ตามไปดู "คลองด่าน" วันนี้ ก่อนเสียค่าโง่ฟื้นกลับเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียอีกครั้ง
ขนาดห้องระบายน้ำทิ้ง ยังมีหอยนางรม แมลงภู่ไปเกาะเต็มไปหมด และนี่คือเหตุผลที่ชาวบ้านยังคงยืนยัน "เราไม่เอาบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้เปลี่ยนเป็นศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ"
โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ มหากาพย์ทุจริตที่มีการล็อกสเปก เปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อเอื้อพวกพ้อง ถึงวันนี้ได้ทำประเทศชาติสูญเงินแล้วไม่ต่ำกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท
และกำลังเสียเงินอีก รวมดอกเบี้ย 4.9 พันล้านบาท และ 31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จ่ายค่าโง่คลองด่าน โดยแบ่งชำระ 3 งวด แล้วเสร็จภายในพฤศจิกายน 2559
แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกำชับหนักหนาต่อไปต้องไม่เกิดภาระแบบนี้อีกก็ตาม
แต่วันดังกล่าวครม.ยังมีมติเห็นชอบตอนท้ายว่า ขอให้ 2 หน่วย คือองค์การจัดการน้ำเสีย ที่เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงทรัพยากรฯ ไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นสมุทรปราการ จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ให้คุ้มค่าที่สุดกับงบประมาณที่หายไปหรือไม่
ซึ่งหากพลิกมติครม.ก่อนหน้านี้ 13 ตุลาคม 2558 นายกฯ ประยุทธ์ ก็ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาศึกษากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ก่อสร้างโครงการจัดการน้ำเสียคลองด่าน โดยอาจพิจารณาให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นสำคัญ
นับจาก วันที่มีการยุติโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน นับถึงปีนี้ (2558) ผ่านไปแล้ว 12 ปี นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ย้ำชัดว่า ทุกรัฐบาลไม่เคยมีการคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตว่า มีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป้นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ความเสียหายด้านเวลา ความเสียหายที่ไม่มีการจัดการคุณภาพน้ำเสีย สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีการวิเคราะห์กัน
"ประกอบรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยมีการต่อสู้คดีอย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลย ทั้งๆที่ศาลฎีกาได้มีการตัดสินความผิดแล้ว แต่ไม่มีการนำผลการตัดสินไปขยายผล รวมถึงคดีแพ่งอีกหลายคดี"
ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ ชี้ว่า ทุกวันที่คนที่เกี่ยวข้องกับคดีโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านก็ยังอยู่ดีมีสุข
"ในเมื่อเรากำลังพูดกันเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาใหญ่ของประเทศ คดีคลองด่านเป็นกรณีเดียวที่หลักฐานทุกชั้น ทุกขั้นตอนชัดเจนมากที่สุดแล้ว หากไม่สามารถจัดการใดๆ ได้เลยกับนักการเมือง ข้าราชการกรมควบคุมมลพิษ กรมที่ดินที่กระทำผิด ไม่สามารถป้องกันการจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทเอกชนได้ ทั้งๆที่บริษัทเอกชนมีส่วนก่อความเสียหาย การทำสัญญามีการฉ้อโกง เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ"
ทั้งหมดเหล่านี้เป็นการกระทำผิดผ่านมา 12 ปี โดยมีการชำระสะสางอะไรเลย
นางสาวเพ็ญโฉม ยังเสนอแนะให้ใช้ซาก หรือโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านแห่งนี้ แปลงเป็นศูนย์วิจัยสัตว์น้ำแทน เพราะจะตอบโจทย์และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก
ส่วนการทุ่มงบประมาณลงมาศึกษาโครงการคลองด่านอีกนั้น ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า เมื่อปี 2548 กรมควบคุมมลพิษเคยว่าจ้างนักวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาไว้แล้ว โดยมีการศึกษาไว้อย่างละเอียดถึงทางเลือกต่างๆ หลากหลายทางเลือก ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องศึกษาอะไรอีกแล้ว
ขณะที่ "ดาวัลย์ จันทรหัสดี" อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน ได้ลงสำรวจโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า การทิ้งร้างของโครงการคลองด่าน ทำให้ระบบท่อฉีกขาด และทรุดตัว ถนนก็ทรุดตัว
และหากจะเดินหน้าต่อไป เธอเห็นว่า เสมือนกำลังทำสิ่งที่ผิดซ้ำผิดซาก เพราะโครงการนี้ตั้งแต่แรกระบบบำบัดน้ำเสียไม่สามารถกำจัดสารที่เป็นโลหะหนักได้เลย เป็นระบบบำบัดแบบชีวภาพ เติมอากาศ การนำน้ำเสีย จากฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา และบางปูใหม่มาทั้งหมด "เป็นการนำน้ำเสียมาเที่ยว" โดยใช้ไฟในการปั๊มมา และเป็นการเจือจางน้ำอุตสาหกรรม กับน้ำเสียชุมชน เพื่อให้ค่าสารโลหะหนักได้ค่ามาตรฐานก่อนปล่อยน้ำทิ้ง
ยิ่งการนำโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านไปให้องค์การจัดการน้ำเสีย ดูแล และจังหวัดสมุทรปราการดูแลด้วยนั้น อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน ชี้ว่า แค่คิดก็ผิดแล้ว
อีกทั้งตั้งแต่แรกเริ่มโครงการนี้ก็เลือกไปตั้งในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม เทคโนโลยีก็ไม่ดี ซึ่งมีงานวิจัยและงานทางวิชาการมากมายพบว่า พื้นป่าชายเลนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์
และเมื่อไม่นานมานี้ เธอตระเวณเก็บหอยนานาชนิด ขนาดต่างๆ บริเวณโครงการคลองด่าน เพื่อยืนยันว่า บริเวณที่ตั้งโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่นี่เป็นแหล่งกำเนิด และแหล่งเพาะเลี้ยงหอยนานาชนิด เป็นทรัพยากรอันประเมินค่าไม่ได้แล้วในอ่าวไทย
ขนาดห้องระบายน้ำทิ้ง ยังมีหอยนางรม แมลงภู่ไปเกาะเต็มไปหมด และนี่คือเหตุผลที่ชาวบ้านยังคงยืนยัน "เราไม่เอาบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้เปลี่ยนเป็นศูนย์วิจัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ"
"หากต้องทุ่มงบประมาณ 300 ล้านเพื่อศึกษาบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้อีก เพื่อให้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสียต่อไป เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง" อดีตแกนนำประชาชนตำบลคลองด่าน เน้นย้ำ ก่อนโชว์ภาพการลงสำรวจโครงการค่าโง่คลองด่าน ให้เห็นสภาพเชิงวิศวกรรม ความเสียหาย อาทิ ระดับน้ำกับสิ่งก่อสร้าง ท่อต่ำกว่าระดับน้ำ ถนนทรุด พัง แตก แยกเป็นทางยาว อยู่ในระดับน้ำทะเล เพื่อ ก่อนผู้กุมนโยบายจะตัดสินใจ ดำเนินการอย่างไรต่อไป...
แหล่งกำเนิดหอยนานาชนิด เก็บได้ในพื้นที่
ธรรมชาติ ในบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดไทม์ไลน์คดีบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ก่อนครม.มีมติจ่ายซ้ำ 'ค่าโง่' 9.6 พันล.
ภาคปชช.ค้านรัฐจ่ายซ้ำ ค่าโง่คลองด่าน 9.6 พันล. ชี้เอกชนมีส่วนก่อความเสียหาย