุงเทพฯ เช่นกัน เพราะมีพื้นที่ตั้งอยู่ห่างเพียง 120 กม.
“สมมตินำมาเฉลี่ยต่อปี จะเห็นว่า แม้คนระยองได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่คนกรุงเทพฯ ก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน เนื่องจากมีจำนวนประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น”
ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น เขาบอกว่า ตั้งอยู่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว และพื้นที่อนุรักษ์จำนวนมาก แน่นอนผลกระทบย่อมเกิดขึ้นทั่วจังหวัด และเชื่อมโยงไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอย่างภูเก็ตด้วย กรณีที่มีกระแสลมพัดพาฝุ่นละอองไป
“เถ้าควันสารพิษจากปล่องเต็มไปด้วยสารโลหะหนัก ทั้งปรอท ตะกั่ว ซึ่งจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าว และว่า มีการคำนวณพบพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่จะได้รับเถ้าควันสารพิษ 9 ตัน/ปี ของพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้ คุณภาพน้ำและระบบนิเวศมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากการตกลงมาสะสมโดยตรงบริเวณผิวน้ำและน้ำจากแม่น้ำและลำธารที่ไหลมาสู่อ่าว คาดว่าจะการตกสะสมของเถ้าสารพิษในอ่าวและลุ่มน้ำทั้งหมด 150 ตัน/ปี
ลาวรี่ ยังกล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา แม้จะไม่ได้อยู่ในการศึกษา เนื่องจากในขณะที่จัดทำรายงานยังไม่มีการประกาศเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าแห่งนี้
แต่เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อ อ.หาดใหญ่ และอ.เมือง จ.สงขลา มากที่สุด รองจากพื้นที่ก่อสร้าง คาดว่าจะมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 4,420 ราย ตลอด 40 ปี ของการดำเนินการโรงไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงเกิดฝนกรดสะสมในพื้นที่อีกด้วย ยังไม่นับรวมเถ้าควันสารพิษลอยในอากาศตกลงในพื้นที่เกษตรกรรม
จี้รัฐบาลดันกม.พลังงานหมุนเวียน สร้างการใช้ประโยชน์สูงสุด
“ถึงเวลาแล้วหรือยังต้องหันมาพูดคุยเพื่อหาวิธีการป้องกันสิ่งที่จะเกิดขึ้น” ลาวรี่ ตั้งต้น
แม้ต้องพยายามหาวิธีป้องกัน แต่น่าชื่นใจ เมื่อขณะนี้หลายประเทศมีความพยายามผลักดันเรื่องพลังงานหมุนเวียน โดยปี 2557 (ค.ศ.2014) เป็นปีแรกที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าฟอสซิล
อีกทั้งสหรัฐฯ-ยุโรป มีการใช้ถ่านหินลดน้อยลง ไม่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีกำลังการผลิตถ่านหินลดน้อยลงเช่นกัน ขณะที่อุปสงค์ต่อพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล อย่างพลังงานหมุนเวียนกำลังเพิ่มสูงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน จึงเสนอให้รัฐบาลไทยปรับค่ามาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่นละออง ซึ่งปัจจุบันสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ควรทบทวนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโลก นอกจากนี้การตรวจจับการปล่อยมลพิษต้องเปิดเผยผลต่อสาธารณะ พร้อมสนับสนุนให้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) ตลอดจนผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการใช้ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อไป
(มาตรฐานการปล่อยมลพิษจากถ่านหิน)
ทั้งนี้ จากรายงานระบุว่า ไทยกำหนดมาตรฐานการปล่อย PM 2.5 ต่อปีจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก 2.5 เท่า ส่วนมาตรฐานการปล่อย PM 2.5 ต่อวัน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก 2 เท่า
เช่นเดียวกับมาตรฐานการปล่อย PM 10 ต่อปีของไทยกำหนดค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 20 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเกณฑ์มาตรฐานต่อวันของไทย คือ 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทั้งที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น
สรุปได้ว่า มาตรฐานต่าง ๆ ของไทยสูงกว่าที่สากลกำหนดทุกประเภท
เปิดสถานภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทย
ด้าน ‘จริยา เสนพงศ์’ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเธอเป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย
โดยเธอบอกว่า ปัจจุบันไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 16 แห่ง ได้แก่ แม่เมาะ กำลังการผลิต 2,400 เมกะวัตต์, บีแอลซีพี 1,434 เมกะวัตต์, เก็ดโค่-วัน 700 เมกะวัตต์, โกลว์ เอสพีพี 3-5 431 เมกะวัตต์, ท่าตูม 300 เมกะวัตต์, เมืองไออาร์พีซี 108 เมกกะวัตต์, วังศาลา มิลล์ 60 เมกะวัตต์, อยุธยา มิลล์ 57 เมกะวัตต์
บางกอก เอชเอสเอฟซี 50 เมกะวัตต์, แก่งคอย 17 เมกะวัตต์, บ้านโป่งเอสพีไอ 15 เมกะวัตต์, อ.สามพราน 15 เมกะวัตต์, บ้านโป่งเอสเคไอ 15 เมกะวัตต์, อีลีท คราฟท์ 10 เมกะวัตต์, ปราจีนบุรี ไอพีซี 10 เมกะวัตต์ และปราจีนบุรี ยูทีพี 8 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 5,630 เมกะวัตต์
(สีเทา:เเผนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ดำเนินการ/สีเเดง:เเผนที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน)
ส่วนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ในประเทศไทย จริยา ระบุมี 6 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 6,820 เมกะวัตต์ ได้แก่
โรงไฟฟ้าทับสะแก 2,800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา 2,000 เมกะวัตต์ โดยสถานะของโครงการกำลังประกาศสร้าง แต่การดำเนินการจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แต่ละพื้นที่
โรงไฟฟ้ากระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าปราจีน ทีซีพี 20 เมกะวัตต์ สถานะของโครงการอยู่ในขั้นตอนการวางแผน
ขณะที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 600 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส ฉะเชิงเทรา 600 เมกะวัตต์ มีการเตรียมขอใบอนุญาต
ทั้งนี้ ปัจจุบันเกิดข้อถกเถียงกันว่า เมื่อไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรอง 10 ปี เหตุใดต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม้รัฐบาลจะอ้างว่า ไฟฟ้าที่มีสำรองเกินจะส่งขายให้พม่า ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานฯ มองว่า ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในการจัดการพลังงานไทย แต่ควรคำนึงถึงต้นทุนด้านสุขภาพที่ไม่เคยได้รับการกล่าวถึงด้วย
หนุนคนไทยทำข้อมูลชุมชน สร้างทางเลือกพลังงานใหม่
แล้วชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไร ‘สมพร เพ็งค่ำ’ นักปฏิบัติการการประเมินผลกระทบโดยชุมชน เริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างความสำเร็จในการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
จนทำให้โครงการก่อสร้างชะงัก เนื่องจากชาวบ้านช่วยกับเก็บข้อมูลในพื้นที่นำเสนอค้านรายงาน EHIA ซึ่งชาวบ้านในภาคใต้ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ต่อสู้อยู่ ด้วยปฏิเสธไม่ได้ว่า เครื่องมือเหล่านี้มีความสำคัญในการเรียนรู้ และช่วยตัดสินใจในการพัฒนาและดำเนินนโยบาย
นักปฏิบัติการฯ เล่ารายละเอียดขั้นตอน คือ ต้องศึกษาข้อมูลชุมชน โดยจัดทำแผนที่ และไทม์ไลน์ บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน ศึกษาข้อมูลโครงการอย่างละเอียด รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับกฎหมาย และขั้นตอนการอนุญาตด้วย
“จากการทำงานทำให้สัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment:CHIA) เพื่อจะได้ทราบถึงอัตลักษณ์และคุณค่าของพื้นที่”
เธอจึงสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาทำข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วนำไปสู่การผลักดันสู่การตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจมิใช่ครอบคลุมเฉพาะความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ควรใช้ความรู้ของชุมชนประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมต่อไป
..................................................................................................
ตัวเลขคาดการณ์ผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทย 5,300 ราย/ปี หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศครบทุกแห่งตามแผนนโยบาย คงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นเฉพาะคนในพื้นที่ก่อสร้างอีกต่อไป เพราะฝุ่นละอองเถ้ามลพิษพร้อมที่จะฟุ้งกระจายสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ จึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนสะอาดในอนาคต .
อ่านประกอบ:‘ผู้ว่าฯ กฟผ.’ กับคำถาม ใครทำให้คนไทยกลัวถ่านหิน
Dark side of the city รอยแผลลึกแม่เมาะ ตอกฝาโลงโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นักวิจัยฮาร์วาร์ดชี้ไทยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ชาวบ้านเสี่ยงรับฝุ่นตายเพิ่ม 3 พันคน/ปี